นางวิเรขา สันตะพันธุ์
เราทราบกันดีแล้วว่าอุทกภัยที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปี มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจปกติของผู้ประกอบการ และการใช้ชีวิตของพนักงานจำนวนมาก ที่ทำงานในธุรกิจต่างๆ ทั้งบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยตรงที่ต้องหยุดการดำเนินงานไปในระยะหนึ่ง หรือ บริษัทที่ต้องเตรียมการเฝ้าระวัง และหลายแห่งต้องลดปริมาณการผลิตลง ซึ่งมีผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการ และพนักงานของกิจการในวงกว้าง ดังนั้น ในช่วงนี้ที่น้ำเริ่มทยอยลดลงแล้ว ก็คงต้องมีกิจกรรมที่ต้องเริ่มสะสางเพื่อให้สามารถกลับมาทำธุรกิจและใช้ชีวิตได้ตามปกติ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็เริ่มออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบแก่ลูกหนี้ผู้ประสบอุทกภัย ทั้งกิจการที่มีขนาดใหญ่ SME หรือประชาชนที่เป็นลูกหนี้รายย่อยในหลายรูปแบบด้วยกัน
ลูกหนี้ผู้ประสบอุทกภัย ควรเริ่มสำรวจและประเมินค่ำความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน เครื่องจักร อาคารสำนักงาน โรงงานของตนเอง รวมทั้งพิจารณาแนวทางการดำเนินการฟื้นฟูกิจการให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ดังเดิม ส่วนลูกหนี้ที่เป็นประชาชนก็คงต้องเริ่มสำรวจ บ้านที่พักอาศัย สิ่งจำเป็นต่างๆ ว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงไรก่อน แล้วค่อยประมาณค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น จากการซ่อมแซม หรือ จัดหาสิ่งจำเป็นใหม่เพื่อชดเชยของที่ได้รับความเสียหายไปแล้ว ต่อจากนั้นคงต้องเริ่มคิดว่า จะจัดหาเงินทุนมาใช้ในการซ่อมแซม หรือ ซื้อของทดแทนนั้นจากทางใด นอกเหนือจากที่ทางการได้ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวที่ประสบภัยไปบ้างแล้ว
หากลูกหนี้จำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติม ก็ควรสำรวจภาระหนี้เดิมที่มีอยู่ด้วยว่า หากมีการกู้ยืมเงินใหม่แล้ว จะมีแผนการชำระหนี้อย่างไร จะใช้เวลาในการชำระหนี้เดิมและหนี้ใหม่คืนทั้งหมดได้เมื่อใด การกู้ยืมเงินนั้นลูกหนี้จะมีต้นทุนเสมอ อย่าลืมพิจารณากู้ยืมเงินเฉพาะที่ไม่เกินกำลังความสามารถในการชำระหนี้ ของตนเองนะคะ ซึ่งอาจต้องเริ่มพิจารณารายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นเป็นประจำในแต่ละเดือน แม้ ธปท. จะมีการผ่อนผันเป็นการชั่วคราวให้สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบการที่มิใช่สถาบันการเงินที่เรามักเรียกกันว่า Non-bank สามารถให้กู้ยืมเงินผ่านการใช้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลได้เกินกว่า 5 เท่าของรายได้ไปจนถึง 31 มิถุนายน 2555 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัยที่จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ แต่ลูกหนี้ก็ควรคิดคำนึงถึงภาระเงินต้นดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่จะต้องชำระคืนในอนาคตด้วยนะคะ
ในช่วงนี้จะพบว่า ธนาคารพาณิชย์ Non-bank และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีการออก ผลิตภัณฑ์ และมาตรการการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งมีการให้บริการสินเชื่อใหม่ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษในหลายรูปแบบทั้งระยะสั้น และ ระยะยาว ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตามนโยบายของแต่ละแห่ง ลูกหนี้จึงจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขการจ่ายชำระเงิน และเปรียบเทียบข้อเสนอของหลายๆ สถาบันเป็นทางเลือก ซึ่งตอนนี้ลูกหนี้ก็สามารถเข้าดูมาตรการต่างๆ ของแต่ละสถาบันได้จาก website หรือสอบถามรายละเอียด จาก call center ของแต่ละแห่ง แต่ที่ง่ายที่สุดในขณะนี้ คือเข้ามาใน website ของ ธปท. ที่ http://www.bot.or.th/ ภายใต้หัวข้อ “มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบภัยน้าท่วม” ซึ่งได้รวบรวมมาตรการการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้แต่ละประเภทของสถาบันการเงิน Non-bank และ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รวมทั้งหมายเลขติดต่อของ call center ของแต่ละแห่งมาเผยแพร่ไว้ด้วยกัน เพื่อให้ลูกหนี้สามารถศึกษารายละเอียดและเปรียบเทียบได้โดยสะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้ ท่านใดที่มีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือก็สามารถติดต่อมาที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของ ธปท. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2283-5900 ได้ด้วยนะคะ
การศึกษารายละเอียดของเงื่อนไขต่างๆ ที่ระบุในมาตรการการให้ความช่วยเหลือของแต่ละ สถาบันนั้น ลูกหนี้ควรต้องใช้เวลาในการพิจารณา และทำความเข้าใจอย่างละเอียดว่าเหมาะสม และ สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ เช่น เงื่อนไขการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้น หรือ ดอกเบี้ย นั้น หมายถึง เป็นการเลื่อนระยะเวลาเดิมที่ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ออกไประยะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งลูกหนี้ยังมีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยที่คิดด้วยอัตราเช่นเดิม ซึ่งจะต่างจากเงื่อนไขที่ระบุว่ามีการลดอัตราดอกเบี้ยให้ นะคะ
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้แม้จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตปกติของพวก เรา แต่ปัญหาและอุปสรรคทุกอย่างย่อมมีทางออก หากเราไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ จึงขอให้ลูกหนี้ผู้ประสบอุทกภัยค้นพบโอกาส และสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ด้วยดีนะคะ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย