ดร. รังสรรค์ หทัยเสรี
ปัจจุบันภารกิจของแบงค์ชาติได้ขยายวงกว้างขึ้น โดยได้ยกระดับงานด้านการรักษาเสถียรภาพของระบบการชำระเงินให้เป็นงานหลักอีกด้านหนึ่งของ ธปท. ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ. 2551
ปัจจุบันระบบการชำระเงินที่สำคัญของไทยได้แก่ “ระบบบาทเนต” และ “ระบบการหักบัญชีเช็คระหว่างธนาคาร” โดยที่ระบบบาทเนตเป็นระบบการชำระเงินที่แบงค์ชาติได้พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการโอนเงินมูลค่าสูงระหว่างสถาบันสมาชิก ในวงเงินโอนตั้งแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายการ ไปจนถึงวงเงินโอนเกินกว่า 500 ล้านบาทต่อรายการ โดยมีมูลค่าธุรกรรมการชำระดุลราว 655 ล้านล้านบาทในปี2553หรือเฉลี่ยราว 2.7 ล้านล้านบาทต่อวัน ในขณะที่ระบบการหักบัญชีเช็คระหว่างธนาคารเป็นระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็ค (ระบบการหักบัญชีเช็คระหว่างธนาคารในเขต กทม. และปริมณฑล ระบบการหักบัญชีเช็คภายในจังหวัด และระบบการหักบัญชีเช็คข้ามจังหวัด) มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเกือบ 34 ล้านล้านบาทในปี 2553ซึ่งกว่าร้อยละ 90 เป็นการชำระดุลผ่านระบบการหักบัญชีเช็คระหว่างธนาคารในเขต กทม.ฯ
ภายใต้กรอบการรักษาเสถียรภาพของระบบการชำระเงินนั้น การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการชำระดุล (Settlement risk management) ภายใต้ระบบบาทเนต นับเป็นประเด็นความท้าทายที่สำคัญต่อแบงค์ชาติมากที่สุด เนื่องจากเป็นระบบการชำระเงินที่มีมูลค่าสูงมาก จนสามารถส่งผลกระทบด้านลบต่อเสถียรภาพทางการเงินได้ค่อนข้างง่าย หากมีความไม่ราบรื่นในการชำระดุลเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่การโอนเงินมูลค่าสูงภายใต้ระบบบาทเนตมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีสัดส่วน “มูลค่าการโอนเงินเฉลี่ยต่อวัน” สูงถึงราวร้อยละ 22-27เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ที่สำคัญการชำระเงินภายใต้ระบบบาทเนตนั้น เป็นการชำระดุลในลักษณะ Gross Settlement โดยมีผลการชำระดุลสมบูรณ์เสร็จสิ้นทันทีทีละรายการ ซึ่งแม้ว่าจะช่วยทำให้ความเสี่ยงทางด้าน Credit Risk ลดลง แต่กลับทำให้สถาบันสมาชิกต้องเผชิญกับ Liquidity Risk ในระดับที่สูงขึ้น
แบงค์ชาติได้บริหารความเสี่ยงด้านการชำระดุลอย่างรอบคอบ เนื่องจากเล็งเห็นว่า สามารถก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อระบบการเงินได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิด Settlement risk ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างที่รอผลการชำระเงินให้เสร็จสิ้น หลังจากธนาคารผู้จ่ายได้ส่งคำสั่งโอนเงินไปแล้ว แต่ไม่สามารถชำระหนี้ตามภาระผูกพันได ้ โดยสาเหตุอาจเป็นเพราะฐานะการเงินขัดข้องชั่วคราว (Liquidity Risk) หรือฐานะการเงินมีปัญหา (Credit Risk) ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การจัดให้มี “เงินสภาพคล่องระหว่างวัน” (Intraday Liquidity Facility: ILF) เพื่อให้สถาบันผู้สั่งโอนที่มีเงินไม่เพียงพอในบัญชีของตน สามารถกู้ยืมผ่านช่องทาง ILF โดยการนำหลักทรัพย์รัฐบาลและตราสารหนี้มาวางเป็นหลักประกันตามเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนดไว้
กลไกเสริมสภาพคล่องของแบงค์ชาติดังกล่าว ทำให้การโอนเงินมูลค่าสูงภายใต้ระบบบาทเนตเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งส่งผลทำให้ความเสี่ยงด้าน Liquidity Risk มีแนวโน้มลดลง ดังสะท้อนได้จากเครื่องชี้ Liquidity Ratio (สัดส่วนระหว่าง “การพึ่งพิงวงเงินเสริมสภาพคล่องของธนาคารสมาชิกบาทเนตกับมูลค่าการโอนเงินในระบบบาทเนต) ซึ่งได้ปรับลดจากร้อยละ 9.5 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 7.7 ในปี 2553 สัญญานเชิงบวกที่เห็นได้ชัดจากตัวเลข Liquidity Ratio สะท้อนว่า สมาชิกบาทเนตมีความสามารถในการบริหารจัดการโอนเงินผ่านบาทเนตที่ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงวงเงิน ILF มากนักในการชำระดุลผ่านบาทเนตที่มีมูลค่าธุรกรรมโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.1ล้านล้านบาทต่อวัน ในปี 2551 เป็น 2.7 ล้านล้านบาทต่อวัน ในปี 2553
ที่สำคัญ แบงค์ชาติยังได้ใช้ Pricing policy เพื่อลดความเสี่ยงต่อการกระจุกตัวในการชำระดุลตัวอย่างเช่น “มาตรการกระตุ้นการทำธุรกรรมตั้งแต่ต้นวันด้วยการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันตามช่วงเวลา” โดยคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำ หากมีการโอนเงินในช่วงต้นวันทำการ มาตรการนี้ทำให้ Settlement Risk ลดลง จากการที่สถาบันสมาชิกหันมาโอนเงินในช่วงต้นของเวลาทำการกันมากขึ้น โดยปัจจุบันการโอนเงินในช่วง 8.30-12.00 น. มีสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 65 ของปริมาณรายการทั้งหมด นอกจากนี้ แบงค์ชาติยังจัดให้มี “กลไกพิเศษ” ที่ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องตระเตรียมสภาพคล่องไว้จนเกินความจำเป็นสำหรับการชำระดุล ซึ่งอาจก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสสำหรับเงินสภาพคล่องส่วนเกินที่ได้ตระเตรียมไว้ โดยกลไกนี้จะดูแลให้การโอนเงินระหว่างคู่สัญญาที่ยังไม่สามารถชำระดุลกันได้ (เนื่องจากฝ่ายใด/ฝ่ายหนึ่งมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ) สามารถดำเนินการชำระดุลได้
ในอีกด้านหนึ่ง แบงค์ชาติได้ดำเนินการลดความเสี่ยงด้านการชำระดุล โดยขอให้ผู้ใช้บริการบาทเนตนำธุรกรรมโอนเงินมูลค่าสูง 4 ประเภท (ธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างสถาบัน การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การโอนเงินเพื่อบัญชีเงินบาทของสถาบันการเงินต่างประเทศ และการซื้อขายพันธบัตรและตราสารหนี้ระหว่างธนาคาร) ผ่านระบบบาทเนต พฤติกรรมการชำระเงินที่แปรเปลี่ยนไปจากการโอนเงินผ่านเช็คมาผ่านระบบบาทเนต ได้ส่งผลทำให้ความเสี่ยงทางด้าน Credit Risk ในระหว่างคู่สัญญาลดลงอย่างเห็นได้ชัดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้ จากผลพวงของการล่มสลายของ Lehman Brothersได้ทำให้องค์กรที่ดูแลการเงินระหว่างประเทศ เช่น IMF เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จำเป็นต้องมีระบบดูแล Payment Infrastructures และมาตรการจัดการความเสี่ยงด้านการชำระดุลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงทางด้าน Settlement Risk และ Systemic Risk ต่อระบบการเงินของประเทศ
ถึงตรงนี้...แบงค์ชาติยืนอยู่บนเส้นทางที่พร้อมจะประยุกต์ใช้กลไกและมาตรการใหม่ๆในการจัดการความเสี่ยงด้านการชำระดุล ภายใต้สภาวการณ์ที่เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งต่อกลไกการรักษาเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ ธปท. ในปัจจุบัน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย