​ทำความรู้จักกับ “แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ” (ตอนที่ 1)

นางสาวนันทพร พงศ์พัฒนานนท์

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินข่าวที่แบงก์ชาติประกาศผ่อนคลายเกณฑ์เงินทุนที่ให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศหลายประเภท ซึ่งความจริงการผ่อนคลายนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ที่แบงก์ชาติได้ริเริ่มพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมาหลายคนคงเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมแบงก์ชาติต้องจัดทำแผน เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดต่อผู้อ่าน วันนี้จึงขอมาเล่ารายละเอียดให้ได้รับทราบกัน

ก่อนอื่น ขอย้อนไปดูยุคแรกเริ่มของการผ่อนคลายเกณฑ์เงินทุนของไทยก่อนว่ามีที่มาอย่างไร ในด้านเงินทุนขาเข้าจากต่างชาตินั้น ไทยค่อนข้างเปิดเสรีมานานแล้ว นับแต่ปี 2533 ที่ไทยยกเลิกการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการค้าตามพันธะข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และปี 2536 ที่ไทยเปิดเสรีทางการเงินและตั้งกิจการวิเทศธนกิจ (BIBFs) เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนในประเทศขณะที่เงินทุนขาออกของคนไทยก็ค่อยๆ เริ่มพัฒนามาเป็นลำดับ โดยคนไทยเริ่มออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ในรูปการตั้งกิจการตั้งแต่ปี 2534 และได้เริ่มออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ในปี 2545 โดยล่าสุดในปี 2554 ไทยกลายเป็นผู้ลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมากกว่าที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรงในไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากที่แบงก์ชาติอนุญาตให้บริษัทไทยสามารถออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้เสรีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 แต่แม้คนไทยจะทยอยออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกณฑ์เงินทุนด้านขาออกยังติดข้อจำกัดอยู่อีกหลายประการ

จากระดับการเปิดเสรีเงินทุนด้านขาเข้าที่เปิดเสรีเกือบหมดแล้ว แต่ด้านขาออกที่ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างนั้น ทำให้ไทยพบกับปัญหาหลัก 3 อย่าง คือ การลงทุนของคนไทยกระจุกตัวในประเทศมากเกินไป ความไม่สมดุลของเงินทุนขาเข้ากับขาออก และตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดเงินตราต่างประเทศยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร

แบงก์ชาติจึงเห็นว่าการเปิดเสรีเงินทุนด้านขาออกให้มากขึ้นจะเป็นทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการเปิดเสรีเงินทุนของไทยจะเป็นแบบบูรณาการและเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจในทิศทางการเปิดเสรีที่ตรงกัน และเอื้อให้เกิดการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

สำหรับเป้าหมายหลักของการเปิดเสรีภายใต้แผนมี 3 ข้อ คือ

ข้อที่ 1 สนับสนุนการกระจายการลงทุนของคนไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยโดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพในการลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน รวมทั้งแสวงหาตลาด ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานได้มากขึ้น

ข้อที่ 2 สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อให้เกิดความสมดุลของเงินทุน ซึ่งส่วนหนึ่งจะช่วยให้เงินบาทเคลื่อนไหวได้ทั้งสองทิศทาง (Two-way) และป้องกันการเก็งกำไรในทิศทางค่าเงินได้ระดับหนึ่ง

ข้อที่ 3 กระตุ้นการพัฒนาตลาดการเงินของไทยทั้งในด้านความลึกและความกว้าง ซึ่งรวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้เล่นและปริมาณการทำธุรกรรมในตลาด ความหลากหลายของเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงของนักลงทุน ความง่ายในการเข้าถึงตลาดของนักลงทุนรายย่อย (SMEs) รวมทั้งการลดต้นทุนในการทำธุรกรรม

หากการพัฒนาแผนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คาดว่าจะช่วยให้ไทยสามารถกระจายความเสี่ยงรวมทั้งเพิ่มการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั้งด้านการผลิต การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้กระแสการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน (AEC) ซึ่งจะช่วยสร้างและรักษาความมั่งคั่ง (Wealth) และการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว เช่น ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 บริษัทไทยที่ออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศในช่วงก่อนหน้าได้นำเงินกลับมาช่วยพยุงฐานะการเงินของบริษัทแม่ในไทย เหมือนกับที่เกิดขึ้นล่าสุดในญี่ปุ่นซึ่งประสบภัยพิบัติสึนามิ บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในต่างประเทศได้ส่งเงินกลับมาช่วยเหลือบริษัทแม่ในญี่ปุ่นเช่นกัน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้อ่านน่าจะได้เห็นภาพรวมของทั้งที่มา หลักการ รวมทั้งประโยชน์ของการเปิดเสรีเงินทุนดังกล่าวแล้ว สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของเกณฑ์ที่แบงก์ชาติจะผ่อนคลาย ซึ่งบางส่วนได้เริ่มมีผลบังคับใช้ไปบ้างแล้วนั้น จะขอมาเล่าให้ฟังต่อในตอนต่อไปค่ะ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย