นางสาวปัณฑา เกตุเรืองโรจน์
ทั้ง ๆ ที่เราต้องเผชิญกับมหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2554 กลับขยายตัวได้ถึงร้อยละ 16.4 เหนือกว่าคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคซึ่งขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 14.1 แต่หากพิจารณาให้ดีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีอย่างนี้เป็นผลจากปริมาณการส่งออกเพียงอย่างเดียว!! ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกกลับมีแนวโน้มชะลอลงมาตลอดเป็นเวลากว่า 2 ปีนับตั้งแต่ฟื้นจากวิกฤตการเงินโลก ซ้ำร้ายในปัจจุบันการนำเข้าน้ำมันดิบยังมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าไทยยังคงได้เปรียบทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ ในโลกอย่างแท้จริงในบทความจึงพยายามตอบคำถามนี้ โดยวิเคราะห์ถึงแนวโน้มราคาสินค้าส่งออกและราคานำเข้า ผ่านเครื่องชี้ที่เรียกว่า “อัตราการค้า” หรือ “Terms of Trade” เพื่อสะท้อนว่า สุดท้ายแล้วประเทศไทยเสียเปรียบทางการค้าหรือไม่
อัตราการค้า คือเครื่องชี้ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าของประเทศซึ่งพิจารณาได้จากอัตราส่วนระหว่างราคาสินค้าส่งออกที่ประเทศขายได้เทียบกับราคาสินค้านำเข้าที่ประเทศต้องจ่ายไป การที่อัตราการค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรือ “ดีขึ้น” สะท้อนว่าประเทศสามารถขายสินค้าให้กับประเทศอื่นได้ในราคาแพงกว่าที่ตนเองต้องจ่ายเพื่อซื้อเข้ามาจากต่างประเทศ หรือประเทศได้เปรียบทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ในทางตรงกันข้าม หากอัตราการค้ามีแนวโน้มลดลง หรือ “เลวลง” แสดงว่าประเทศขายสินค้าได้ในราคาถูกกว่าที่ตนเองต้องซื้อจากต่างประเทศ หรือเรียกได้ว่าประเทศกำลังเสียเปรียบทางการค้าให้กับประเทศอื่น ๆ ในโลก
กว่าสิบปีที่ผ่านมา อัตราการค้าของไทยเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ในกรอบแคบ ๆ ระหว่าง 95 ถึง 105 (คำนวณให้ปี 2550 เป็นปีฐาน) ซึ่งข้อมูลในอดีตชี้ว่า ราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าของไทยโดยส่วนใหญ่แล้วจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางและอัตราที่ใกล้เคียงกัน เพราะสินค้านำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในการผลิตเพื่อส่งออกอย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในยามวิกฤตอัตราการค้าของไทยมักจะมีแนวโน้มเลวลง ตัวอย่างเช่น วิกฤตดอทคอมในสหรัฐฯ ปี 2544-45 วิกฤตน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 และการก่อตัวของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปี 2551 สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากความสามารถในการส่งผ่าน Shock ต่าง ๆ ไปยังราคานำเข้าและราคาส่งออกที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราการค้าของไทยในเดือนมีนาคมล่าสุดอยู่ที่ระดับ 95.8 โดยยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆไม่ต่างจากในอดีต แต่อัตราการค้าที่ปรับเลวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2553 ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งๆที่ไม่ได้มี shock ใดๆเกิดขึ้น ทำให้ต้องฉุกคิดว่า ไทยจะกลายเป็นผู้เสียเปรียบทางการค้าต่อไปหรือไม่ !!!
อัตราการค้าในปัจจุบันชี้ชัดว่า ไทยยังคงต้องทุ่มเททรัพยากรจำนวนมาก เพื่อผลิตสินค้าส่งออกด้อยราคาแลกกับการนำเข้าสินค้าราคาแพง ไม่ต่างจากการส่งออกข้าวกว่า 400 ตันแลกกับการนำเข้ารถเบนซ์เอสคลาสเพียงคันเดียวการที่อัตราการค้ายังไม่มีทีท่าว่าจะปรับดีขึ้นเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ (1) การแข่งขันที่รุนแรงของประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรในระยะหลังปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญส่วนหนึ่งเพราะการเพาะปลูกพืชผลเกษตรไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้นประเทศต่าง ๆ ในโลกจึงสามารถ ทำการเกษตรได้อย่างไม่ยากนัก ประกอบกับการผลิตแบบต่างคนต่างทำโดยที่ไม่มีนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อควบคุมปริมาณผลผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการในตลาดโลก จึงส่งผลให้มีอุปทานสินค้าเกษตรส่วนเกินและนำไปสู่ราคาตกต่ำในที่สุด จากภาวะการแข่งขันกันส่งออกสินค้าเกษตรที่รุนแรงเช่นนี้ การจะหวังปรับราคาสินค้าเกษตรจึงเป็นไปได้ยาก (2) ราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศกำลังพัฒนามีแต่จะชะลอลง แม้ว่าสินค้าส่งออกจำพวกอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ จะยังคงขายได้ราคาสูงและเป็นที่ต้องการในตลาดโลกอยู่เสมอ แต่ไทยซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตฮารด์ดิสไดร์ฟและยานยนต์รายสำคัญของโลกกลับยังไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ เนื่องจากไทยยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการผลิตจากต่างประเทศ ดังนั้นจุดอ่อนสำคัญที่สุดที่ทำให้ไทยไม่เคยได้เป็นผู้กำหนดราคา ก็คือการขาดความสามารถในการดูดซับและพัฒนาด้านเทคโนโลยีของตนเองเพื่อผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงออกสู่ตลาด (3) ภาระต้นทุนน้ำมันดิบนำเข้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปัจจุบันไทยยังคงเป็นผู้ใช้และนำเข้าน้ำมันสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย การที่เรามีข้อจำกัดในการผลิตพลังงาน แต่ไม่เคยจำกัดการใช้พลังงานของคนในประเทศ จึงทำให้เราต้องแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันนำเข้าที่ทุกวันนี้มีแต่จะแพงขึ้น
ดังนั้นแม้ว่าการแข่งขันที่รุนแรงจากต่างประเทศจะทำให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรตกต่ำ แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตกจะทำให้ราคาน้ำมันนำเข้ายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และแม้ว่าเราไม่อาจควบคุมการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ แต่การเปลี่ยนจุดด้อยของไทยให้กลายเป็นจุดเด่นด้วยการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับสินค้าของไทยให้สามารถขายสินค้าราคาสูงๆออกสู่ตลาดโลกได้จึงจะทำให้ไทยไม่ต้องตกเป็นผู้เสียเปรียบตลอดไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย