​การทำ Stress Test เพื่อการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

นางสาวทิพวรรณ ทนนกลิ่น นางธัญลักษณ์ ปราชญ์สุชนัย ฝ่ายประเมินความเสี่ยงและแบบจำลองสถาบันการเงิน



วิกฤติการณ์การเงินโลกเมื่อปี 2551 (Global Financial Crisis: GFC) ได้สร้างความตื่นตัวในด้านการติดตามความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินในหมู่ธนาคารกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินในหลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือการใช้เครื่องมือเพื่อวิเคราะห์และประเมินหาจุดเปราะบางในภาคสถาบันการเงินจากสถานการณ์วิกฤติ หรือการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) ซึ่งได้ถูกริเริ่มใช้โดยหน่วยงานกำกับดูแลในระดับสากล ได้แก่ IMF และ World Bank ผ่านโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP)
ด้วยเหตุนี้ การทดสอบภาวะวิกฤติ หรือ Stress Test จึงได้รับความสนใจ และได้รับการจัดทำขึ้นสม่ำเสมอในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย โดยนอกจากการทำ Stress Test จะมีจุดประสงค์ให้สถาบันการเงินได้หมั่นตรวจเช็กสุขภาพด้านการเงินและฐานะการเงินให้แข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว ประเทศต่างๆ ยังใช้การทำ Stress Test ในการสร้างความเชื่อมั่นว่าระบบสถาบันการเงินจะยังมีเงินกองทุนและสภาพคล่องมากเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในภาวะวิกฤติได้ดีอีกด้วย


1. การจัดทำ Stress Test ของสถาบันการเงินไทย

ธปท. ได้เริ่มจัดทำ Stress Test อย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2550 ภายใต้โครงการ FSAP โดยมีการพัฒนาแบบจำลองเพื่อให้สามารถประเมินผลกระทบของตัวแปรด้านเศรษฐกิจมหภาคที่จะมีต่อสถาบันการเงินในฐานะที่เป็นตัวกลางในการให้บริการทางการเงินแก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ อาทิ การประเมินผลกระทบจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2550 การประเมินผลกระทบต่อสภาพคล่องของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในปี 2552 การประเมินผลกระทบต่อสภาพคล่องของสถาบันการเงินจากการลดวงเงินคุ้มครองของสถาบันประกันเงินฝากในปี 2554 การประเมินผลกระทบต่อกลุ่มลูกหนี้ SMEs จากภาวะน้ำท่วมในปี 2554 และการประเมินผลกระทบจาก QE Tapering ในปี 2556

การจัดทำ Stress Test จะประเมินผลกระทบต่อความเสี่ยงหลัก 3 ด้านของสถาบันการเงิน คือ (1) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) (2) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk) และ (3) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) โดยผลกระทบด้านเครดิตจะขึ้นกับคุณภาพของลูกหนี้เป็นหลัก ส่วนผลกระทบจากความเสี่ยงด้านตลาดและสภาพคล่องจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์และการบริหารสภาพคล่องเป็นสำคัญ และภายหลังจากที่โครงการ FSAP ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ธปท. ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลความเสี่ยงของระบบสถาบันการเงินผ่านเครื่องมือ Stress Test อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำการทดสอบเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินงานของสถาบันการเงินอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบัน การจัดทำ Stress Test ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน จะมีอยู่ 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

1) Supervisory Stress Test หรือ Bottom-up Stress test คือการทดสอบภาวะวิกฤติที่จัดทำโดยธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) โดยใช้สถานการณ์จำลองที่ ธปท. กำหนด

2) Internal Capital Adequacy Assessment Process (ICAAP) คือการทดสอบภาวะวิกฤติที่จัดทำโดย ธพ. โดยใช้สถานการณ์จำลองที่ ธพ. กำหนดขึ้นเอง เพื่อให้สถาบันการเงินประเมินความแข็งแกร่งและความพร้อมในการรองรับสถานการณ์จำลองต่างๆ ของตนเองด้วย โดยการจัดทำ Stress Test

ทั้ง 2 รูปแบบนี้ ธปท. ได้มีการหารือกับ ธพ. ถึงกระบวนการจัดทำแบบจำลองและความสมเหตุสมผลการนำสถานการณ์จำลองไปประเมินผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในแต่ละประเภทสินเชื่อ เพื่อให้ ธปท. สามารถทำหน้าที่กำกับดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินได้ทั้งในลักษณะมองไปข้างหน้าและในเชิงป้องกัน (forward-looking and preventive supervision) และ

3) Top-down Stress Test คือ การทดสอบภาวะวิกฤติที่จัดทำจากมุมมองแบบมหภาคโดยใช้แบบจำลองที่ ธปท. พัฒนาขึ้นเองและใช้สถานการณ์จำลองเดียวกันกับ Supervisory Stress Test ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าผลการประเมินความมั่นคงของ ธพ. ทั้งจากทางมุมมองมหภาคและจุลภาคมีความน่าเชื่อถือและสอดคล้องกัน นอกจากนี้ ธปท. ก็ยังสามารถจัดทำ Stress Test ในสถานการณ์จำลองอื่นๆ ที่มีความสำคัญเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งผลที่ได้จากการทำ Stress Test เหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เช่น นโยบายเรื่องการเสริมสร้างเงินกองทุน ได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย


2. ตัวชี้วัดความมั่นคงของสถาบันการเงิน

นการประเมินสถานะของ ธพ. ซึ่งต้องเผชิญกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ อันเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจว่ายังมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงใดนั้น อาจจะพิจารณาได้จากดัชนีหรือตัวชี้วัดต่างๆ ซึ่งตัวชี้วัดสำคัญที่ใช้กันเป็นหลักนั้นมีดังเช่น

1) อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio) คือ สัดส่วนเงินกองทุนของธนาคารที่เตรียมไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการนำเงินรับฝากจากประชาชนไปปล่อยสินเชื่อหรือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง

2) อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ (Liquidity Coverage Ratio) คือ ปริมาณสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องทั้งสิ้นต่อประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิภายในช่วง 30 วันที่มีวิกฤติการณ์ โดยอัตราส่วนนี้จะเป็นตัวสะท้อนว่า ธพ. มีการดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในปริมาณที่มากเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ที่มีความต้องการด้านสภาพคล่องอย่างรุนแรงในช่วงระยะเวลา 1 เดือนไว้มากน้อยเพียงใด โดยเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับ LCR ในปัจจุบันนั้นกำหนดไว้ที่ร้อยละ 100

dividend_ต่างประเทศ

ในปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 ระบบ ธพ. มีเงินกองทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.0 ล้านล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ของทั้งระบบอยู่ที่ร้อยละ 19.8 และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 184.9 สะท้อนให้เห็นว่า ธพ. ทั้งระบบมีความมั่นคงแข็งแรงพร้อมที่จะรองรับคุณภาพของสินเชื่อที่อาจจะด้อยลงได้ในอนาคต รวมทั้ง มีสภาพคล่องมากเพียงพอในการรองรับกระแสเงินสดที่อาจจะไหลออกในภาวะวิกฤติได้


3. การยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแง่ของการยกระดับการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินภายหลังวิกฤติการณ์การเงินโลก คือ การปรับปรุงจุดอ่อนของมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เดิมจะรับรู้ความเสียหายทางการเงินก็ต่อเมื่อความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว (Incurred Loss) ซึ่งแนวทางนี้จะขาดการมองไปข้างหน้า (forward-looking) ถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหรือสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ จึงได้มีความตั้งใจที่จะแก้ไขข้อบกพร่องที่สำคัญของมาตรฐานเดิมดังกล่าว ซึ่งในด้านของผู้กำกับดูแลเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินในประเทศต่างๆ เองก็ได้เผชิญกับปัญหาจากข้อบกพร่องนี้ในช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ด้วยเช่นกัน โดยการกันเงินสำรองของ ธพ. เพื่อรองรับความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อที่เกิดขึ้นนั้นมีความล่าช้าและเป็นจำนวนที่น้อยเกินไป

สำหรับการกันสำรองแบบมาตรฐานเดิมนั้น การกันเงินสำรองจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อได้เกิดข้อบ่งชี้ถึงการด้อยค่าของสินเชื่อ เช่น เมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งเป็นการกันเงินสำรองหลังจากที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้ แม้ว่าในทางปฏิบัติ ธปท. จะขอให้ ธพ. กันเงินสำรองโดยคำนึงถึงความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับลูกหนี้ที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าอาจเสื่อมคุณภาพลง (Possible Impaired Loan: PIL) ซึ่งถือว่าเป็นการคำนึงถึงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง โดยสินเชื่อจะต้องกันสำรองในอัตราที่ต่างกันไป

ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้นำมาตรฐานการบัญชี TFRS9 ซึ่งเป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่มากำหนดใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งตามมาตรฐานใหม่นี้ การกันเงินสำรองจะประเมินโดยตรงจากความเสียหายด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Expected Credit Loss: ECL) ตลอดอายุของสินเชื่อ และในการประเมินนั้นจะกำหนดให้พิจารณาข้อมูลทั้งจากในอดีต ปัจจุบัน และเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยเงินสำรองที่กันไว้นั้นจะแตกต่างกันไปตามสถานะหรือชั้น (Stage) คุณภาพของลูกหนี้

สำหรับลูกหนี้ Stage 1 (กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากเมื่อเริ่มให้สินเชื่อ) ให้กันเงินสำรองเพื่อรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 1 ปีข้างหน้า (1-year ECL) ในขณะที่ลูกหนี้ Stage 2 (กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือ Underperforming Loan) และ Stage 3 (กลุ่มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ Non-performing Loan: NPL) ให้กันเงินสำรองเพื่อรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไปจนตลอดอายุของสินเชื่อ (Lifetime ECL) ทำให้ ธพ. มีการกันเงินสำรองล่วงหน้าได้เร็วขึ้นและเป็นปริมาณที่เหมาะสมตามสถานะของลูกหนี้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปจะทำให้งบการเงินของ ธพ. สะท้อนถึงฐานะที่แท้จริงของ ธพ. ได้อย่างทันการณ์ด้วย


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>