​FDI ส่งสัญญาณ...ถึงเวลาที่ไทยต้องปรับตัว

นางสาวรุจา อดิศรกาญจน์

ในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) มีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย มีส่วนผลักดันให้ไทยสามารถก้าวข้ามและเปลี่ยนผ่านจากการผลิตยุคเกษตรสู่ยุคอุตสาหกรรม และจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นการผลิตเพื่อส่งออก ส่งผลให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และมีส่วนช่วยให้ GDP เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา

ณ วันนี้ ท่ามกลางข้อจำกัดภายในประเทศทั้งโครงสร้างการผลิตและการบริหารนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ จึงเกิดประเด็นคำถามสำคัญ คือ บทบาทของ FDI ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างไร และท้ายที่สุด นโยบายของไทยควรดำเนินไปในทิศทางใดเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ประเด็นแรก จะพบว่า ในระยะหลังบทบาทของ FDI มีน้อยลงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ในเชิงปริมาณพบว่า สัดส่วน FDI ต่อทั้ง GDP และการลงทุนภาคเอกชนโน้มลดลงชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551 เนื่องจาก (1) นักลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนประเทศอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากอุทกภัยปี 2554 และ (2) ข้อจำกัดด้านแรงงานที่ค่าแรงปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับโครงสร้างประชากรไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงทำให้ข้อได้เปรียบด้านแรงงานที่เคยมีจำนวนมากและราคาถูกทยอยหมดไป นอกจากนี้ คุณภาพของแรงงานยังคงถูกละเลยและไม่สามารถพัฒนาคุณภาพเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้ลักษณะของธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเปลี่ยนจากธุรกิจขนาดใหญ่มาเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากญี่ปุ่นและการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่วนใหญ่เป็นการประกอบชิ้นส่วน

ในเชิงคุณภาพพบว่าเม็ดเงินลงทุนที่เข้ามามีแนวโน้มที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจน้อยลง เพราะ (1) การลงทุนในธุรกิจใหม่ลดลง สังเกตจาก FDI ที่เข้ามาในรูปส่วนทุนมีสัดส่วนน้อยลง และการลงทุนในส่วนทุนช่วงหลังเปลี่ยนเป็นการซื้อกิจการที่มีอยู่เดิมมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคสถาบันการเงินและประกันภัย (2) การถ่ายทอดความรู้ไม่ได้มีมากนัก สะท้อนจากการถ่ายทอดความรู้ระหว่างบริษัทต่างชาติและมหาวิทยาลัยของไทยที่อยู่ในระดับต่ำและไม่ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นขึ้นอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย และ (3) ในระยะหลังบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

ประเด็นที่สอง บทบาทของ FDI ที่น้อยลงสามารถสะท้อนถึงความสามารถในการดึงดูด FDI ของไทยที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากสัดส่วน FDI ที่มาลงทุนในประเทศไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลง ต่างจากอินโดนีเซียที่มีส่วนแบ่งในโลกสูงขึ้นชัดเจน นอกจากนี้ หากไทยยังปล่อยให้ข้อจำกัดต่างๆ ทั้งโครงสร้างการผลิต การบริหารนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองเป็นดังเช่นที่ผ่านมา ในไม่ช้าไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

การพัฒนาของอินโดนีเซีย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจน โดยผลการสำรวจของ World Economic Forum (WEF) ล่าสุดในปี 2556 พบว่าความสามารถในการแข่งขันของอินโดนีเซียบางด้านแซงหน้าไทยไปแล้ว ซึ่งได้แก่ ด้านนวัตกรรม ความพร้อมทางเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค ส่วนด้านที่เร่งขึ้นมาใกล้เคียงกับไทย คือ โครงสร้างพื้นฐานที่เร่งแบบก้าวกระโดด และการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ขณะที่ด้านที่ไทยด้อยลงไปจนเท่ากับคู่แข่ง ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางด้านสถาบันซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

นำมาสู่ประเด็นสุดท้ายว่าไทยควรทำอย่างไรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หากย้อนประวัติศาสตร์จะพบว่าในยุคต้นปี 2500 ไทยเคยมีรายได้ต่อหัวและนโยบายอุตสาหกรรมไม่ต่างจากสิงคโปร์และเกาหลีใต้มากนัก แต่หลังจากผ่านไป 5 ทศวรรษ สิงคโปร์และเกาหลีใต้กลับมีรายได้ต่อหัวที่สูงกว่าไทยถึง10 และ 4 เท่า ตามลำดับ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ (1) นโยบายของไทยใช้เวลานานในการเปลี่ยนผ่านจากยุคการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้ามาสู่การผลิตเพื่อการส่งออก (2) ภาคอุตสาหกรรมของไทยใช้เวลานานในการปรับตัวจากการใช้แรงงานเข้มข้นเป็นการใช้ทุนเข้มข้น และ (3) ไทยขาดการวางแผนและการสานต่อนโยบายอุตสาหกรรมที่ชัดเจน เหมาะสม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า นโยบายทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เน้นไปที่การประนีประนอมและการสานผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆ มากกว่าที่จะปล่อยให้ธุรกิจปรับตัวไปตามกลไกตลาดและสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่แท้จริง

ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้โดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น การเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจพร้อมไปกับการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน จึงเป็นความท้าทายที่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือและการเร่งลงมือปฏิบัติของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้ข้อจำกัดทั้งเชิงโครงสร้างและสถาบันของประเทศบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย ก่อนจะสายเกินแก้ไปกว่านี้


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย