​ไขกุญแจความสำเร็จการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของมาเลเซีย

นางสาววริษฐา ประจงการ

ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี มาเลเซียได้พัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (Electronics and Electrical Appliances: E&E) อย่างก้าวกระโดด จากที่เคยเป็นผู้รับจ้างประกอบเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductors) คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อส่งออกเหมือนกับประเทศไทย ซึ่งเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ทั้งการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า และรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาใช้ Smartphone และ Tablet แทนคอมพิวเตอร์มากขึ้น มาเลเซียได้ผันตัวเองมาเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและส่งออกสินค้า E&E ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ทำให้การส่งออกสินค้า E&E ของมาเลเซียซึ่งมีสัดส่วนราวหนึ่งในสามของการส่งออกทั้งหมดได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจของภาครัฐที่จะปฏิรูปอุตสาหกรรม E&E ให้เป็นหนึ่งในสิบสองจักรกล(1)สำคัญที่จะนำมาเลเซียก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middleincome Trap) ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง (High-income Nation) ภายในปี 2563 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า ในปี 2552 รัฐบาลมาเลเซียจึงได้เริ่มจัดทำแผนปฏิรูปอุตสาหกรรม E&E ที่มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม และมีการพัฒนาแบบบูรณาการที่ต้องอาศัยการร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนโดยยึดหลักการสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Competitiveness) ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและ (2) การมุ่งเน้นให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างจริงจัง (Focus)


รัฐบาลมาเลเซียเลือกใช้การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเป็นทางลัดในการปฏิรูปอุตสาหกรรม E&E ให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด และกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามามีบทบาทเป็นตัวนำร่องในการวางแนวทางและการสนับสนุนด้านการค้นคว้าวิจัยซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยแผนพัฒนาอุตสาหกรรม E&E ของมาเลเซียมี 5 กลยุทธ์สำคัญ คือ

กลยุทธ์ที่ 1 คัดเลือกประเภทอุตสาหกรรม E&E เป้าหมาย (strategic industry) ซึ่งต้อง (1) เป็นอุตสาหกรรมที่มาเลเซียมีพื้นฐานอยู่แล้วและสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีขั้นสูงได้ (2) เป็น อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและมาเลเซียมีศักยภาพที่จะได้ประโยชน์จากการเติบโตนั้น (3) เป็นสินค้าที่มีวงจรชีวิต (life cycle) ยาว และเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำคัญในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและเพื่อให้คุ้มค่าต่อเงินลงทุนที่สูงมาก โดยอุตสาหกรรมที่ถูกคัดเลือกให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) ไดโอดเปล่งแสง (Light Emitting Diode: LED) และเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน(Industrial Electronics และ Home Appliances) เพื่อให้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนอุตสาหกรรมเดิมที่สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันและความนิยมในตลาดโลกลดลง

กลยุทธ์ที่ 2 กำหนดตำแหน่งการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งมาเลเซียเลือกที่จะผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตสินค้า Hi-tech ของจีนและพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรงกับจีน เนื่องจากในระยะแรกของการพัฒนา อุตสาหกรรมเป้าหมายของมาเลเซียยังขาดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) จึงไม่สามารถแข่งขันกับจีนที่มีข้อได้เปรียบอยู่หลายด้านทั้งต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าและฐานลูกค้าที่มากกว่า

กลยุทธ์ที่ 3 ยกระดับการผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จากการรับจ้างประกอบตามที่บริษัทแม่กำหนด (Original Equipment Manufacturing: OEM) ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มต่ำ ไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ การผลิตที่มีการออกแบบ การวิจัยและพัฒนา (Original Design Manufacturing: ODM) การให้บริการหลังการขายและการเป็น Solution Provider (Original Brand Manufacturing: OBM) โดย Ministry of Science Technology and Innovation จะเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบในการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมเพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ประกอบการ

กลยุทธ์ที่ 4 พัฒนาอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (cluster) เพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในห่วงโซ่การผลิตสามารถผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรม E&E ที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้นได้ ซึ่งทางการมาเลเซียกำหนดให้สถาบัน Institution of Nano-electronic Engineering เข้ามาทำการวิจัยและให้การสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม E&E

กลยุทธ์ที่ 5 แก้ปัญหาคอขวดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม E&E แบบบูรณาการ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาระบบขนส่งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร การให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเอกชนในการส่งบุคลากรไปศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในด้านวิศวกรรมที่อุตสาหกรรม E&E ต้องการ การลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ โดยการปฏิรูปด้านการเงิน เป็นต้น

ความสำเร็จของการปฏิรูปอุตสาหกรรม E&E ของมาเลเซียเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การมีแผนปฏิรูปที่ชัดเจนและตรงจุด อีกทั้งยังให้การส่งเสริมสิทธิประโยชน์แบบเฉพาะเจาะจงแก่อุตสาหกรรม E&E เป้าหมาย เพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนอุตสาหกรรมเดิมที่สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันและความต้องการในตลาดโลกลดลง ซึ่งแม้จะมีบางอุตสาหกรรมต้องเสียเปรียบ แต่ก็คุ้มค่าเพราะมาเลเซียสามารถยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้จากที่เคยอยู่ในระดับเดียวกับไทยไปเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกสินค้า E&E ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของโลกได้ ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเริ่มการปฏิรูปอุตสาหกรรม E&E อย่างจริงจัง ซึ่งอาจนำประสบการณ์ของมาเลเซียมาปรับใช้ ก่อนที่ไทยจะตกขบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้
-------------------------------------------
(1) 12 จักรกลสำคัญ ประกอบด้วย 11 ธุรกิจ และ 1 พื้นที่ ได้แก่ 1.น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงาน 2.การศึกษา 3.การท่องเที่ยว 4.ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก 5.อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 6.บริการด้านสุขภาพ 7.ปาล์มน้ำมัน 8.การสื่อสาร 9.เกษตรกรรม 10.ธุรกิจด้านบริการ 11. บริการทางการเงิน และ 12.พื้นที่บริเวณ Greater Kuala Lumpur/Klang Valley

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย