ท่ามกลางบรรยากาศเฉลิมฉลองไม่เต็มที่จากความกังวลต่อโอมิครอน ในสัปดาห์แรกของปีนี้หลายคนอาจ work from home กันอีกครั้ง แต่ไม่ใช่กับปัญหาเร่งด่วนที่รอไม่ได้ ผู้เขียนได้รับเกียรติร่วมลงพื้นที่ศึกษาเชิงลึกถึงความเป็นอยู่ของพ่อแม่พี่น้องกลุ่มที่ภาครัฐระบุให้รับสวัสดิการเพราะมีรายได้น้อยหรือมีเงื่อนไขความชรา เจ็บป่วย หรือพิการ การได้เข้าถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงและเข้าใจวิถีการทำงานของส่วนกลางและท้องถิ่นเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดบทความชุดนี้ โดยหยิบยืมชื่อจากการ์ตูนชุดของราชาการ์ตูนไทย ประยูร จรรยาวงษ์ ซึ่งถูกจัดอยู่ในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน

Pile of coins and miniature people on the chessboard.

เมื่อพูดถึงขบวนการ เรามักนึกถึงการรวมกันเฉพาะกิจของคนหลายพื้นเพโดยมีข้อตกลงชัดเจนว่าจะบรรลุภารกิจบางประการ ในกรณีนี้ เป้าหมายตามตัวอักษร คือ แก้จน ส่วนการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ขอบเขต ตลอดจน วิธีทำให้เกิดขึ้นจริงนั้นจะขอยกไว้ก่อน ในครั้งนี้ขอเกริ่นนำถึงบทบาทหน้าที่ โดยเปรียบเทียบกับการจัดกระบวนทัพ ดังนี้

ขุนพล : ทัพหน้าของสงครามครั้งนี้ย่อมเป็นทีมงานในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งน่าชื่นใจว่ามีความตระหนักถึงความเข้มข้นของสถานการณ์ และมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการทำงานร่วมกัน ทั้งในส่วนของนักปกครอง นักพัฒนาชุมชน อาสาสมัครประจำหมู่บ้านต่าง ๆ ผู้แทนจากทุกกรมกองในพื้นที่ ผู้นำชุมชน บุคลากรด้านสาธารณสุขและการศึกษา รวมถึงสภาธุรกิจและคหบดี คำถามชวนคิด คือ ขบวนการแก้จนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความเข้าใจเชิงพื้นที่ของขุนพลเหล่านี้แล้วหรือไม่ พวกเขาได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องไม้เครื่องมือจากส่วนกลางเพียงพอ มีช่องทางสื่อสารประสานงานกับส่วนกลางได้อย่างคล่องตัวมากน้อยเพียงใด ตลอดจน ได้รับโอกาสให้ผนึกกำลังกับพื้นที่อื่นได้แค่ไหน

เสนา : คนไกลจากส่วนกลางอาจไม่เห็นความเป็นจริงได้ถ่องแท้และทันท่วงที แต่การมองภาพรวมเพื่อประมวลสถานการณ์ทั้งกระดาน บริหารจัดการกำลังพลตามน้ำหนักความรุนแรง ตรวจสอบติดตามการดำเนินการ และนำบทเรียนจากพื้นที่หนึ่งไปประยุกต์ใช้กับที่อื่นภายใต้บริบทใกล้เคียงกัน นับว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน หน่วยงานด้านนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนำโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ดำเนินการทั้งห่วงโซ่การทำงานตั้งแต่กำหนดแผนระดับนโยบาย กลั่นกรองแผนระดับปฏิบัติการ ประสานงานเชิงกลยุทธ์ และที่สำคัญได้พัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ Thai People Map and Analytics Platform - TPMAP ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC สำหรับเป็นอาวุธสำคัญในการพลิกโฉมการศึก นอกจากนี้ คลังสมองของประเทศ คือ สภาการวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนโครงการวิจัยเรื่องนโยบายและมาตรการเพื่อรองรับและป้องกันผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน ให้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอีกด้วย

ขุนคลัง : เสบียงกรังไม่เพียงจะหล่อเลี้ยงกองทัพแต่นับเป็นยุทธปัจจัยหลักในการแก้จน จึงมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าสงครามนี้จะจบลงหากกระจายเม็ดเงินลงไปเพียงพอและทั่วถึง ข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้การหว่านแหปูพรมไม่อั้นนั้นเป็นไปไม่ได้แม้แต่ในประเทศมหาอำนาจที่ร่ำรวย นอกจากนี้ การให้แต่เงินอาจก่อแรงจูงใจที่ผิดให้ไม่พัฒนาตน ขณะที่ หลายต้นตอของความยากจนไม่อาจแก้ได้ด้วยเงิน เช่น ภาวะสังคมสูงวัย ครอบครัวแหว่งกลาง การเข้าไม่ถึงการศึกษา เป็นต้น หน่วยงานเศรษฐกิจนำโดยกระทรวงการคลัง ต้องชั่งน้ำหนักและลำดับการจัดสรรงบประมาณให้เกิดผลและคุ้มค่า

กองทัพพรั่งพร้อมด้วยขุนพลท้องที่ เสนาส่วนกลาง และขุนคลังคุมเงิน แต่โจทย์สำคัญ คือ แก้จนอย่างไรให้ยั่งยืน


ผู้เขียน :
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด"
นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 15 มกราคม 2565



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย