​ก้าวที่สำคัญของ CBAM อาวุธของอียูในการแก้ปัญหาโลกร้อน กับผลกระทบที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

แม้ว่ายุโรปจะกำลังตกอยู่ในวิกฤตพลังงานและปัญหาเงินเฟ้อจากสงครามรัสเซีย – ยูเครนที่ยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 8 และเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคในอนาคตอันใกล้ แต่อียูก็ยังคงเดินหน้าผลักดันนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะมาตรการภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ที่เข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาขั้นสุดท้ายก่อนบังคับใช้ ผู้อ่านน่าจะรู้จักกับ CBAM ของอียูกันมาบ้างแล้ว จากคอลัมน์แจงสี่เบี้ยวันที่ 15 ก.พ. 65 “ภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน จุดเปลี่ยนการค้าโลก ผลกระทบและความท้าทาย” ในครั้งนี้จึงขอมาอัพเดทความคืบหน้าของมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติม

Smoke exhaust gas emissions from cargo lagre ship ,Marine diesel engine exhaust gas from combustion.


ความคืบหน้าล่าสุดของมาตรการ CBAM ของอียู

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 รัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรการ CBAM ที่มีรายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิมหลายประการ คือ (1) เลื่อนระยะเวลาบังคับใช้มาตรการ CBAM ออกไปจากปี 2569 เป็น 2570 (2) ขยายประเภทของสินค้าเพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียง 5 ประเภท คือ เหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และกระแสไฟฟ้า โดยเพิ่มไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก เข้าไป (3) หลัง CBAM บังคับใช้แล้วระยะหนึ่ง อียูจะขยายประเภทของสินค้าให้ครอบคลุมสินค้าทุกชนิดในตลาด EU Emission Trading System (EU ETS)[1] ภายในปี 2573 สินค้าสำคัญที่จะถูกนำมารวมเพิ่มคือ แก้ว เซรามิค และกระดาษ (4) การคำนวณภาษี CBAM ให้นับรวมการปล่อยคาร์บอนทางอ้อมที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าที่นำมาใช้ในการผลิตด้วย (Scope 2 emission) จากเดิมที่นับเฉพาะการปล่อยคาร์บอนทางตรงจากการผลิตเท่านั้น (Scope 1 emission) และ (5) จัดตั้ง “คาร์บอนคลับ” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างคู่ค้าของ EU โดยคลับดังกล่าวอาจถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO) หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

ในปัจจุบัน ร่าง CBAM นี้อยู่ระหว่างการหารือในที่ประชุมไตรภาคีระหว่างรัฐสภายุโรป คณะมนตรียุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรป ก่อนจะถูกนำกลับมารับรองโดยรัฐสภายุโรปและประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้


แหล่งที่มาของไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตจะเป็นปัจจัยสำคัญ

แม้อียูจะขยายประเภทของสินค้าให้กว้างขึ้นแต่ผลกระทบต่อไทยก็ยังอยู่ในวงจำกัดที่ประมาณ 0.4% ของการส่งออกรวม แต่การเปลี่ยนแปลงหลักที่สำคัญก็คือการนับ “การปล่อยคาร์บอนทางอ้อมจากไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิต” ในการคำนวณภาษี CBAM ด้วย จากเดิมที่นับเฉพาะการปล่อยคาร์บอนทางตรงที่เกิดจากการผลิตเท่านั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อผู้ผลิตและภาครัฐในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งแหล่งที่มาของไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่อียูยอมรับ เพราะหากผู้ผลิตสินค้าไม่มีรายงานแหล่งผลิตไฟฟ้าที่นำมาใช้ในการผลิต อียูจะใช้ค่าเฉลี่ยของแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนสูงที่สุด 10% ของประเทศนั้นเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสร้างคาร์บอนสูงที่สุด [2]

แม้ว่าไทยจะผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่โดยใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งปล่อยคาร์บอนต่ำกว่า แต่ก็มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในประเทศเกินกว่า 10%[3] ดังนั้น หากผู้ผลิตรายใดไม่สามารถจัดทำรายงานด้านไฟฟ้าตามมาตรฐานที่อียูยอมรับได้ จะเสี่ยงต่อการที่อียูจะใช้การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินเป็นเกณฑ์คำนวณค่าภาษี CBAM สำหรับผู้ผลิตรายนั้น ซึ่งอาจสูงกว่าที่ควรและส่งผลให้ผู้ผลิตรายนั้นสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาไป อย่างไรก็ดี ในระยะยาวการลดคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้าอยู่นอกเหนือความสามารถของภาคธุรกิจโดยตรง ดังนั้นนโยบายพลังงานของภาครัฐจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญ


ไม่เฉพาะแค่สินค้า แต่รวมถึงการขนส่ง

นอกเหนือจากร่าง CBAM แล้ว ในวันเดียวกันรัฐสภายุโรปก็ได้เห็นชอบการรวม “การขนส่งทางเรือ” เข้าไปในตลาด EU ETS ด้วย โดยจะนับรวมทั้งเส้นทางเดินเรือภายในอียู และเส้นทางเดินเรือเข้า – ออกจากอียู ซึ่งจะครอบคลุมเส้นทางการขนส่งจำนวนมาก ซึ่งร่างดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2567 หากที่ประชุมไตรภาคีเห็นชอบ


เมื่อร่างนี้บังคับใช้ ต้นทุนการขนส่งสินค้าที่มีเส้นทางผ่านอียูจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย Maersk ซึ่งเป็นสายการเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าค่าขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยังยุโรปจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 170 – 255 ยูโรต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ซึ่ง Maersk มีแผนที่จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2566[4]

ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบกับไทยสองประการคือ (1) ปริมาณการส่งออกสินค้าไทยไปยังยุโรปหรือไปยังประเทศอื่นที่มีเส้นทางขนส่งผ่านยุโรปอาจลดลง เนื่องจากผู้นำเข้าอาจหันไปซื้อสินค้าทดแทนจากประเทศที่มีพรมแดนใกล้กว่าจากค่าขนส่งที่ต่ำกว่า เพราะปริมาณการปล่อยคาร์บอนย่อมเพิ่มขึ้นตามระยะทาง และ (2) สินค้าที่นำเข้ามาจากยุโรป อาทิ เครื่องจักร ยา เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะมีราคาสูงขึ้นจากค่าขนส่งและอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในไทย


ประเทศไทยพร้อมหรือยัง

แม้ว่าตอนนี้ผลกระทบจาก CBAM ต่อปริมาณสินค้าส่งออกของไทยจะไม่สูง และอาจดูไกลตัวเมื่อมองจากมุมมองของผู้บริโภค แต่ค่าขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพ คำถามที่สำคัญคือ ไทยพร้อมหรือยังกับแนวทางใหม่ของโลกนี้ และเราจะเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่กำลังจะมาถึงอย่างไร?


อ้างอิง:

[1] Emission Trading System (ETS) ทำงานด้วยหลักการ ‘cap and trade’ คือการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซฯ โดยรวม แล้วจึงจัดสรรสิทธิ์ในรูปของปริมาณก๊าซฯ ที่อนุญาตให้ปล่อยได้ (Emission Allowance) ผู้ที่ปล่อยก๊าซฯ ต่ำกว่าสิทธิ์ที่ได้รับ ก็สามารถนำสิทธิ์ส่วนเกินไปขายในตลาด ETS ให้แก่ผู้ที่ปล่อยเกินได้ ส่วนผู้ที่ปล่อยก๊าซฯ สูงกว่าสิทธิ์ก็จะต้องซื้อสิทธิ์เพื่อให้ยังดำเนินการผลิตต่อไปได้, รายละเอียดตาม: https://ec.europa.eu/clima/eu-action/eu-emissions-trading-system-eu-ets_en

[2] ตลอดวงจร ถ่านหินปล่อยคาร์บอน = 820 g/kWh , ก๊าซธรรมชาติ = 490 g/kWh ที่มา: IPCC (2014)

[3] กระทรวงพลังงาน : แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 (PDP2015)

[4] https://www.maersk.com/news/articles/2022/07/12/eu-ets-latest-developments



ผู้เขียน :
พิชญุตม์ ฤกษ์ศุภสมพล
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับที่ 17/2565 วันที่ 13 ก.ย. 2565




บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย