นางสาวธัญลักษณ์ วิบูลย์ศรีสัจจะ

เป็นที่รู้กันดีว่าในขณะนี้ภาวะน้ำท่วมได้ขยายวงกว้าง กระทบทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้เกิดความเสียหายหลายด้าน ทั้งทางสินทรัพย์ รายได้และความเชื่อมั่นของประชาชนความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าลดลง ซึ่งจะส่งผลลบโดยตรงต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจหากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะหดตัวลงมาก ในเบื้องต้น ภาวะน้ำท่วมได้ทำให้การคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งปีนี้ลดลงจากร้อยละ 4.1ที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมเป็นร้อยละ 2.6 (ประมาณการ ณ 19 ต.ค. 54)

แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4จะหดตัว แต่จะเป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น วิกฤตน้ำท่วมนี้เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาว ไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและปัจจัยสนับสนุนด้านอุปสงค์ที่มีต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วด้วยเหตุผล 5 ประการ ดังนี้

ประการแรก แรงกระตุ้นจากภาครัฐทั้งที่วางแผนไว้เดิมและที่ต้องทำเพิ่มอีกมากเพื่อฟื้นฟูหลังน้ำท่วมทั้งในระยะสั้นและยาว จะช่วยกระตุ้นทั้งการลงทุนและการบริโภค เชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นเป็นลำดับจากปลายปีนี้เป็นต้นไป

ประการที่สอง ภาคเกษตรจะกลับมาเริ่มเพาะปลูกได้ใหม่หลังน้ำลด และคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปุ๋ยตะกอนดินที่ถูกพัดมา ขณะที่ราคาพืชผลอยู่ในระดับสูงจากอุปทานที่ลดลงและความต้องการในตลาดโลกที่ยังมีอยู่สูง รวมถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐ ส่งผลให้รายได้เกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี

ประการที่สาม ภาคอุตสาหกรรมน่าจะฟื้นตัวได้ในระยะเวลาไม่นานนัก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา cluster ในภาคการผลิตมีความเข้มแข็งขึ้น และไทยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ (International Production Network) ที่แข็งแกร่ง จากการติดตามข่าวสารและพูดคุยกับผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการยังหาทางปรับตัว สะท้อนว่ายังต้องการผลิตต่อและยังไม่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปประเทศ อื่น บางอุตสาหกรรมเริ่มผลิตทดแทนโดยย้ายฐานไปยังโรงงานในจังหวัดอื่น เช่น อุตสาหกรรม Hard Disk Drives เซมิคอนดัคเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ภาครัฐเร่งให้ความช่วยเหลือในหลายด้าน อาทิ การเว้นภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องจักรหรือชิ้นส่วนทดแทนเพื่อใช้สำหรับเริ่มการผลิตใหม่ การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการเร่งรัดการอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้ชำนาญการต่างชาติที่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูเครื่องจักร เป็นต้น

ประการที่สี่ ภาคการท่องเที่ยวมีความยืดหยุ่น สะท้อนจากข้อมูลในอดีตที่พิสูจน์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้เร็วภายหลังเหตุการณ์สงบ

ประการสุดท้าย สถาบันการเงินของไทยมีความแข็งแกร่ง พร้อมดูแลประคับประคองลูกหนี้ และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการบูรณะฟื้นฟูหลังน้ำลด ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับสูงสัดส่วนหนี้เสียต่ำ สามารถทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินได้ดี

ปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ทำให้สำนักต่าง ๆ ทั้งไทยและเทศคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นตัวไปในทิศทางเดียวกัน
จากวิกฤตในประเทศที่กำลังประสบอยู่ และปัจจัยแวดล้อมนอกประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง ยิ่งแสดงถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ เหมือนคนต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ประเทศเองก็ต้องสร้างความเข้มแข็งและทนทาน ด้วยการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและความแข็งแกร่งที่จะรองรับวิกฤตต่างๆ ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำไปพร้อมกัน ในส่วนของภาคเอกชน จำเป็นต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและศักยภาพในการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ธุรกิจจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถผลิตสินค้าที่มีปริมาณมากขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น เตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น

ในส่วนของทางการ การสร้างอุปสงค์ภายในประเทศให้แข็งแกร่งเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เป็นส่วนที่ช่วยรองรับผลกระทบ (Cushion) หากภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่นับวันจะมีมากขึ้น แต่อุปสงค์ในประเทศจะแข็งแกร่งได้นั้น ต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีศักยภาพในการหารายได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน จากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตของประเทศ ขณะเดียวกัน เร่งลดต้นทุนให้แก่ธุรกิจโดยปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพ

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์น้ำท่วมนี้จะทำให้ภาครัฐต้องเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนมากเพื่อการลงทุนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย แต่ภาครัฐยังจำเป็นต้องยึดกรอบวินัยการคลังอย่างเคร่งครัดและจัดลำดับความสำคัญของแผนการลงทุน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับในยุโรป ที่สำคัญ ควรกันงบประมาณส่วนหนึ่งไว้เพื่อรองรับในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปแย่กว่าที่คาดไว้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย