หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะระลอกไหน ๆ คงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรม “สปาและนวดแผนไทย” ซึ่งถือเป็นธุรกิจอันดับแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด (ที่จำเป็นต้องทำ) โดยนอกจากอุตสาหกรรมสปาและนวดแผนไทยจะพึ่งพิงลูกค้าชาวไทยเองแล้ว ยังพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก เฉกเช่นเดียวกับธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ล่าสุดตามที่ปรากฏในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ กลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดเพื่อสุขภาพในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อภาครัฐและชี้แจงว่า ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจ้างพนักงาน ทั้งที่ต้องหยุดกิจการชั่วคราวในการระบาดระลอกสาม และยังไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลืออย่างเพียงพอ
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ชอบนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ และได้เคยเข้าร่วมเสวนา “Industry Transformation” กับผู้ประกอบการ นักวิชาการ และนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อหาข้อเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือและขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการระบาดระลอกสองแล้ว วันนี้จึงขอมาเจาะลึกพร้อมชวนท่านผู้อ่านคิดถึงแนวทางช่วยเหลือและยกระดับศักยภาพของธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญตามยุทธศาสตร์ของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต นั่นคือ “health & wellness” กันครับ
อุตสาหกรรมสปาและนวดแผนไทยแบ่งลักษณะกิจการออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) กิจการประเภทสปา เน้นการให้บริการบำบัดดูแลสุขภาพและความงามแบบองค์รวม และ 2) กิจการประเภทนวดเพื่อสุขภาพ เน้นเรื่องการบำบัดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยวิธีการนวดเพียงอย่างเดียว โดยปัจจุบันกิจการทั้งหลายอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ อุตสาหกรรมมีความเกี่ยวข้องกับแรงงานไทยเป็นจำนวนมาก โดยจากคำบอกเล่าในงานเสวนา Industry transformation คาดว่ามีการจ้างงานจากทั้งในและนอกระบบสูงถึงกว่า 6.5 แสนราย
เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่การระบาดในระลอกแรก ผู้ประกอบการทุกขนาดในอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐและสถาบันการเงินไปบางส่วนแล้ว เช่น มาตรการชดเชยรายได้ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งบรรเทาความเดือดร้อนได้ในระดับหนึ่ง ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เน้นให้บริการลูกค้าชาวต่างชาติ เป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีสายป่านยาวพอ ยังสามารถประคับประคองธุรกิจอยู่ได้บ้าง ทั้งนี้ ธุรกิจปรับตัวโดยกิจการขนาดใหญ่หลายแห่งลดจำนวนสาขาย่อยลงเพื่อควบคุมต้นทุน ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กมีความพยายามปรับตัวที่หลากหลาย เช่น การให้บริการนวดตามบ้าน เป็นต้น
หนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตคือ การเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกอุตสาหกรรมสปาและนวดแผนไทยจำนวนมาก โดยกว่าครึ่งได้เปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น ๆ แทน อาทิ พนักงานขนส่งเดลิเวอรี่ และบางส่วนได้ย้ายกลับไปภูมิลำเนาเดิมและทำการเกษตร อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมสปาและนวดแผนไทย เป็นส่วนหนึ่งของ health & wellness อันเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ของรัฐ จึงควรให้ความสำคัญ และสามารถยกระดับศักยภาพได้ โดยข้อเสนอแนะจากเสวนาที่ผู้เขียนอยากชวนคิดมีดังนี้
ในระยะสั้น รัฐอาจเร่งกระจายความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนให้ครอบคลุมมากขึ้นในทุกขนาดธุรกิจ และอาจพิจารณานโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในลักษณะ wellness-quarantine ในยามที่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ครบถ้วนในประเทศ
ในระยะยาว บทบาทของรัฐมีความสำคัญมาก ได้แก่
1) การสร้างความตระหนักรู้และทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับประโยชน์ของสปาและการนวดให้เป็นที่แพร่หลายยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ผลงานวิจัยไทยที่พิสูจน์ประโยชน์ของการใช้บริการเพื่อสุขภาพที่ดี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและยังไม่ได้ใช้บริการเป็นประจำ สุดท้ายจะดึงดูดให้แรงงานที่หายไปได้กลับเข้ามาสู่อุตสาหกรรมได้เอง
2) การสนับสนุนให้การใช้บริการสปาและนวดแผนไทยได้รับความคุ้มครองภายใต้สิทธิสวัสดิการและระบบประกันสุขภาพ และผู้ใช้บริการสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ เช่น การรักษา office syndrome
3) การผ่อนคลายกฎระเบียบหรือลดขั้นตอนทางกฎหมายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขอใบอนุญาตได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น รวมทั้งการลดช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อลดจำนวนธุรกิจสีเทาแอบแฝง ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย
4) การส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมให้สามารถขยายขอบเขตการให้บริการในกิจกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์เพื่อการรักษาสุขภาพได้ เช่น การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรหรือภูมิปัญญาไทยพื้นบ้าน ขณะเดียวกัน สถานประกอบการเองอาจลงทุนพัฒนาบุคลากรให้เข้าอบรมหลักสูตรเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง เช่น การนวดแก้อาการ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาวต่อไป
คงต้องบอกเหมือนกับเนื้อเพลงของคุณปาล์มมี่ที่ว่า “นวด นวด หยุด หยุด ถึงใจถึงจุด เดี๋ยวเจ็บ เดี๋ยวมันก็หาย…” ซึ่งผู้เขียนหวังว่า สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 จะทุเลาและหายไปโดยเร็ว การเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนในประเทศจะมีประสิทธิผล และปลดล็อคให้ผู้ประกอบการสปาและนวดแผนไทยได้ลืมตาอ้างปากกันอีกครั้งโดยเร็วที่สุดครับ
ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย