นโยบายการจ่ายเงินปันผลในต่างประเทศ
ในปัจจุบัน ประเทศที่มีนโยบายห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ได้แก่ อังกฤษ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่มีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลบางส่วนให้ผู้ถือหุ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ โดยประเทศเหล่านี้มักกำหนดอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ แต่ยังให้ธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจได้เองว่าจะจ่ายเงินปันผลจำนวนเท่าใด นอกจากนี้ มีบางประเทศที่ไม่กำหนดนโยบายจำกัดการจ่ายเงินปันผล ได้แก่ มาเลเซีย และเกาหลีใต้
ดังนั้น ในการกำหนดทางเลือกของนโยบาย ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกสามด้าน และการตัดสินใจบนทางเลือกทั้งสามด้านนี้ จะต้องพิจารณาสามเรื่องสำคัญ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน ดังนี้
เรื่องที่หนึ่ง เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและความมั่นคงของสถาบันการเงิน เนื่องจากระบบสถาบันการเงินมีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมาก โดยเป็นภาคส่วนที่รวบรวมเงินออมจากครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ไปจัดสรรให้ผู้กู้ที่ต้องการในภาคส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจ และในปัจจุบันระบบสถาบันการเงินยังเป็นกลไกสำคัญที่ภาครัฐใช้ช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ โดยเป็นเสมือนระบบเส้นเลือดที่ลำเลียงสภาพคล่องจากภาครัฐไปหล่อเลี้ยงผู้ที่เดือดร้อนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ดังนั้น การดูแลให้ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพและมีความมั่นคงจึงสำคัญมากท่ามกลางภาวะวิกฤตนี้
เราสามารถประเมินเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและความมั่นคงของสถาบันการเงินได้จากการพิจารณาผลการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการทดสอบว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัวลง จะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใดต่อสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะมีเงินกองทุนและสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่ ซึ่งหากผลการประเมิน stress test ชี้ว่า ระบบสถาบันการเงินมีเงินกองทุนและสภาพคล่องมากพอที่จะรองรับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ก็ถือว่า ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพและสถาบันการเงินมีความมั่นคง
เรื่องที่สอง การพิจารณาถึงผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้ฝากเงิน ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้น รวมถึงผู้ลงทุนด้วย ตลอดจนผู้ใช้งบทางการเงินต่างๆ เช่น นักวิเคราะห์ สถาบันจัดอันดับเครดิต (credit rating agency) เนื่องจากการกำหนดแนวนโยบายเกี่ยวกับการให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นนั้น สามารถส่งผลเสียต่อผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ได้ เช่น หากห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเลย ผู้ลงทุนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินปันผลเป็นหลักก็จะเดือดร้อนทันที
เรื่องที่สาม ความสอดคล้องระหว่างนโยบายการจ่ายเงินปันผลของไทยและต่างประเทศ เนื่องจากหากประเทศไทยถูกมองว่า ดำเนินนโยบายที่เข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆ ก็อาจทำให้เกิดข้อสงสัยถึงเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและความมั่นคงของสถาบันการเงินไทยได้ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบสถาบันการเงินโดยรวม จนอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ที่ผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินจากธนาคาร (bank run) ได้
การจ่ายเงินปันผลกับความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน
การกำหนดแนวทางเรื่องการจ่ายเงินปันผลอาจไม่ใช่ข้อบ่งชี้เพียงอย่างเดียวที่จะบอกว่าสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่งหรือไม่ ยังคงมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ต้องพิจารณาประกอบกันด้วย เช่น อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2563) ยังคงอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 19.8) การมีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบสถาบันการเงินไทย ที่ปัจจุบันยังเหลืออยู่สูงเช่นกัน (LCR ของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 184.9) รวมถึงนโยบายหรือประวัติการจ่ายเงินปันผลของแต่ละธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีความแตกต่างกัน เป็นต้น
"การตัดสินใจในเรื่องนโยบายการจ่ายเงินปันผลต้องตั้งอยู่ในจุดที่มีความสมดุลพอดี ไม่เอียงไปในด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป"
สุดท้ายนี้ ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของ COVID-19 เป็นระลอกสองอีกหรือไม่ หรือจะเกิดเมื่อใด ประเทศไทยจึงต้องไม่ประมาท การ์ดอย่าตก โดยต้องไม่ดำเนินนโยบายที่ผ่อนปรนมากเกินไป นั่นคือการให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้เหมือนในภาวะปกติ จนไม่มีกันชน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ดำเนินนโยบายที่เข้มงวดจนเกินไป นั่นคือการห้ามธนาคารพาณิชย์ไม่ให้จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเลย เนื่องจากจะเกิดผลกระทบเชิงลบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและความมั่นคงของสถาบันการเงินได้ จนอาจทำให้เกิดปัญหาในภาคการเงิน ซ้ำเติมภาคเศรษฐกิจที่กำลังแย่อยู่แล้ว ดังนั้น การตัดสินใจในเรื่องนโยบายการจ่ายเงินปันผลจึงต้องตั้งอยู่ในจุดที่มีความสมดุลพอดีไม่เอียงไปในด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
>>