10 ปีเศรษฐกิจไทย: ก้าวต่อไปในทศวรรษหน้า

นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์
ฝ่ายนโยบายการเงิน


หากเปิดโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ จะเห็นหลาย ๆ คนโพสต์ภาพเปรียบเทียบหน้าตัวเองในปัจจุบันเทียบกับสิบปีก่อน พร้อมติดแฮชแท็ก #10YearChallenge กันมากมาย ในฐานะที่ผู้เขียนติดตามภาวะเศรษฐกิจไทย ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงอยากชวนผู้อ่าน มองดูพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยว่าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มองต่อไปในอนาคตว่าหน้าตาของเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร รวมถึงจะมีวิธีการอย่างไรที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อลองเทียบเศรษฐกิจไทยปี 2551 กับ ตัวเลขล่าสุดปี 2560 ตามตารางด้านล่าง จะพบว่าภายในเวลา 10 ปี มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP (มูลค่าที่แท้จริง) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 7.7 ล้านล้านบาท เป็น 10.2 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 3.25 ต่อปี ขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากรก็เพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน คือเพิ่มจาก 12,197 บาทต่อเดือน มาอยู่ที่ 18,618 บาทต่อเดือน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.26 ต่อปี จึงถือว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีและประชาชนในภาพรวมก็มีรายได้ดีขึ้น

ส่วนภาพเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไรนั้นในไม่กี่วันข้างหน้านี้ ภาครัฐจะประกาศตัวเลข GDP ปี 2561 อย่างเป็นทางการ ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 4.0 - 4.7 (รวบรวมโดย Consensus Economics Inc. เดือนธันวาคม 2561) ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 และอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ร้อยละ 3 หรือคิดเป็นรายได้ต่อหัวของประชากรที่ประมาณ 19,400 บาทต่อเดือน โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่สามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวถึงร้อยละ 5 ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบกว่า 5 ปี

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหมูนี้ หน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจต่าง ๆ เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลงเล็กน้อย โดย ธปท. คาดว่า GDP จะเติบโตลดลงจากปีก่อนที่ร้อยละ 4.2 มาเป็นร้อยละ 4.0 (อ้างอิงจากรายงานนโยบายการเงิน ฉบับธันวาคม 2561) โดยการส่งออกสินค้าไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ตามรายได้นอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น การย้ายฐานการผลิตมาไทย รวมถึงมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

เมื่อท่านผู้อ่านได้ทราบถึงพัฒนาการเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ประเด็นถัดมาที่น่าสนใจคือ จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง หากวิเคราะห์ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ประกอบด้วยปัจจัยแรงงาน ปัจจัยทุน (เช่น เครื่องจักรในการผลิตต่าง ๆ) และผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) ซึ่งก็คือผลผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ได้มาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงานหรือทุน (เช่น แผนบริหารจัดการองค์กรที่ดีขึ้น เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยขึ้น หรือ ความสามารถของแรงงานที่สูงขึ้น) โดยเมื่อวิเคราะห์แต่ละปัจจัยพบว่า

(1) กำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้กำลังแรงงานลดลงจากที่เคยขยายตัวประมาณร้อยละ 2 เมื่อ 10 ปีก่อน กลับมาหดตัวที่ร้อยละ 0.4 ในปี 2560 ซึ่งการจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนภายใต้ภาวะกำลังแรงงานที่มีอยู่จำกัดเช่นนี้ สิ่งสำคัญคือต้องหาวิธียกระดับการใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงพัฒนาคุณภาพแรงงานผ่านการลงทุนในการศึกษาและพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ

(2) ปัจจัยทุนเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ สะท้อนจากสัดส่วนการลงทุนรวม (ทั้งของภาครัฐและเอกชน) ต่อ GDP และอัตราการเพิ่มของสต๊อกทุน (Capital Stock) ในปี 2560 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 แสดงว่าบทบาทของการลงทุนต่อการขยายตัวของ GDP ในระยะหลังมีน้อยลง ดังนั้น ในระยะต่อไป หากภาครัฐและเอกชนลงทุนมากขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยภาครัฐควรเน้นการลงทุนที่มีคุณภาพ คือลงทุนไปแล้วก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสามารถจูงใจให้ภาคธุรกิจตัดสินใจลงทุนตามได้

(3) ผลิตภาพการผลิตรวม (TFP) มีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยดัชนีชี้วัดผลิตภาพรวม (TFP) ของ Asian Productivity Organization สะท้อนว่า TFP ของไทยเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อนที่ 128.5 มาอยู่ที่ 147.5 สะท้อนว่าในระยะหลัง TFP มีบทบาทต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ดังนั้นการเพิ่ม TFP จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งทางเลือกทางหนึ่งในการเพิ่ม TFP คือควรเพิ่มการลงทุนที่มีคุณภาพ คือต้องเน้นลงทุนในด้านพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงลงทุนยกระดับการศึกษาและคุณภาพแรงงาน มาช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตให้เพิ่มขึ้น

โดยสรุป ภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถือว่าปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ดี เพื่อให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง จำเป็นต้องยกระดับปัจจัยการผลิตทั้ง 3 ตามที่ได้กล่าวข้างต้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในด้านความต่อเนื่องของนโยบายและการดำเนินนโยบายในเชิงปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>​​​