ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน
เป็นที่น่าสังเกตว่าบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยขาดดุล หรือมีเงินทุนไหลออกสุทธิค่อนข้างมากมาตั้งแต่ปี 2557 ปรากฏการณ์ครั้งนี้แตกต่างไปจากการขาดดุลบัญชีเงินทุนในช่วงหลังวิกฤตค่าเงินบาทปี 2540 ที่เงินทุนต่างชาติไหลออกสุทธิต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินให้กู้ เพราะต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้เงินบาทยิ่งอ่อนค่าลง แต่การขาดดุลบัญชีเงินทุนของไทยที่เห็นในวันนี้ กลับมาจากเงินทุนของคนไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าเงินทุนของต่างชาติที่ไหลเข้าไทย และที่น่าสนใจคือภาพนี้เกิดขึ้นกับการลงทุนทั้ง 3 รูปแบบ คือ เงินลงทุนทางตรง เงินลงทุนในหลักทรัพย์ และเงินลงทุนอื่น เช่น เงินให้กู้ เงินฝาก จึงน่าคิดว่าสิ่งนี้กำลังบอกอะไรเราอยู่
1. การขาดดุลบัญชีเงินทุนในตอนนี้ สะท้อนว่าประเทศไทยมีสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น มีหนี้สินต่างประเทศลดลง ทำให้ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศของไทยแข็งแกร่งขึ้น
1.1 สินทรัพย์ต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้น จากการที่ธุรกิจไทยลงทุนทางตรงในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อขยายตลาดหรือฐานการผลิต ลงทุนในกิจการใหม่ จนมีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ราว 2 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 จากรายงานการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยปี 2561 พบว่ามีบริษัทจำนวนไม่น้อยคิดเป็นร้อยละ 44% และ 62% ของบริษัททั้งหมดใน SET (ตลาดสำหรับบริษัทใหญ่) และ MAI (ตลาดสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม) ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ โดยเม็ดเงินลงทุนสูงขึ้นจากปีก่อนมากถึง 58% และ 29% ตามลำดับสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15% และ 5% ของรายได้รวม ตามลำดับ
นอกจากนี้ คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น หุ้น พันธบัตร รวมถึงการฝากเงินในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ หลัง ธปท. ทยอยผ่อนกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกให้นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนรายย่อยได้มีโอกาสกระจายความเสี่ยงและแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากช่องทางการลงทุนที่เปิดกว้างขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนในหลักทรัพย์และเงินฝากต่างประเทศเฉลี่ยกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
1.2 หนี้สินต่างประเทศของไทยลดลง โดยเฉพาะจากการที่นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ไทย พฤติกรรมของกระแสเงินทุนต่างชาติประเภทนี้ค่อนข้างจะผันผวน เงินทุนนี้เคยไหลเข้าไทยมากเพราะธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักทำนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษหลายระลอกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2551 จนมีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่สุดท้ายก็จะไหลกลับไปในยามที่ประเทศเศรษฐกิจหลักเริ่มปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นหรือมีแหล่งลงทุนอื่นที่น่าสนใจกว่า เช่นในปี 2561 ที่ไหลออกสุทธิประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
1.3 ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศของไทยดีขึ้น แม้ประเทศไทยยังคงมีสถานะเป็นผู้รับเงินทุนสุทธิเหมือนประเทศกำลังพัฒนาอื่น แต่ก็เป็นผู้รับเงินทุนสุทธิน้อยลงมากจากเกือบ 30%ของ GDP ในปี 2548 เหลือเพียง1% ของ GDP ในปี 2561
2. เงินทุนของคนไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นช่วยลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าจากดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศที่เกินดุลสูงตั้งแต่ปี 2557 และจากกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นได้ในบางจังหวะ จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิไปกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยให้กระแสเงินทุนเข้าออกระหว่างประเทศในดุลการชำระเงินของไทยสมดุลมากขึ้น (ดุลการชำระเงิน = ดุลบัญชีเดินสะพัด + ดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย)
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและดุลบัญชีเงินทุนขาดดุล กำลังสะท้อนภาพใหญ่ของประเทศที่มีเงินออมเหลือใช้และนำเงินออมไปหาประโยชน์ในต่างประเทศ ถ้าดูเผินๆ ก็อาจคล้ายประเทศพัฒนาแล้วบางแห่ง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ที่ประเทศมีรายได้สูงเกินความต้องการใช้จ่ายบริโภคและลงทุนในประเทศ แต่สิ่งที่ต่าง คือ (1) ประเทศเหล่านี้มีฐานะการลงทุนระหว่างประเทศเป็นผู้ให้เงินทุนสุทธิ มีสินทรัพย์ต่างประเทศสะสมมากกว่ายอดหนี้สินต่างประเทศ (2) การลงทุนต่างประเทศที่สร้างผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในประเทศ ส่งผลให้มีรายได้จากการลงทุนต่างประเทศในรูปดอกเบี้ย ผลกำไร หรือเงินปันผลไหลกลับเข้าประเทศมาก สร้างความมั่งคั่งให้คนในประเทศจากการกระจายการลงทุนและสามารถนำผลตอบแทนกลับมาใช้จ่ายและลงทุน รายได้ประชาชาติต่อหัวยิ่งเติบโตขึ้น
ขณะที่กรณีประเทศไทย ภาพรวมเงินออมเหลือใช้ของประเทศอาจกำลังสะท้อนระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่ต่ำเกินไป และอาจกำลังสะท้อนการกระจายรายได้ที่กระจุกตัวในธุรกิจขนาดใหญ่หรือคนกลุ่มบนในระบบเศรษฐกิจที่มีโอกาสกระจายเงินลงทุนในต่างประเทศ จึงเป็นความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไปในการจัดสรรเงินออมเหลือใช้นี้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวมมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างโอกาสให้ธุรกิจรายเล็กและคนระดับล่างในระบบเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น จากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต การดูแลให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม และการสนับสนุนให้นักลงทุนรายย่อยมีทางเลือกเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนจากรายได้ของทุกภาคส่วนและก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) ที่กำลังเผชิญอยู่ได้ในที่สุด
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย