นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์
ฝ่ายนโยบายการเงิน

เมื่อปีใหม่ใกล้มาถึง นอกจากการเฉลิมฉลองปีใหม่แล้วท่านผู้อ่านบางท่านอาจเริ่มต้นปีด้วยการตั้งปณิธานปีใหม่ หรือที่เรียกว่า New Year’s Resolution เพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายด้านสุขภาพทั้งการเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บางท่านอาจตั้งเป้าว่าจะซื้อรถใหม่ ซื้อบ้านใหม่ หรือตั้งหมายเป็นสิ่งที่ตนเองอยากทำ อาทิ การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ การเดินทางท่องเที่ยว บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้ จึงขอชวนท่านผู้อ่านตั้งเป้าหมายปีใหม่นี้ด้วยการเริ่มต้นออมเงินค่ะ

ขอเริ่มต้นด้วยสถานการณ์การออมของคนไทยว่าเป็นอย่างไร ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ณ ปี 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าจากจำนวนครัวเรือนไทยกว่า 22 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่มีการออมร้อยละ 72. 2 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปี 2560 ที่มีเพียงร้อยละ 71.6 สอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ชี้ว่าคนไทยสามารถเข้าถึงบริการเงินฝากของสถาบันการเงินได้เป็นเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วและสัดส่วนของครัวเรือนไทยที่มีบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ แม้สัดส่วนของครัวเรือนที่มีการเก็บออมเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณาสัดส่วนการออมต่อรายได้ของครัวเรือนไทยนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นตามโดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 22 ในปี 2560 และปี 2562ซึ่งอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาค่าครองชีพสูง หรืออาชีพที่ยังไม่มั่นคงพอที่จะวางแผนการออม และภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการออมของครัวเรือน

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่ากังวลคือ ผลการสำรวจด้านการวางแผนทางการเงินหลายชิ้นในไทยชี้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Gen-Y ไทยมีการวางแผนทางการเงินในระดับต่ำโดยเฉพาะกลุ่ม first jobber จากข้อมูลงานวิจัยของธนาคารทหารไทยร่วมกับไวท์ไซท์พบว่า คนกลุ่ม Gen-Y จำนวนกว่าครึ่งมีหนี้และมีภาระหนี้เฉลี่ยสูงถึง 4.2 แสนบาทต่อคน รวมทั้งมีทัศนคติที่ให้ความสำคัญต่อการออมน้อยกว่าคนกลุ่ม Gen-X และกลุ่มเบบี้บูม ซึ่งทัศนคตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วที่คนรุ่นใหม่รู้สึกถึงประโยชน์ของการออมลดลง โดยคนกลุ่มนี้มีทัศนคติที่ก่อให้เกิดการก่อหนี้ง่ายทั้งที่อาจไม่จำเป็นจากการบริโภคนิยม การตัดสินใจซื้อแบบไม่วางแผนล่วงหน้าและความสุขที่ซื้อด้วยประสบการณ์ รวมถึงหลายคนยังมีความเข้าใจผิดที่ว่าเรื่องการเกษียณเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องของคนอายุมาก ทั้งที่แท้จริงแล้วการวางแผนเกษียณต้องอาศัยการวางแผนในระยะยาวโดยเริ่มต้นตั้งแต่วัยทำงาน นอกจากคนกลุ่ม Gen-Y แล้ว ประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเกษียณ สวนทางกับแนวโน้มผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากครัวเรือนกว่าร้อยละ 90 ที่คิดว่าเมื่อต้องหยุดทำงานแล้วสามารถนำเงินออมมาใช้ดำรงชีพได้น้อยกว่า 1 ปี

แล้วจะเริ่มการออมอย่างไร? ปัจจุบันภาครัฐได้ส่งเสริมการออม 2 รูปแบบคือ การออมภาคบังคับ ซึ่งประกอบด้วยกองทุนประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และการออมภาคสมัครใจที่จูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (retirement mutual fund: RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (super savingsfund: SSF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษียณซึ่งหลายท่านอาจมองเป็นเรื่องไกลตัวและอาจไม่ได้สนใจมากนัก ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของการกระตุ้นการออมอยู่ที่การสู้กับทัศนคติที่เป็นลบต่อการออม การสร้างแรงจูงใจให้คนตระหนักและเริ่มออมเงินโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต สอดคล้องกับงานศึกษาของ ธปท. ที่ชี้ว่า การออมน้อย เป็นหนี้สูง และเป็นหนี้นานมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากถ้าออมไว้ไม่เพียงพอก็จะทำให้ครัวเรือนต้องกู้เต็มมูลค่า (เป็นหนี้สูง) เมื่อมีหนี้สูงก็จำเป็นต้องยืดระยะเวลาผ่อนชำระให้นานขึ้น (เป็นหนี้นาน) เพื่อไม่ให้ภาระผ่อนต่อเดือนสูงเกินไป ดังนั้น เพื่อให้การออมเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ทุกท่านอาจเริ่มต้นด้วยการออมเพื่อที่จะไม่ต้องกู้เต็มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นการออมเพื่อซื้อรถยนต์ บ้าน หรือเริ่มต้นออมเพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉิน

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าทุกท่านจะทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จหรือไม่ ผู้เขียนหวังว่าอย่างน้อยทุกท่านได้เริ่มออมแล้วในปีนี้ค่ะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย