​4 มาตรการตอบโจทย์ ทำอย่างไร เศรษฐกิจไทยโตอย่างสมดุล-ยั่งยืน ?

ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยชะลอลงต่อเนื่องในรอบ 50 ปี จาก 6.5 –7.6% ในช่วงสองทศวรรษแรก ปี 2514-2533 ต่อมาลดลงเหลือ 4.4-4.5% ในช่วงปี 2534-2553 และในทศวรรษล่าสุดปี 2554-2563 ที่องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization: APO) คาดว่าตัวเลขการเติบโตของไทยจะเหลือเพียง 2.3% ซึ่งมาจากทุนที่ลดลงไปมาก และผลิตภาพรวมที่แทบจะไม่เห็นการเติบโตเลย นอกจากนี้ ชั่วโมงทำงานที่หดตัวเมื่อเทียบกับทศวรรษอื่น ๆ ในอดีต การเติบโตที่ชะลอลงมากในช่วงทศวรรษนี้ ปัจจัยหลักสืบเนื่องมาจากการสะสมทุนที่ต่ำกว่ายุคก่อนปี 2543 มาก [1] ขณะที่ตลาดแรงงานมีความตึงตัวต่อเนื่อง และแม้จะมีการใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแต่ก็ทำได้ในกลุ่มทักษะต่ำ (low skill) ขณะที่ยังทำในกลุ่มทักษะสูง (high skill) ได้จำกัด [2] อีกทั้งภาวะสังคมสูงวัยส่งผลให้จำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยของคนไทยปรับลดลงต่อเนื่อง


ปัญหาที่กล่าวไปเป็นแรงกดดันให้เศรษฐกิจโตต่ำอยู่แล้ว แต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นอีก เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งในมิติการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภค ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติม ขณะที่มีแรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบและจะทำงานได้น้อยลง ปัจจัยบวกด้านแรงงงานต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงจะยิ่งแผ่วลงไปอีก มองไปข้างหน้า APO ธนาคารโลก (World Bank) และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) มองการเติบโตของไทยเราไม่ดีนัก APO มองว่าในปี 2564-2573 ตัวเลขการเติบโตของไทยจะต่ำสุดในรอบ 60 ปี แม้ในทุกองค์ประกอบจะขยายตัว แต่เติบโตได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญ คือ เราจะเดินหน้าเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่เป้าหมายได้อย่างไร เป้าหมายที่ไม่ใช่แค่ต้องมีการเติบโตกลับสู่ระดับที่เคยตั้งไว้ก่อนที่จะเผชิญผลกระทบจากโควิด-19 หากแต่ต้องมองให้ลึกลงไปถึงการก้าวข้ามต้นตอของความเปราะบางของการเติบโตที่มีอยู่เดิม คือ การเติบโตที่เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง จึงก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบ เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตแต่ งบการเงิน balance sheet ของผู้ประกอบการรายย่อย และ SME เปราะบาง มีภาระหนี้สูง หรือการเติบโตมาจากส่วนแบ่งของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สัดส่วนของรายได้แรงงานในรายได้ประชาชาติ National Income มีน้อยลง ดังนั้น เป้าหมายของเศรษฐกิจไทยควรเป็นการเติบโตอย่างทั่วถึง ที่จะนำไปสู่ความสมดุล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป



เพื่อมุ่งไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึง สมดุล และยั่งยืน ก้าวข้ามอุปสรรคทั้งจากข้อติดขัดของกฎเกณฑ์ภาครัฐที่กระทบต่อการทำธุรกิจและการลงทุน ข้อจำกัดด้านทักษะของแรงงาน ตลอดจนการขาดการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่มีต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐ จึงจำเป็นต้องอาศัย 4 มาตรการสนับสนุนสำคัญดังนี้
1. การปฏิรูปกฎเกณฑ์กติกา กฎระเบียบ ผ่านการอาศัยแนวทาง Regulatory Impact Assessment-RIA เพื่อประเมินผลกระทบและความเสี่ยงทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยชั่งน้ำหนักของผลบวกในการผ่อนคลายเกณฑ์ที่เอื้อให้เกิดความง่ายต่อภาคเอกชนกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดผลด้านลบ อาทิ การปฏิรูปกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจ เพื่อเอื้อให้เกิดการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะของธุรกิจ SME และรายย่อย และเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการจ้างแรงงานต่างชาติทักษะสูงที่สำคัญต่อภาคการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเพิ่มพูนศักยภาพการผลิตของไทย และพัฒนาทักษะแรงงานไทยไปพร้อมกันได้ [3] ดังนั้นจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ทั้งด้านผลิตภาพรวม และคุณภาพแรงงาน
2. การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนสำหรับภาคเอกชน และเน้นการลงทุนที่สอดรับไปกับบริบทโลกยุคใหม่ของทั้งภาครัฐและเอกชน [4] เช่น การลงทุนด้าน IT ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่แม้จะใช้เม็ดเงินไม่มากในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ใช่ IT เช่น ระบบคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคต่าง ๆ แต่สามารถสร้างความทั่วถึงได้ เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายย่อยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ตามทิศทางที่นโยบายคนละครึ่งเปิดประตูไว้ อย่างไรก็ดี ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของประชาชน (Digital literacy) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่
3. การยกระดับ Upskill และปรับทักษะ Reskill คนไทย ซึ่งจะเป็นมาตรการสร้างความเติบโตอย่างทั่วถึงได้ดีที่สุด เพราะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะทำให้คนพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว และจะเรียนรู้ที่จะมีทักษะที่ยั่งยืน คือ ทักษะในการปรับตัว ตามแนวการเรียนรู้ชั่วชีวี Life-long Learning ทำให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดเดาได้ยากขึ้นกว่าเดิม [5]
4. การบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ทุกข้อที่กล่าวมาข้างต้นสำเร็จได้ ทั้งใน 1) ด้านของกลไกการทำงานร่วมกัน Institution เช่น การต่อยอดแนวทางการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการนำเสนอมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีรูปแบบการทำงานเป็นรูปธรรมและเข้มแข็ง 2) ด้านการออกแบบมาตรการสร้างแรงจูงใจ Incentive เพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนเกิดการปรับตัวอย่างจริงจัง และ 3) ด้านการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล Data Infrastructure เพื่อให้การดำเนินนโยบายอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ อันจะนำไปสู่การทำงานที่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนในการประเมินผล ซึ่งจะทำให้สามารถปรับปรุงแนวทางการดำเนินการได้
การดำเนินมาตรการทั้ง 4 มิติ เป็นคำตอบของคำถามสำคัญว่า จะทำให้อย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนได้ สิ่งสำคัญคือ การรักษาบรรยากาศความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการฝ่าฟันวิกฤตโควิด ให้ยังคงเป็นแรงส่งในการปลดล็อกข้อจำกัดเพื่อยกกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยให้ไม่เพียงเติบโตได้ในภาพรวม แต่จะมีความเข้มแข็งอย่างทั่วถึง และพร้อมจะเผชิญความเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้า


อ้างอิง
[1] พิรญาณ์ 2563, ทรานส์ฟอร์มลงทุนไทยอย่างไร? ให้ออกจากดักแด้กลายเป็นเสือ
[2] ชมนาถ, โสภณ, บวรวิชญ์, และ นันทนิตย์, 2563, เปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวในไทย: ตอนที่ 1 แรงงานทักษะต่ำ และ ตอนที่ 2 แรงงานทักษะสูง
[3] จิตเกษม, ปัณฑา, และ พรพรรณ, 2563, ทำอย่างไรให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่ทำธุรกิจได้ง่ายที่สุด ?
[4] ปัณฑาและลัลนา, 2563, ทำอย่างไรให้ไทยเก่ง: พลิกตำรา สู่นโยบายเพื่อเพิ่มผลิตภาพ[5] กัมพล, 2563, Labor Market Digital Transformation: หนทางต้านวิกฤต, FOCUSED AND QUICK (FAQ) ฉบับที่ 171 ของธนาคารแห่งประเทศไทย และสัมพันธ์, อภิชาต, ชลจิต, จิตเกษม, และ กัมพล, 2563, ยกระดับ ปรับทักษะคนไทย กลไกพัฒนาชาติ


ผู้เขียน :
ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย