​​การเตรียมกลไกการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเงินของประเทศไทยในอนาคต

น.ส. ดุษยา อมรลักษณานนท์
ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน

จากบทความก่อนหน้าที่ได้เล่าถึงบทเรียนจากวิกฤติการเงินโลกในอดีต ซึ่งนำไปสู่การยกระดับการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งในเชิงของการป้องกันที่ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีความเข้มข้นมากขึ้น และในเชิงของการแก้ไขที่ได้มีการเตรียมการเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจเอาไว้ล่วงหน้า โดยในครั้งนี้จะเป็นการเล่าถึงหลักการของกลไกการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินของประเทศไทย เพื่อเตรียมการรองรับสำหรับวิกฤติทางการเงินหากเกิดขึ้นในอนาคต

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกในยุคปัจจุบันซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่หลากหลายรูปแบบ และปัญหาอาจมีความรวดเร็วและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการมีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้น โดยมีการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง ควบคุม และติดตามความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงมีการจัดเตรียมแผนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องรองรับไว้ในยามฉุกเฉิน เช่น แผนการรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แผนการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง แผนการเสริมสร้างด้านเงินกองทุน เพื่อให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งและป้องกันไม่ให้การให้บริการทางการเงินหยุดชะงัก นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการประสานงานกับผู้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งในช่วงภาวะปกติและภาวะที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบและสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

นอกจากสถาบันการเงินจะมีการดูแลจัดการแก้ไขปัญหาตามแนวทางในการบริหารความเสี่ยงของตนเองแล้ว ผู้กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็มีแนวทางในการกำกับดูแล และติดตามความเสี่ยง รวมถึงแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย โดย ธปท. ต้องสามารถเข้าดำเนินการกับสถาบันการเงินได้ตั้งแต่เริ่มมีปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นลุกลามและส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในกรณีที่สถาบันการเงินประสบปัญหาสภาพคล่อง สถาบันการเงินมีช่องทางในการขอความช่วยเหลือจาก ธปท. เพื่อเสริมสภาพคล่องชั่วคราวได้ โดยต้องมีหลักประกันที่เหมาะสมในการขอกู้ยืม และหากสถาบันการเงินประสบปัญหาฐานะ หรือมีการดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ธปท. ก็ควรต้องสามารถเข้าจัดการกับปัญหาได้ ซึ่งขั้นตอนและมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาก็จะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและความเหมาะสมของสถานการณ์ ตั้งแต่การสั่งให้สถาบันการเงินลดทุน เพิ่มทุน ระงับการดำเนินงานทั้งหมดหรือบางส่วน ถอดถอนหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการ สั่งให้สถาบันการเงินทำแผนฟื้นฟูกิจการ จนไปถึงการเข้าควบคุมหรือปิดกิจการสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดกลไกในการแก้ไขปัญหาฐานะของสถาบันการเงินที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากกฎหมายที่กำหนดกลไกการแก้ไขปัญหาในลักษณะดังกล่าวได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2555 ซึ่ง ธปท. ได้ดำเนินการเพื่อให้มีกฎหมายรองรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมการรองรับการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ประสบวิกฤติทางการเงินไว้ล่วงหน้า การดำเนินการในเรื่องนี้จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ โดยถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจไว้ล่วงหน้า ซึ่งกลไกที่ ธปท. เสนอนั้นอยู่ระหว่างพิจารณาในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย โดยสอดคล้องกับหลักการของการแก้ไขปัญหาตามกลไกที่กำหนดในกฎหมายเดิม แต่ได้ปรับเพิ่มให้แนวทางการแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้น ซึ่งสรุปสาระสำคัญ คือ

(1) กระบวนการตัดสินใจแก้ไขปัญหาจะมีความชัดเจนและรวดเร็ว และมีการถ่วงดุลอำนาจ โดย ธปท. ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินซึ่งประกอบด้วยผู้กำกับดูแลภาคการเงิน หน่วยงานทางการ และผู้ทรงคุณวุฒิ จะดำเนินการเสนอแผนการแก้ไขปัญหาต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติแก้ไขปัญหา

(2) ผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจะถูกกำหนดอย่างชัดเจน โดยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ดำเนินการตามแผนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เนื่องจากมีความพร้อมทั้งในเรื่องของกระบวนการทำงานและบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสถาบันการเงินมาในอดีต

(3) เครื่องมือแก้ไขปัญหาจะมีความหลากหลายเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพ โดยมีการกำหนดทั้งเครื่องมือทางการเงิน เช่น การให้กู้ยืม การซื้อหุ้นเพิ่มทุน และเครื่องมืออื่น ๆ ที่คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้อนุมัติในแผนการแก้ไขปัญหา

(4) การชดเชยภาระความเสียหายจากการแก้ไขปัญหาจะถูกกำหนดไว้ชัดเจน โดยให้สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายก่อน และภาระส่วนที่เหลือให้สถาบันการเงินในระบบร่วมชดเชยในภายหลัง โดยมีการกำหนดภาระสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากสถาบันการเงินเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ดี หากการเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียวอาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการให้บริการทางการเงิน รัฐบาลก็อาจพิจารณาเข้าร่วมชดเชยภาระความเสียหายดังกล่าวด้วยได้

ในช่วงเวลาที่ระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งเช่นในปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเตรียมกลไกเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินที่มีผลกระทบต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจไว้ล่วงหน้า เพราะการสร้างกลไกดังกล่าวถือเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางการเงิน เปรียบเสมือนการสร้างบันไดหนีไฟเตรียมไว้ล่วงหน้า ซึ่งโดยหลักการแล้วกลไกที่กำหนดนี้มิได้ใช้สำหรับการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินเพียงแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่เป็นการใช้สาหรับรักษาเสถียรภาพโดยรวมของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน ว่าจะสามารถได้รับบริการทางการเงินได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และผู้ฝากเงิน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นรากฐานสำคัญในการเติมเต็มกลไกการกากับดูแลระบบสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้ระบบการเงินและระบบ เศรษฐกิจของไทยขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย