คณะกรรมการนโยบายการเงินประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เป็นประโยคแรกที่ ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวหลังแถลงมติการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นเอกฉันท์ในการประชุมวันที่ 10 พ.ย. การพ้นจุดต่ำสุดเป็นสัญญาณบวกที่ทุกภาคส่วนเฝ้ารอมาเนิ่นนาน ในวันนี้จึงขอแลกเปลี่ยนมุมมองกับทุกท่านถึงที่มาและที่ไปของเศรษฐกิจไทยบนก้าวแรกของการฟื้นตัว
ก่อนอื่นขอทบทวนถึงปัจจัยหลักที่ปลดล็อกเศรษฐกิจไทย คือ ความเข้มแข็งของภาคสาธารณสุขและการปรับตัวอยู่ร่วมกับโควิดของคนไทย ทำให้เครื่องชี้ทางสาธารณสุขต่าง ๆ เช่น ยอดการติดเชื้อใหม่ จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก และอัตราการครองเตียง อยู่ในทิศทางน่าพอใจหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว สอดคล้องกับการปรับดีขึ้นของเครื่องชี้อุปสงค์ในประเทศด้านการบริโภคและการลงทุน ขณะที่ จำนวนแรงงานคืนถิ่นปรับลดลงในเดือน ก.ย. - ต.ค. ตามตัวเลขการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่เมืองและเขตอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เม็ดเงินโอนจากภาครัฐเองก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเดินหน้าได้อย่างถูกที่ถูกเวลาจะทำให้รายได้ในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น แต่บาดแผลจากโควิดคงฟื้นตัวไม่ได้ในเร็ววัน ความเปราะบางทางการเงินยังมีอยู่จากยอดหนี้ที่สะสมมาในช่วงก่อนหน้า ธุรกิจจำนวนหนึ่งได้ล้มหายตายจากไปและต้องใช้เวลาในการกลับมาเปิดใหม่ อุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอลงบ้างหลังเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเร่งฟื้นไปมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ เงินเยียวยาจากภาครัฐเองก็จะผกผันตามความรุนแรงของสถานการณ์แพร่ระบาดที่ลดลง โดยมีกระแสเงินเฟ้อโลกจากราคาพลังงานเป็นปัจจัยที่กำลังจะเป็นตัวแปรสำคัญ
การกลับมาของเงินเฟ้อโลก หรือ Global Reflation ในรอบนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลักจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้สำหรับการค้าขายระหว่างประเทศในช่วงก่อนหน้า และการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติอย่างรวดเร็วตามความต้องการส่วนเกินของการใช้พลังงานในยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ราคาพลังงานจะกระทบต่อต้นทุนในการผลิตและการขนส่ง และจะทอนให้กำไรหรือ margin ของผู้ประกอบการบางลงได้ แม้การส่งผ่านต้นทุนมายังราคาสินค้าอาจทำให้ยอดขายลดลงเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการคงอั้นราคาไม่ได้นานหากต้นทุนยังสูงต่อเนื่อง จึงต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพราะเงินเฟ้อกระทบต้นทุนการดำรงชีวิตของผู้มีรายได้น้อยมากกว่ากลุ่มอื่น จึงซ้ำเติมการที่คนกลุ่มนี้ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวน้อยกว่ากลุ่มอื่นอยู่แล้วด้วย
เศรษฐกิจไทยที่กลับมานับหนึ่งในการฟื้นตัวเหมือนคนไข้ที่เริ่มลุกขึ้นหลังพักฟื้นมายาวนาน การดูแลต้องระวังไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน สามารถรองรับความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มากจากทั้งแรงส่งของเศรษฐกิจโลกและเงินโอนภาครัฐที่ชะลอลง พร้อม ๆ กับราคาสินค้าที่อาจเร่งสูงขึ้นหากต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่มาตรการต่าง ๆ จะต้องสอดประสานรับส่งเพื่อรักษาแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ต่อไปได้ บนความร่วมมือระหว่างมาตรการสาธารณสุขในการลดผลลบจากการระบาดและสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งคนไทยและชาวโลก มาตรการการคลังที่สลับบทบาทจากการเยียวยาทั่วไปเป็นการฟื้นฟูตรงจุดโดยมีกำลังสำรองจากการขยายเพดานหนี้สาธารณะ รวมถึงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องควบคู่กับมาตรการการเงินและสินเชื่อกระจายสภาพคล่องและแก้หนี้อย่างยั่งยืน
ผู้เขียน :
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย