นางสาวพัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์
นางสาวนันทนิตย์ ทองศรี
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
“Automation อาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่ แต่ความจริง เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นในไทย 5-10 ปีแล้ว เมื่อมองไป ข้างหน้า หากกระแสนี้ยังดาเนินต่อไป โดยไม่มีการเตรียมทรัพยากรมนุษย์ที่ดีพอเป็นไปได้ที่ Automation อาจส่งผลต่อความมั่นคงในอาชีพของแรงงานไทย ต่างจากในอดีตที่ไม่เห็นผลกระทบอย่างชัดเจน”
ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการพูดถึงกระแสเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Automation กันมาก โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงของอาชีพที่จะถูกแทนด้วย Automation เช่น หุ่นยนต์ เพราะเริ่มเห็นว่าหุ่นยนต์ไม่ได้มาแทนที่แรงงาน เฉพาะที่ใช้ทักษะพื้นฐานอย่างเดียวแล้ว แต่แรงงานทักษะก็มีโอกาสถูกทดแทนได้เหมือนกัน เห็นได้จากในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการใช้หุ่นยนต์มาทาหน้าที่ให้คำปรึกษาทางการเงินเพื่อลดความผิดพลาดและลดต้นทุน
ตัวเลขเชิงสถิติช่วยยืนยันว่ากระแส (Trend) การใช้หุ่นยนต์มาแรงจริง โดยในปี 2558 ทั่วโลกมีหุ่นยนต์ใหม่ที่เข้ามาช่วยในการผลิตถึง 250,000 ตัว หรือ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 จากปีก่อนหน้า โดยหุ่นยนต์ถึงร้อยละ 80 กระจุกใน 4 อุตสาหกรรมที่ลงทุนในเครื่องจักรสูง ได้แก่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก และ กลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก เพราะหุ่นยนต์ช่วย (1) ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในงานที่มีระเบียบแบบแผนและงานทาซ้ำ (2) ประหยัดต้นทุน โดยไม่จำเป็นต้องจ้างแรงงานที่มีค่าแรงสูง และ (3) ช่วยงานที่เสี่ยงต่ออันตราย
สำหรับไทย หลายคนอาจมองว่า Automation เช่น หุ่นยนต์อาจเป็นเรื่องใหม่ และกังวลว่าแรงงานอาจตกงานเพราะหุ่นยนต์มาทำงานแทน แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงตัวเลขและจากการสอบถาม ผู้ประกอบการแล้วพบว่า Automation ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทย และที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยไม่ปลดแรงงาน แต่จะให้แรงงานทำงานร่วมกับเครื่องจักร
(1) Automation อย่างการนำหุ่นยนต์มาใช้ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการในไทย ระบบดังกล่าวใช้เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานมา 5 - 10 ปีแล้ว เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์เพราะไม่สามารถหาแรงงานได้ มีความเสี่ยงที่แรงงานต่างด้าวที่จะอาจย้ายกลับประเทศ รวมถึงค่าแรงที่เพิ่มขึ้น
2) จาก Enterprise Survey ที่จัดทำโดยธนาคารโลก พบว่าแม้บริษัทที่ใช้ Automation ในไทยยังมีจำนวนไม่มาก แต่กระจุกอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งมีอัตราการใช้หุ่นยนต์ต่อแรงงานสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก สอดคล้องกับ Boston Consulting Group ที่รายงานว่าไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับค่าจ้างที่ยังไม่สูงนัก สาเหตุหลักมาจากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ต่างชาติมาลงทุนในไทย โดยหุ่นยนต์เข้ามาช่วยงานที่เสี่ยงต่ออันตราย เช่น การเชื่อมเหล็ก พบว่าในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยใช้หุ่นยนต์ถึง 8.6 ตัวต่อแรงงาน 100 คน อยู่ในระดับที่ 9 ของโลก ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกาที่ใช้ 12 ตัวต่อแรงงาน 100 คน แต่หากรวมทุกอุตสาหกรรมแล้วไทยยังใช้หุ่นยนต์ต่อแรงงานในปริมาณที่น้อยโดยน้อยกว่าญี่ปุ่นราว 10 เท่า
(3) จากการสอบถามผู้ประกอบการไทย ที่ผ่านมาการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยมักไม่มีการปลดคนงานและเน้นการใช้แรงงานทำงานร่วมกับเครื่องจักร เพราะ Automation บางส่วนมีความซับซ้อนไม่มาก นำมาใช้ทดแทนงานที่ไม่เป็นที่ต้องการของแรงงานไทย เช่น การหยิบจับและขนส่งสินค้า
แม้ที่ผ่านมา ไทยยังไม่เกิดการปลดคนงานจากการนำหุ่นยนต์มาใช้ และคงไม่มีใครฟันธงได้ว่าจะมีการปลดคนงานครั้งใหญ่ในอนาคตหรือไม่ แต่ที่ตอบได้แน่ๆ คือ
ไทยคงไม่สามารถนิ่งนอนใจกับกระแสนี้ได้ เพราะเห็นแล้วว่าที่ผ่านมาไทยมีศักยภาพในการนำหุ่นยนต์มาใช้ และราคาหุ่นยนต์จะปรับลดลงพร้อมเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้การนำหุ่นยนต์มาใช้ไม่จำกัดในบางสาขาการผลิตอีกต่อไป ซึ่งหากกระแสนี้มาแรงจริง ความกังวลที่น่าจะเกิดขึ้นคือ แม้ผู้ประกอบการจะไม่ปลดคนงานออก แต่อาจหยุดหาคนทำงานในตำแหน่งที่สามารถใช้หุ่นยนต์มาแทนที่ ซึ่งอาจทำให้บัณฑิตจบใหม่บางสาขาที่เรียนอยู่ในระบบการศึกษาแบบเดิมๆ หางานทำได้ยากขึ้น สอดคล้องกับการนำการศึกษาของ Frey & Osborne ที่ศึกษาโอกาสถูกแทนที่ของแรงงานในสหรัฐอเมริกา เมื่อประยุกต์กับตลาดแรงงานไทยแล้วพบว่า ผู้จบใหม่เป็นกลุ่มที่ถูกกระทบมากที่สุดเนื่องจากยังขาดทักษะเฉพาะทางแต่ความเสี่ยงจะลดลงเมื่อประสบการณ์และอายุเพิ่มขึ้น
ไทยสามารถเตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์นี้ได้ โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาระดับการศึกษาและทักษะของแรงงานที่ต้องตอบโจทย์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เนื่องจากแรงงานที่มีการศึกษาและทักษะสูงจะมีโอกาสถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีน้อยกว่า โดยไทยสามารถประยุกต์แนวพัฒนาระดับการศึกษาและทักษะแรงงานจากกรณีศึกษาของต่างประเทศได้ ดังนี้
(1) นอกจากการเน้นพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวะแล้ว ไทยควรเน้นสร้าง High Qualified Professionals ในระดับปริญญาทั้งตรี โท และเอก ในสาขาที่สนับสนุนการทางานร่วมกับ Automation ที่ไทยยังขาดแคลน เช่น ผู้พัฒนาซอฟแวร์ ดังเช่นเกาหลีใต้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นในการใช้หุ่นยนต์สูงสุดในโลก แต่การจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาในทุกสาขา และผลักดันการสร้างนักเรียนในระดับปริญญาโทและเอกในหลายอุตสาหกรรม โดยการศึกษาในไทยพบว่ากลุ่มที่ไม่มีการศึกษามีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่มากกว่ากลุ่มที่จบปริญญาถึงร้อยละ 15
(2) จัดระบบการเรียนรู้ในห้องเรียนควบคู่กับการลงมือทำงานจริงในทุกมหาวิทยาลัยที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการทางานจริงให้กับแรงงานจบใหม่ โดยนายจ้างมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตรการสอน และออกข้อสอบเพื่อประเมินผลทักษะของแรงงานเหมือนกับ Dual System of Education ที่เยอรมนี
(3) ก่อตั้งสถาบันพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีของประเทศควบคู่กับการปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานทุกช่วงอายุให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลดข้อจำกัดด้านการขาดแคลนแรงงานทักษะของไทย รวมถึงเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายอุตสาหกรรมไทยในอนาคต (New S-curve) ดังเช่นที่อินเดียมีนโยบาย National skill Development และสิงคโปร์มีโครงการ Continuing Education and Training (CET)
(4) เน้นการสร้างแรงงานภาคบริการที่มีทักษะทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์เฉพาะในสาขาที่ประเทศต้องการและมีแนวโน้มจะขาดแคลนในอนาคต เช่น คนดูแลผู้สูงอายุ เพราะแรงงานในภาคบริการที่ต้องใช้ทักษะทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์มีความเสี่ยงที่จะถูก Automation ทดแทนน้อยกว่าภาคการผลิต เพราะทักษะทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีทำแทนไม่ได้
อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ที่กระแสคำทำนายว่าแรงงานถูกทดแทนด้วย Automation อาจไม่เกิดขึ้นจริงหรือแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะยังมีความคุ้มทุนของผู้ประกอบการ กฎระเบียบที่จะออกมาจะช่วยจัดการการทำงานระหว่างแรงงานร่วมกับหุ่นยนต์ รวมถึงสหภาพแรงงานต่างๆ ที่จะต่อรองกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับไทยในตอนนี้ คือ ต้องเริ่มวางระบบการพัฒนาระดับการศึกษาและทักษะของแรงงานตั้งแต่วันนี้ เรื่องนี้ยังทันเวลา อย่าปล่อยให้อีก 10 ปีข้างหน้าคนไทยยังพูดวนในประเด็นเดิม