นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านช่วงนี้เราคงต้องร่วมส่งกำลังใจ รวมถึงการบริจาคเงินและสิ่งของ ให้แก่ผู้ ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งปีนี้น้ำมามากจริงๆ ในต่างประเทศก็เช่นกันวิกฤตการณ์จากภัยธรรมชาติก็เกิดขึ้นในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็นประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชาและลาว

นอกเหนือจากวิกฤตการณ์จากภัยธรรมชาตินี้ ประเทศต่างๆ ก็กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงิน เราจะเห็นภาพข่าวการประท้วงที่เรียกว่า “Occupy Wall Street” หรือ “การยึดครองวอลล์สตรีท” ที่เกิดขึ้นในหลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาและในอีกหลายประเทศในแถบยุโรป วิกกฤตการณ์การเงินครั้งนี้อย่างในประเทศกรีซดูเหมือนจะเป็นผลจากปัญหาหนี้สาธารณะตามนโยบายรัฐสวัสดิการเมื่อรายได้ของประเทศไม่เพียงพอกับรายจ่ายก็ทำให้รัฐต้องลดรายจ่ายภาครัฐและปรับเพิ่มภาษี แต่เราคงต้องไม่ลืมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงมาจากวิกฤตการเงินของโลกครั้งล่าสุดที่ประเทศสหรัฐเมื่อปี 2551ที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการที่สถาบันการเงินมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะปัญหาสินเชื่อ อสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือที่เราเรียกว่าสินเชื่อ subprime

สินเชื่อ Subprime คืออะไร? เกิดจากอะไร ? จากการที่ประเทศสหรัฐพยายามดำรงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสภาพคล่องในระบบที่สูง สถาบันการเงินในสหรัฐก็นำมาปล่อยกู้ให้กับผู้กู้โดยไม่ได้พิจารณาตามหลักการให้สินเชื่อที่ดี ไม่ได้พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริง ก็เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งตามชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพด้อยลงมา แต่ก็ชดเชยโดยการคิดดอกเบี้ยแพงกว่าสินเชื่อทีมีคุณภาพดี โดยสินเชื่อกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็จะมีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแนวโน้มราคาของที่ดินในสหรัฐ ณ ขณะนั้นมีแต่แพงขึ้นๆ สถาบันการเงินก็แข่งกันให้สินเชื่อตามมูลค่าที่ดินที่สูงขึ้น และยังนำสินเชื่อเหล่านี้ไปหาสภาพคล่องเพิ่มเติม เช่นนำไปแปลงเป็นหลักทรัพย์ (Securitisation) โดยออกตราสารขายต่อให้นักลงทุน แต่เมื่อฟองสบู่แตกราคาที่ดินตกต่ำลงประกอบกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ลูกหนี้ Subprime ประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้เป็นหนี้เสีย ส่งผลเสียหายกลับมาที่สถาบันการเงิน และผู้ลงทุนที่ซื้อตราสารซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสถาบันการเงิน เมื่อประกอบกับเงินกองทุนที่สถาบันการเงินเหล่านี้มีอยู่ไม่เพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการทำธุรกรรม ก่อให้เกิดปัญหาสถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มละลาย ซึ่งลุกลามไปเป็นความล้มเหลวของภาคการเงินทั้งระบบ (Systemic failure)

จากวิกฤตการเงินดังกล่าว ทำให้ผู้กำกับดูแลภาคการเงินเห็นถึงความจำเป็นในการทบทวนแนวคิดการกำกับดูแลระบบการเงินในหลายด้าน โดยเฉพาะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G-20) ได้มีการระดมความคิดกันเพื่อพัฒนาปรับปรุงการกำกับดูแลระบบการเงินซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์ Basel III ซึ่งในส่วนของประเทศไทย แม้จะไม่ได้เป็นประเทศสมาชิกในกลุ่ม G-20 แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีบทบาทในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากการเป็นสมาชิกในคณะกรรมการของหน่วยงานกำหนดมาตรฐานสากลต่างๆ เช่น BCBS ซึ่ง BCBS เป็นชื่อย่อของ Basel Committee on Banking Supervision ซึ่งก็คือคณะกรรมการชุดหนึ่งที่มีสำนักงานอยู่ที่ The Bank for International Settlements (BIS) ในเมือง Basel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เป็นสากลเพื่อความมั่นคงและความเสมอภาคในการแข่งขันของสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วโลก โดยหนึ่งในมาตรฐานนั้นคือ เกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนที่เรียกว่า Basel Capital Accord หรือที่เรียกว่า Basel โดย BCBS ออกเกณฑ์ Basel I เมื่อปี 2531และปรับแก้ไขในชุดของ Basel II ในปี 2547และในปี 2553ก็ได้ออกแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์อีกครั้งซึ่งเรียกว่าBasel III

ในวันนี้เรามาตอบคำถาม Why? ก่อนว่าทำไมต้องมี Basel III? และในบทความหน้าจะมาตอบคำถาม What? นะคะว่า แล้ว Basel III คืออะไร?

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย