​นายณัฐพงศ์ รุจิรวนิช
ฝ่ายตลาดการเงิน

หากพูดถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หลายท่านคงคุ้นเคยกับการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือที่เรียกว่ามักเรียกกันติดปากว่า “การจองฟอร์เวิร์ด (Forward)” แต่จริงๆ แล้วยังมีทางเลือกอื่นที่ช่วยบริหารความผันผวนจากค่าเงินได้ ได้แก่ 1) การใช้บัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD) และ 2) การรับจ่ายด้วยสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยหากพิจารณาโครงสร้างการชาระเงินของการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้ จะพบว่าการใช้บัญชี FCD มีสัดส่วนถึงร้อยละ 36 ส่วนการใช้เงินบาทก็มีสัดส่วนราวร้อยละ 11

บัญชี FCD เป็นเหมือนกับการเปิดบัญชีโดยทั่วไป เพียงแต่เงินฝากจะอยู่ในรูปของสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งบางประเภทบัญชีก็จะได้รับดอกเบี้ยด้วย ปัจจุบัน ธปท. ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเปิดบัญชี FCD กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเพื่อบริหารเงินตราต่างประเทศ เช่น เตรียมไว้ชำระภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า จ่ายค่าบริการ หรือจ่ายคืนหนี้ที่กู้ยืมมาจากต่างประเทศ ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยบัญชี FCD แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) บัญชีที่มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ ซึ่ง FCD ประเภทนี้เจ้าของบัญชีสามารถฝากเงินที่เป็นรายรับจากต่างประเทศได้ไม่จำกัดจานวน ประโยชน์ของการใช้บัญชีนี้ คือ ผู้ส่งออกที่มีภาระต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศในอนาคต ไม่จำเป็นต้องขายเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์ เพื่อแลกเป็นบาทก่อน แล้วค่อยมาซื้อดอลลาร์กลับออกไปจ่ายอีกรอบ เพียงแต่ฝากเงินดอลลาร์ที่ได้มาไว้ในบัญชี FCD นี้แล้วค่อยถอนออกไปเมื่อต้องใช้ ก็เท่ากับช่วยให้ไม่ต้องเสียส่วนต่างหรือ spread จากธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศหลายรอบ 2) บัญชีที่มีแหล่งเงินได้ในประเทศแบบมีภาระ เป็นบัญชีที่อนุญาตให้เจ้าของบัญชีสามารถซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อนำไปฝากได้ตามจำนวนภาระผูกพันในอนาคต อย่างไรก็ดี ธนาคารอาจขอเรียกดูหลักฐานว่ามีภาระที่ต้องจ่ายในอนาคตเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งยอดสูงสุดที่จะซื้อฝากได้ก็จะขึ้นอยู่กับภาระที่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศนั่นเอง และ 3) บัญชีที่มีแหล่งเงินได้ในประเทศแบบไม่มีภาระ ซึ่งเป็นบัญชี FCD ที่มีความคล่องตัวสูง เจ้าของบัญชีสามารถซื้อฝากโดยไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานของภาระผูกพันใดๆ แต่บัญชีประเภทนี้จะจำกัดยอดคงค้างไว้ไม่เกิน 5 ล้านเหรียญ (นับรวมทุก ธพ.) เช่น หากอยากจะเตรียมซื้อเงินเก็บไว้เผื่อส่งให้บุตรหลานไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ก็สามารถซื้อฝากเก็บไว้ได้ก่อนเลย โดยไม่จำเป็นต้องแสดงหนังสือตอบรับจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เป็นต้น แต่ก็จะต้องไม่เกิน 5 ล้านเหรียญ

จะเห็นได้ว่า การใช้บัญชี FCD มีความสะดวกและน่าจะตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการที่ยังไม่ต้องรีบแลกเงินทันที หรือผู้ประกอบการที่มีทั้งรายได้และภาระที่ต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศทั้งสองด้าน อย่างไรก็ดี การใช้บัญชี FCD อาจมีต้นทุนเป็นค่าธรรมเนียมการฝากหรือถอน (Commission in Lieu) อยู่บ้าง รวมทั้งค่าธรรมเนียมอื่นๆ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร


ส่วนการใช้สกุลเงินบาทหรือเงินสกุลท้องถิ่น (Local Currencies) เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ก็เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินสกุลหลัก ไม่ว่าจะเป็น ดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร และเยนได้ เพราะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินภูมิภาคส่วนใหญ่มักจะไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น ความผันผวนโดยรวมจึงต่ำกว่า ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการที่ทำการค้ากับตลาดเอเชีย เช่น การค้าระหว่างไทย-จีน หรือการค้าภายในกลุ่มอาเซียน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยก็อาจจะขอกำหนดราคาและรับชำระเป็นเงินบาทได้เลย ซึ่งก็ช่วยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี การจะขอให้คู่ค้าชำระหรือรับชำระเป็นบาทได้หรือไม่นั้น ก็คงขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของคู่ค้าทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า การใช้เงินบาทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของสกุลเงินที่ได้รับจากการส่งออก หรือร้อยละ 8 ของสกุลเงินที่ต้องจ่ายสำหรับการนำเข้าสินค้า ทั้งนี้ ธปท. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการใช้เงินสกุลเงินท้องถิ่น เช่น การทำข้อตกลงกับธนาคารกลางในภูมิภาค เพื่อสร้างกลไกดูแลสภาพคล่องของเงินสกุลท้องถิ่นให้มีเพียงพอ พร้อมทั้งผ่อนกฎเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการใช้เงินบาทและเงินสกุลท้องถิ่นได้สะดวกมากขึ้น

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย