​ดร. นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ


ในยุคปัจจุบันที่คนไทยกว่าร้อยละ 99 มีงานทำแต่ก็หวาดระแวงว่าอาจถูกหุ่นยนต์มาแย่งงานได้ทุกเมื่อนี้ ปัญหาของตลาดแรงงานไทยอยู่ที่การขาดคุณภาพมากกว่าปริมาณ นายจ้างยังประกาศชัดว่าพร้อมจ้างถ้าได้แรงงานที่มือถึงมีทักษะความสามารถ และใจถึงพร้อมทุ่มเท แรงงานเองก็ยอมรับว่าต้องพัฒนาตนเองแต่ติดขัดทั้งเวลาและทุนทรัพย์ ภาครัฐจึงต้องขบคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเร่งยกระดับคุณภาพของแรงงานเพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างราบรื่น

เมื่อถกถึงปัญหาเรื่องงานแล้ว อดไม่ได้ที่จะมองย้อนกลับไปถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในอดีต ซึ่งมีตัวอย่างคำขวัญยอดนิยมเมื่อเกือบหกทศวรรษที่ผ่านมาว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” เป็นเครื่องสะท้อนถึงความแตกต่างของปัญหาว่าตลาดแรงงานในยุคนั้นประสบกับการขาดแคลนเชิงปริมาณ ภาครัฐจึงปลุกเร้าให้คนไทยลุกขึ้นมาทำงาน โดยประชาสัมพันธ์ว่างานจะเป็นบ่อเกิดของความสุข จึงขอเรียนเชิญทุกท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมองว่าคำขวัญดังกล่าวจะยังเหมาะสมอยู่หรือไม่ และควรใช้คำขวัญใดสำหรับตลาดแรงงานยุคนี้

ขอเริ่มต้นในมุมของผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการทำงาน คือ ความสุข ซึ่งในเมื่อคำขวัญดังกล่าวยึดโยงความสุขเข้ากับสื่อกลางคือเงิน จึงอาจตีความได้ว่าเป็นความสุขที่ซื้อได้ด้วยเงิน หรือความสุขจากการบริโภค โดยการศึกษาของ อภิรดี วงศ์กิจรุ่งเรือง, นครินทร์ อมเรศ และนันทนิตย์ ทองศรี (2562) สะท้อนว่าการอยู่ดีมีสุขของผู้บริโภคมีความหมายกว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่ความพึงพอใจเบื้องต้นจากการบริโภคไปจนถึงความพึงพอใจในชีวิตแบบองค์รวม และได้แบ่งการอยู่ดีมีสุขออกเป็นหลายมิติด้วยการจัดหมวดหมู่ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ อาทิ ความพึงพอใจในตนเอง ความสุขจากการอยู่ร่วมกับครอบครัวและสังคม ตลอดจน ความทุกข์ใจในชีวิต โดยพบว่าปัจจัยสามด้านที่กำหนดการอยู่ดีมีสุขของผู้บริโภค คือ

ด้านสถานภาพส่วนตัว ผู้หญิงมีความสุขน้อยกว่าผู้ชาย หัวหน้าครอบครัวมีความสุขน้อยกว่าลูกบ้าน การมีอายุมากขึ้นและการสมรสทำให้แรงงานมีความสุขมากขึ้นในภาพรวม ขณะที่การมีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นทำให้มีความสุขจากการอยู่ร่วมกับครอบครัวมากขึ้นแต่ก็ทำให้มีความทุกข์ใจในชีวิตมากขึ้นด้วย

ด้านการบริโภค เม็ดเงินที่ใช้จ่ายสำหรับค่าอินเทอร์เน็ตและกิจกรรมต่าง ๆ มีส่วนทำให้มีความสุขมากกว่าเม็ดเงินที่ใช้จ่ายในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจช่วยให้แรงงานมีความพึงพอใจในตนเองมากขึ้นแต่ทำให้ความสุขกับการอยู่ร่วมกับครอบครัวลดลง และน่าสนใจว่าเมื่อใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นกลับทำให้ความสุขลดลง

ด้านการงาน การทำงานในภาคธุรกิจที่มีจ้างงาน ทุนทรัพย์และผลิตภาพรวมสูงทำให้แรงงานมีความสุขมากขึ้น ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้นทำให้ความพึงพอใจในตัวเองลดลง และน่าแปลกใจมากว่าการทำงานในภาคธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นกลับทำให้ความสุขจากการอยู่ร่วมกับสังคมลดลงแม้จะมีความทุกข์ใจลดลงก็ตาม

ผลการศึกษานี้จึงแสดงให้เห็นว่างานอาจจะคือเงิน แต่อาจจะไม่ได้บันดาลสุขได้สมดังความคาดหวังของผู้กำหนดคำขวัญในอดีต ซึ่งอาจอธิบายได้ด้วยการอาราธนาธรรมนิพนธ์เรื่อง “ธรรมมะกับการทำงาน” ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ที่ว่า ต้องให้งานก็เป็นความสุขด้วย เงินก็เป็นความสุขด้วย โดยความสุขมีทั้งในส่วนตนและประโยชน์สุขส่วนรวม ซึ่งถ้าเราวางใจได้ถูกต้อง ในที่สุดแล้วงานเป็นความสุขอยู่ในตัว แล้วเงินก็มาแถมมาเติม มาเสริมสุขให้มากยิ่งขึ้น

โดยสรุปแล้ว คำขวัญยอดนิยมนี้อาจไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ของตลาดแรงงานเช่นเดียวกับที่เคยทำได้ในอดีต เพราะความสุขของแรงงานไม่ได้ขึ้นกับเงินหรือปริมาณการบริโภคเพียงอย่างเดียว จึงขอทิ้งท้ายด้วยคำขวัญใหม่ที่ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพ ได้เคยใช้เป็นชื่องานเขียนก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งซึ่งเสนอทางออกได้อย่างกลมกล่อมว่า “เศรษฐกิจ จิตใจ แก้ไขพร้อมกัน”

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย