​Trumponomics (3): Captain America ที่ชื่อว่าโดนัลด์ ทรัมป์

นายธนธรรศ บำเพ็ญบุญ

​กัปตันอเมริกา ตัวการ์ตูนฮีโร่ชาวอเมริกัน ผู้นำซึ่งเป็นสัญลักษณ์การปกป้องสหรัฐฯ ด้วยความ รักชาติผ่านเครื่องแบบและโล่สีธงชาติ ที่ไม่เคยทำให้คนอเมริกันผิดหวังแม้แต่ครั้งเดียว ผ่านมาเกือบหนึ่ง ศตวรรษ ท่ามกลางความวุ่นวายและวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ชาวอเมริกันหลายคนฝากความหวังไว้ที่กัปตันอเมริกาที่ชื่อว่าโดนัลด์ ทรัมป์


ที่มา: http://www.fact.co.uk/media/70423891/captain-america.jpg


ภายใต้นโยบาย “Make America Great Again” ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มองว่าความ เสื่อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ เป็นเพราะการดำเนินนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศในอดีตที่ผิดพลาดนำพาซึ่งความเสื่อมถอยมายังเศรษฐกิจสหรัฐฯ เขามองว่าการที่อเมริกาได้ลงนามในความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับไม่เป็นประโยชน์ต่ออเมริกา กลับยังฉุดรั้งเศรษฐกิจมากกว่า ทั้งนี้ ทรัมป์จะยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ผ่าน นโยบาย “America First” โดยทรัมป์เห็นว่านโยบายที่ต้องแก้ไขทันทีมี 3 ประการ ดังนี้

1. ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ถอนสหรัฐฯ ออกจาก TPP อย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่า TPP จะเปิดช่องให้คนต่างชาติมาแย่งงานคนอเมริกัน ธุรกิจสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิต ไม่ได้เพิ่มการจ้างงานในสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้คนอเมริกันหางานยากขึ้นอีก ซึ่งเป็นนโยบายที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีโอบามา ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ประธานาธิบดีมีอำนาจเต็มในการยับยั้ง TPP ที่โอบามาได้ลงนามไปแล้ว แต่ยังไม่มีการให้สัตยาบัน โดย TPP มีข้อกำหนดพิเศษว่าจะไม่มีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกใด ๆ เลย หากไม่มีสหรัฐฯ และ ญี่ปุ่นร่วมให้สัตยาบัน (ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศ เดียวที่ให้สัตยาบัน) ซึ่งหากสมาชิก TPP อื่น ๆ ไม่แก้ไขข้อกำหนดดังกล่าว TPP ก็จะถูกยกเลิกโดยปริยายนั่นเอง ล่าสุด สมาชิก TPP เริ่มพิจารณาความเป็นไปได้หากไม่มีสหรัฐฯ ใน TPP
ทรัมป์มองว่าการเจรจาการค้าในรูปแบบทวิภาคี (Bilateral Agreements) ตอบโจทย์สหรัฐฯ ได้มากกว่า เพราะการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันโดยตรงจะตอบสนองความต้องการ สหรัฐฯ อย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับการเจรจาการค้าในรูปแบบพหุภาคีขนาดใหญ่ที่สหรัฐฯ แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ให้ทุกประเทศในระดับเดียวกัน การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทวิภาคีนี้เอง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งให้ทรัมป์เลือกเฉพาะคนสนิท และมีแนวคิดในลักษณะเดียวกันเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เพราะไม่ต้องการถูกแทรกแซงจากคนนอก

2. ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North America Free Trade Agreement: NAFTA) ทรัมป์จะลงนามใน Executive Order เพื่อเจรจาแก้ไข NAFTA กับแคนาดาและเม็กซิโก โดยหากไม่สำเร็จ สหรัฐฯ จะถอนตัวเนื่องจากเขามองว่า NAFTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วกว่า 23 ปี ทำให้ธุรกิจในสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิตไปยังเม็กซิโก เพื่อชิงความได้เปรียบจากต้นทุนที่ถูกกว่า แล้วส่งสินค้ากลับมาขายยังสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับเม็กซิโกเพิ่มขึ้นทุกปี คนเม็กซิกันมาแย่งงานคนอเมริกันมากขึ้น ดังนั้น ทรัมป์จึงผลักดันให้มีการเจรจา NAFTA ใหม่ เพื่อขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศเม็กซิโกให้เป็นร้อยละ 35 และดึงธุรกิจ สหรัฐฯ กลับมา หากไม่สำเร็จสหรัฐฯ อาจถอนตัวจาก NAFTA ทั้งนี้ กระบวนการเจรจาใหม่หรือการถอนตัวจาก NAFTA จาเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสและทรัมป์ไม่สามารถขึ้นภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 35 ได้ หากไม่ได้รับคำแนะนาจากสภาคองเกรส ยกเว้นทรัมป์ทาผ่านกฎหมายเฉพาะ ซึ่งเปิดช่องในสถานการณ์พิเศษให้สามารถทำได้

3. ความสัมพันธ์ด้านการค้ากับจีนและ WTO นอกจากเม็กซิโกแล้ว ทรัมป์ยังต้องการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 45 เพื่อตอบโต้จีน เพราะเห็นว่าจีนใช้การบิดเบือนค่าเงินเพื่อสนับสนุนการค้า ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าจีนจะตอบโต้สหรัฐฯ ผ่านการขึ้นภาษีนาเข้าเช่นกัน และอาจเป็นชนวนสงครามการค้าได้ นอกจากนั้น จีนอาจร้องเรียนไปยัง WTO โดยหากสหรัฐฯ จะชูประเด็นเรื่องจีนบิดเบือนค่าเงิน อาจต้องแสดงหลักฐานที่หนักแน่น เนื่องจากในเดือนตุลาคม 2559 สหรัฐฯ ได้แจ้งว่าจีนไม่เข้าข่ายเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ดังนั้น นโยบายกดดันจีนในส่วนของค่าเงินหยวนอาจจะถูกล้มเลิกไปในที่สุด ยกเว้นสหรัฐฯ จะถอนตัวจาก WTO ด้วย ซึ่งจะทำให้สหรัฐมีความชอบธรรมในการขึ้นภาษีจีนทันที อย่างไรก็ดี WTO ได้ชี้แจงว่าขณะนี้สหรัฐฯ ยังไม่ได้แสดงเจตจำนงถอนสมาชิกภาพแต่อย่างใด

นโยบายต่าง ๆ ของทรัมป์นับว่าค่อนข้างแตกต่าง หรือแม้กระทั่งตรงกันข้ามกับโอบามาอย่าง สิ้นเชิง คาดว่าในระหว่างที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง 4 ปี เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีทิศทางต่างออกไปจากนโยบายต่อไปนี้

1. ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ในระยะสั้นบางอุตสาหกรรมของ สหรัฐฯ ที่พึ่งพา supply chain ต่างประเทศอาจได้รับผลกระทบ หากไม่สามารถหาแหล่งผลิตภายในประเทศได้ทัน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตไปยังเม็กซิโก ในระยะยาวการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากร การกีดกัน การแสวงหาต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดผ่านการย้ายฐานการผลิต การที่เอกชนสหรัฐฯ เสียโอกาสในการหาแหล่งอุปโภคบริโภคสินค้าที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า อาจส่งผลให้ต้นทุนสินค้าบริโภคภายใน สินค้าส่งออก และนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น และเร่งอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี นโยบายกีดกันการค้าที่เข้มงวดเกินไป ทำให้ประเทศจีนและเม็กซิโกอาจโต้กลับด้วย การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในที่สุด

2. ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ต่อประเทศไทย ยังมีความไม่ชัดเจน เนื่องจากทรัมป์ยัง ไม่มีนโยบายกีดกันต่อไทย อย่างไรก็ดี หากกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ผ่านการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น การส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบบ้างผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ถ้า TPP ถูกยกเลิกไปจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มสมาชิก TPP สุดท้ายแล้ว การเจรจาการค้าต่าง ๆ กับสหรัฐฯ ในอนาคตคาดว่าจะเป็นเชิงทวิภาคีทั้งหมด ล่าสุดมีข่าวว่าสหรัฐฯ สนใจที่จะเจรจาทวิภาคีกับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และไทย ซึ่งหมายความว่าความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐ อาจกลับมามีความคืบหน้าอีกครั้ง หลังจากหยุดไปเป็นเวลากว่า 10 ปี

เมื่อกัปตันอเมริกาคนล่าสุดมีสโลแกนว่า America First ประทุความเป็นชาตินิยมอย่างเข้มข้น อาจถึงเวลาแล้วที่กัปตันเม็กซิโก และกัปตันจีนจะปรากฏตัวเพื่อตอบโต้กัปตันอเมริกา ย้อนกลับไปในปี 2559 กัปตันอเมริกาสู้กับไอรอนแมนในสมรภูมิที่เรียกกันว่า “Civil War” ในปี 2560 นี้ สมรภูมินี้อาจเป็น “Global Trade War” ก็ได้ การผลัดกันตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ เม็กซิโก และจีนใครจะเป็นผู้ชนะกัปตันอเมริกาจะเป็นผู้นำโลกต่อไปหรือไม่เป็นสิ่งที่เราต้องติดตามดูกัน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย