​เมื่อจีนคิดการใหญ่: ธนาคารโลกในเวอร์ชันเอเชีย

นายวิชญ์พล สุธาสินีนนท์

กระแสการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ที่จีนเป็นหัวหอกในการจัดตั้งเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรให้ความสนใจเป็นสมาชิกจนทำให้มีแล้วกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่ตอบรับเข้าร่วม AIIB ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

แนวคิดของจีนในการจัดตั้ง AIIB มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เงินกู้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใช้ในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคมขนส่งและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งบทบาทเชิงรุกของจีนในครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า (1) เพราะเหตุใดจีนถึงจัดตั้ง AIIB ขึ้นมา ทั้งที่ในปัจจุบันมีองค์กรระหว่างประเทศดำเนินบทบาทดังกล่าวอยู่แล้ว เช่น ธนาคารโลก หรือธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) (2) โครงสร้างระบบการเงินโลกต่อจากนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร และ (3) การจัดตั้ง AIIB จะส่งผลต่อไทยอย่างไร
การตอบคำถามแรกว่า จีนตั้ง AIIB ขึ้นเพราะอะไร อาจมองได้สองมุม มุมแรกสามารถมองในด้านการเงิน ขณะที่อีกมุมหนึ่ง คือ ด้านการเมือง ในด้านการเงินนั้น ADB ประเมินความต้องการเม็ดเงินเพื่อใช้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียในช่วงปี 2553 – 2563 ไว้ราว 8 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. โดยปัจจุบันได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารโลกและ ADB รวมกันเพียงไม่ถึงร้อยละ 2 ของความต้องการทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศในเอเชียยังขาดเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอยู่อีกมาก แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามผันเงินออมในภูมิภาคที่มีอยู่มากไปสู่การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วบ้างก็ตาม แต่กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลา ดังนั้น AIIB จะเข้ามามีบทบาทเป็นแหล่งเงินทุนอีกแห่งเพิ่มเติมให้กับภูมิภาคได้

ในด้านการเมือง การที่จีนจัดตั้ง AIIB ขึ้นมาใหม่แทนที่จะไปเพิ่มทุนในธนาคารโลกหรือ ADB เพื่อยกบทบาทของตนในองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ ก็น่าจะมาจากการที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มหลักในการก่อตั้งธนาคารโลกและ ADB จึงมีสิทธิออกเสียงในสัดส่วนที่สูง ทาให้ยากต่อการที่จีนจะมีบทบาทมากขึ้น เช่น ในธนาคารโลก สหรัฐฯ มีสิทธิออกเสียงถึงร้อยละ 16.2 ขณะที่จีนมีเพียงร้อยละ 4.8 สำหรับใน ADB ญี่ปุ่นมีสิทธิออกเสียงร้อยละ 12.8 เทียบกับจีนที่มีเพียงร้อยละ 5.4 สัดส่วนเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับขนาดของเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก การจัดตั้ง AIIB ขึ้นมาจึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มบทบาทของจีนในเวทีโลก

คำถามที่สองคือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระบบการเงินโลก ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าโครงสร้างของขั้วอำนาจในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลกหรือ ADB ยังอยู่ในมือของประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น เช่น จีน บราซิล รัสเซีย อินเดีย ยังไม่ได้รับสิทธิออกเสียงในองค์กรเหล่านี้มากเท่าที่ควร แม้ว่าธนาคารโลกเองอยู่ระหว่างการเพิ่มสัดส่วนสิทธิออกเสียงให้แก่กลุ่มประเทศเหล่านี้ แต่กระบวนการยังเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะสหรัฐฯ ซึ่งมีสิทธิออกเสียงมากที่สุดยังไม่ให้ความเห็นชอบ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงต้องการปรับความสมดุลของขั้วอำนาจในองค์กรระหว่างประเทศ และดูเหมือนว่าจีนจะทำได้สำเร็จในเบื้องต้น เพราะได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศใหญ่ๆ ในยุโรปหรือแม้แต่ออสเตรเลียเองที่เป็นฝ่ายสนับสนุนสหรัฐฯ มาตลอด


อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เหตุใดประเทศใหญ่ๆ ในยุโรปถึงเข้าร่วมเป็นสมาชิก AIIB กับจีน แทนการเพิ่มทุนของตัวเองในธนาคารโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรหลักอยู่ แน่นอนว่าการรวมตัวของประเทศในยุโรปก็เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้าการลงทุนร่วมกัน แต่ในด้านการเมืองนั้นแต่ละประเทศยังต้องการรักษาอำนาจการตัดสินใจของตนเองอยู่ การที่บางประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก AIIB จึงแสดงถึงความมีอิสระในการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังโครงสร้างระบบการเงินโลกและการดาเนินงานในอีกหลายๆ เรื่องของยุโรปในอนาคตได้

การที่ AIIB ได้รับการตอบรับจากประเทศมหาอำนาจมากมาย นอกจากจะทำให้บทบาทและท่าทีของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศมหาอำนาจทั่วโลกสั่นคลอนแล้ว ยังจะส่งผลให้โครงสร้างและอำนาจในระบบการเงินโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย หากธนาคารโลกและ ADB ยังไม่ปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ของภาวะเศรษฐกิจและการเงินของโลก บทบาทของ AIIB ในระบบการเงินโลกจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น โดยเราอาจได้เห็นการใช้สกุลเงินหยวนในการชาระเงินทั้งในส่วนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของ AIIB นั้น ยังมีเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงาน โครงสร้างสิทธิออกเสียงที่ต้องเป็นธรรมแก่สมาชิก ตลอดจนกฎระเบียบที่ต้องเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจีนในฐานะผู้ริเริ่มต้องดูแลให้เป็นที่ยอมรับของสมาชิก

และคำถามสุดท้ายได้แก่ผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการจัดตั้ง AIIB ของจีน คือไทยจะมีแหล่งเงินทุนแห่งใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยจะกู้เงินในลักษณะทวิภาคีเป็นหลัก เช่น การกู้เงินโดยตรงจากญี่ปุ่นหรือจีนเพื่อใช้ในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ นอกจากนี้ ไทยอาจมีสิทธิมีเสียงในองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้นผ่าน AIIB ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีบทบาทค่อนข้างจากัดในองค์กรระหว่างประเทศที่นาโดยชาติตะวันตก การเข้าร่วมกับจีนในครั้งนี้จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของไทย อย่างไรก็ดี การที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกและพึ่งพาแหล่งเงินทุนจาก AIIB ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้นคงจะต้องคำนึงถึงรายละเอียดการกู้ยืมให้มีความเหมาะสมและคุ้มค่าด้านต้นทุนด้วย

ทั้งนี้ อาจมองได้ด้วยว่า การขยับตัวของจีนในครั้งนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่ตามวิสัยทัศน์ของ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ซึ่งมีกรอบแนวคิดหลักที่จะผงาดอานาจออกไปให้กว้างขึ้นผ่านการเชื่อมโยงการค้าระหว่างทวีปทั้งทางบกและทางทะเลตามที่เรียกว่า “One Belt, One Road” โดยนอกเหนือจากการจัดตั้ง AIIB แล้ว จีนยังมีการดำเนินงานอีกหลายอย่าง อาทิ การสนับสนุนให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล การสนับสนุนให้สถาบันการเงินทั้งในและนอกจีนออกพันธบัตรสกุลเงินหยวนได้ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปของจีนถูกวางไว้อย่างครอบคลุมเพื่อให้จีนมีบทบาทในเวทีโลกในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต แผนการใหญ่ที่จีนวางไว้ในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จและส่งผลกระทบต่อโลกมากน้อยเพียงใดนั้น เราคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อที่ไทยจะได้ปรับตัวให้ทันการณ์และได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย