ดร. นครินทร์ อมเรศฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ



หลังไวรัสโคโรนา 2019 ได้แพร่ระบาดในโลกมาราวครึ่งปี จุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดขยับเขยื้อนเคลื่อนที่จากเมืองอู่ฮั่นของจีน มาสู่กลุ่มประเทศยุโรป ก่อนที่ประเทศสหรัฐฯ จะเข้าป้ายเป็นแชมป์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ในด้านบวก ประเทศนิวซีแลนด์ได้ประกาศชัยชนะเหนือโควิด-19 และประกาศยุติการล็อกดาวน์ที่ดำเนินการมาอย่างเข้มงวดเกือบสามเดือน หลังพบว่าไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อหลงเหลือในประเทศแล้ว โดยคุณจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีคนสวยได้ยอมรับว่าถึงกับดีใจจนแดนซ์เล็ก ๆ ทันทีที่ทราบข่าวดีนี้ สำหรับไทยเอง พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้แถลงพร้อมชูมือเป็นเลขศูนย์สะท้อนการไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยในวันที่ 11 มิ.ย. ก่อนจะชูใจผู้รับชมว่าขอให้เก็บความสุขนี้ไว้ในใจ และยังต้องระมัดระวังอย่าให้การ์ดตก
"ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แรงงานไทยเหล่านี้มีความยืดหยุ่นสามารถหางานใหม่ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในสายอาชีพเดิมอีกต่อไป คือ การเปิดโอกาสให้แรงงานสามารถปรับตัวให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน"

ความเข้มแข็งของภาคสาธารณสุขดูจะสวนทางกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการจ้างงานที่มีตัวเลขการคาดการณ์ผู้ว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ถึงหลายล้านราย จึงขอเชิญทุกท่านมาร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองว่าเราขาดสิ่งใด ที่จะทำให้คนไทยเข้มแข็งในมิติเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับด้านการแพทย์ โดยขอเริ่มต้นจาก ข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้กระทบต่อหลากหลายสาขาอาชีพที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ และที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่กล้าใช้จ่ายภายใต้ความไม่แน่นอนเช่นนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แรงงานไทยเหล่านี้มีความยืดหยุ่นสามารถหางานใหม่ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในสายอาชีพเดิมอีกต่อไป คือ การเปิดโอกาสให้แรงงานสามารถปรับตัวให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

เครื่องมือที่ใช้โดยทั่วไปในการค้นหาคำตอบ คือ ผลการศึกษาวิจัย แต่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการนโยบายการเงิน เคยกล่าวไว้ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของ ธปท. ว่างานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของไทยส่วนใหญ่ทุ่มเทพื้นที่ให้กับการใช้เครื่องมือทางวิชาการประมาณและประเมินผลกระทบแต่จัดสรรพื้นที่ให้กับการเสนอทางออกไม่มากนัก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ผลงานวิจัยล่าสุดของคุณกัมพล พรพัฒนไพศาลกุล เรื่อง Labor Market Digital Transformation: หนทางต้านวิกฤต ในรายงาน FOCUSED AND QUICK (FAQ) 171 ของ ธปท. เร็ว ๆ นี้ ได้ดำเนินการตามแนวทางของ ดร.เศรษฐพุฒิ คือ ใช้เนื้อหาถึงสองในสาม เพื่อเสนอรูปแบบกลไกการจัดการให้แรงงานไทยสามารถยกระดับและปรับทักษะ หรือ upskill และ reskill

การศึกษาชิ้นนี้ ได้ประมวลแนวทางจากตัวอย่างต่างประเทศเข้ากับประสบการณ์เชิงลึกของผู้ดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาทักษะทั้งจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้แทนกรมการจัดหางาน รวมถึงสภาหอการค้าไทย ซึ่งเป็นฝ่ายที่เข้าใจความต้องการแรงงานในตลาดเป็นอย่างดี ตลอดจน ผู้แทนจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าหัวใจสำคัญของทางออก คือ การยกระดับการจัดการด้านแรงงานที่ดีบนความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการช่วยกันวางแผนด้านกำลังคนของประเทศ รวมถึงการอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงฐานข้อมูล big data เพื่อจับคู่ตำแหน่งงานและทักษะระหว่างแรงงานกับความต้องการในตลาด

ในทางปฏิบัติแล้ว สิ่งที่ไทยขาดไป คือ กลไกการจับคู่งานที่จะช่วยให้ผู้ว่างงาน และนักศึกษาจบใหม่สามารถเข้าถึงโครงการสร้างอาชีพที่ภาครัฐจัดจ้างเพิ่มขึ้นแต่กระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน และงานเอกชนทั้งชั่วคราวและประจำ ซึ่งมีแพลตฟอร์มการสมัครงานอยู่หลากหลาย ขณะที่จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าถึงแหล่งเรียนรู้พัฒนาทักษะออนไลน์ ที่มีเนื้อหาอยู่เป็นจำนวนมากได้ดียิ่งขึ้น โดยอาจใช้ตัวอย่าง Interface ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและใช้เวลาในการพัฒนาไม่มาก ของ Web Page มาตรการช่วยเหลือและข้อมูลสถาบันการเงินในสถานการณ์ COVID-19 ของ ธปท. แต่มีการเข้าถึงได้สะดวกในวงกว้าง

โดยสรุปแล้ว การสร้างโอกาสให้ผู้ว่างงานและมีความเสี่ยงที่จะว่างงานได้รับรู้ความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจน ได้เข้าถึงแนวทางการปรับตัวพัฒนาทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความคาดหวังของนายจ้าง เป็นทางออกสำคัญซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับแรงงานไทยภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แต่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้แรงงานไทยสามารถเอาตัวรอดได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>