​มาตรฐานการรายงานทางการเงินไทย.....รูปแบบใหม่ในอนาคต

นางสาวกมลทิพย์ เหล่าทรัพย์เพิ่มพูล

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ในช่วงที่ผ่านมาอาจมีบางท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับตัวเลขทางบัญชีได้ยินข่าวคราวว่า จะมีการปรับปรุงรูปแบบมาตรฐานการรายงานทางการเงินไทย (Thai Financial Reporting Standards: TFRSs) ให้เข้าใกล้กับมาตรฐานสากลมากขึ้น และอาจเกิดความสงสัยว่าจะมีการปรับปรุงไปในรูปแบบใด หลังจากที่เมื่อปี 2554 สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในประเทศไทยได้เคยมีการยกเครื่องมาตรฐานการรายงานทางการเงินไทยครั้งใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินของสากล โดยให้ถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ซึ่งการปรับปรุงครั้งนั้นส่งผลให้มีการจัดประเภทกิจการในประเทศไทยออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่

1) กิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities: PAEs) เช่น บริษัทมหาชนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กิจการที่ดำเนินธุรกิจหลักในการดูแลทรัพย์สินของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้าง เช่น สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งกิจการเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่จัดขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “มาตรฐานชุดใหญ่”

2) กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Non- Publicly Accountable Entities: NPAEs) ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “มาตรฐานชุดเล็ก” ซึ่งข้อกำหนดในมาตรฐานชุดนี้จะง่ายกว่ามาตรฐานชุดใหญ่ ช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อนหลายประเด็น เช่น ไม่ต้องจัดทำงบกระแสเงินสดและงบการเงินรวม ได้รับการผ่อนปรนเรื่องการตีราคาด้วยมูลค่ายุติธรรมโดยให้ใช้เฉพาะหลักทรัพย์ที่มีราคาตลาดเท่านั้น เพื่อเอื้อประโยชน์และไม่เป็นภาระต่อกิจการขนาดเล็กและขนาดย่อมมากนัก

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวมาใช้จริงในทางปฏิบัติพบว่า อาจยังไม่เหมาะสมกับบางกิจการในประเทศไทย เนื่องจากกิจการที่มีขนาดใหญ่บางแห่งมีลักษณะเสมือนกิจการ PAEs เพียงแต่ไม่เข้าข่ายตามคำนิยามที่กำหนดไว้ เช่น ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลให้กิจการขนาดใหญ่เหล่านี้นำมาตรฐานชุดเล็กมาถือปฏิบัติแทน ทำให้ตัวเลขในงบการเงินไม่สะท้อนฐานะและผลการดำเนินงานที่แท้จริงเพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว และทำให้การจัดทำรายงานทางการเงินของประเทศไทยมีความเป็นสากลสามารถเปรียบเทียบกันได้ และสอดคล้องกับกลุ่มประเทศใน ASEAN Economic Community (AEC) ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้กิจการในประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีสภาวิชาชีพบัญชีฯ จึงอยู่ระหว่างการพิจารณานำมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (IFRS for SMEs) มาใช้ในประเทศไทย เพื่อให้การจัดทำรายงานทางการเงินเหมาะสมและง่ายในการนำมาปฏิบัติ ซึ่งแนวทางเบื้องต้นจะมีการพิจารณาจัดประเภทกิจการในประเทศไทยออกเป็น 3 ระดับ (3-Tier Financial Reporting) ซึ่งระดับแรกยังคงไว้สำหรับกิจการ PAEs แต่มีการแบ่งระดับของกิจการ NPAEs ออกเป็น 2 ส่วนคือ

1) กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่เป็นกิจการขนาดใหญ่หรือมีความพร้อมสูง (NPAEs ขนาดใหญ่หรือมีความพร้อมสูง) ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ TFRS for SMEs ที่อาจปรับเปลี่ยนขอบเขตตามมาตรฐานสากล (IFRS for SMEs) ใน 5 ประเด็น ได้แก่ (1) การจัดทำงบการเงินรวม (2) การรับรู้รายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีและหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (3) การรับรู้รายการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน (4) การวัดมูลค่าของรายได้และการรับรู้รายได้ และ (5) การรับรู้รายการและการวัดมูลค่ารายการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมพิเศษ เช่น เกษตรกรรม

2) กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่เป็นกิจการขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มที่จะกำหนดให้ปฏิบัติตาม TFRS for NPAEs ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต่อไป

เมื่อพิจารณาแนวทางดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่า หากสภาวิชาชีพบัญชีฯ มีการนำเอา 3-Tier Financial Reporting มาใช้กับกิจการในประเทศไทย จะส่งผลทำให้มีการแบ่งประเภทกิจการและมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่จะนำมาใช้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และอาจช่วยแก้ไขปัญหาในภาคปฏิบัติได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดที่แน่ชัดว่า จะใช้ปัจจัยใดเป็นตัววัดขนาดของกิจการ แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือกิจการต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยการติดตามข่าวสารและความคืบหน้าของการประกาศใช้ 3-Tier Financial Reporting ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น website ของสภาวิชาชีพบัญชีฯ (www.fap.or.th) เพื่อที่จะสามารถทราบได้ว่า กิจการของตนเองอยู่ในระดับใด ต้องใช้มาตรฐานลักษณะไหน เพื่อที่จะปฏิบัติได้ถูกต้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานนั้น ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขในงบการเงินสามารถสะท้อนฐานะและผลการดำเนินงานของกิจการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้งบการเงินของกิจการในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ

นอกจากนี้ สำหรับสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม PAEs ก็อาจได้รับผลกระทบในกรณีที่มีลูกค้าที่เป็น NPAEs ซึ่งสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจจะต้องมีการพิจารณาหรือวิเคราะห์ตัวเลขจากงบการเงินของลูกค้า เพื่อประกอบการให้สินเชื่อหรือทำธุรกรรมอื่นๆ ซึ่งหากสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจไม่มีความเข้าใจในมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ NPAEs แล้ว ก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการประเมินฐานะและผลการดำเนินงานของลูกค้า และอาจเกิดความผิดพลาดจากการนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปใช้ประโยชน์ได้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย