​เงินเฟ้อคาดการณ์: จากความเชื่อสู่ความเป็นจริง (ตอนที่ 2)

นางสาววนิชา ดิเรกอุดมศักดิ์

จากบทความในตอนที่ 1 ผู้อ่านคงพอทราบแล้วว่า เงินเฟ้อคาดการณ์สามารถทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปและส่งผลให้ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไปตามที่คาดการณ์ได้จริงๆ ในที่สุด ซึ่งเงินเฟ้อที่เกิดจากการคาดการณ์ของคนเช่นนี้ น่ากลัวกว่าราคาไข่แพง เนื้อสัตว์แพง ราคาน้ำมันขึ้น ที่ผู้อ่านได้ยินอยู่เสียอีกเพราะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากปัจจัยการผลิตเหล่านี้ ย่อมหายไปเองในเวลาไม่นาน ถ้าคนไม่ได้คาดการณ์ว่าราคาพวกนี้จะปรับสูงขึ้นไปอีกและเร่งซื้อเสียจนทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่เงินเฟ้อจากการคาดการณ์อาจหล่อเลี้ยงให้เงินเฟ้อสูงๆ ค้างต่อไปอีกนาน ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น สมมติวันหนึ่งเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ผู้คนไม่เชื่อมั่นว่าทางการจะดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ผู้บริโภคก็จะกักตุนสินค้า แรงงานก็จะเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้าง ผู้ผลิตก็จะขึ้นราคา ราคาสินค้าก็จะพุ่งแรงมากกว่าผลของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ถึงราคาน้ำมันจะปรับลง ราคาสินค้าก็ยังค้างอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกจนกัดกร่อนค่าของเงินของผู้คนไปเรื่อยๆ คนก็จะเดือดร้อน ดังนั้น หากทางการไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างและส่งผลเสียต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้การดูแลเงินเฟ้อคาดการณ์จึงเป็นอีกหน้าที่ที่สำคัญของทางการ

ในขณะนี้ กรมการค้าภายในเป็นหน่วยงานหลักในการสอดส่องดูแลราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ข้าวของไม่แพงเกินไป เพื่อบรรเทาค่าครองชีพโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นมากจากราคาปัจจัยการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ทำหน้าที่ดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้คนโดยการประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation target) และมุ่งมั่นที่จะรักษาวินัยทางการเงิน เพื่อดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายที่กำหนด เพราะหากคนเชื่อมั่นในธนาคารกลางก็จะสามารถยึดโยงการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้คนให้เชื่อว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ประกาศไว้ แม้จะมีปัจจัยใดมากระทบก็ตาม การคาดการณ์ของคนก็จะไม่ปรับเปลี่ยนมากนัก ราคาสินค้าและบริการก็จะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา อันเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของธนาคารกลาง

แม้จะเห็นแล้วว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อมีความสำคัญเพียงใด แต่ข้อมูลเงินเฟ้อคาดการณ์ของไทยในปัจจุบันยังมีอยู่จำกัด โดยมีข้อมูลการสำรวจเงินเฟ้อคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ (consensus forecasts) และเงินเฟ้อคาดการณ์ของภาคธุรกิจจากที่ ธปท. ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งเป็นการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะสั้น สำหรับอีกแหล่งหนึ่ง คือ คำนวณจากพันธบัตรที่มีผลตอบแทนอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ (inflation-linked bond) แต่ปัจจุบันยังมีปริมาณพันธบัตรและการซื้อขายค่อนข้างจำกัดในตลาด จึงอาจไม่สามารถสะท้อนการคาดการณ์ได้ดีนัก ธปท. จึงได้พัฒนาการสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค โดยความร่วมมือกันระหว่าง ธปท. และ สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยได้เพิ่มคำถามการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคไปในแบบสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคของกระทรวงพาณิชย์ ข้อมูลที่ได้เพิ่มเติมนี้จะเป็นประโยชน์ในการใช้ประกอบการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของนโยบาย และประเมินแรงกดดันที่นำไปสู่การดำเนินนโยบายที่เหมาะสม ทันท่วงที และสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อธนาคารกลางในการดูแลเงินเฟ้อ ข้อมูลดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งหากได้รับความร่วมมือจากทุกท่านในการตอบแบบสอบถามซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ นำไปสู่การดำเนินนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสมด้วยเช่นกัน

ผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า ถึงแม้การคาดการณ์ราคาสินค้าของคนเป็นสิ่งที่ไม่อาจเห็นได้ชัดดังเช่นราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ความคิดหรือความเชื่อนั้นกลับมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการกำหนดเงินเฟ้อ และสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ซึ่งวินัยทางการเงินและแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสมของธนาคารกลางมีส่วนช่วยยึดโยงการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนได้ ดังนั้น การคาดการณ์เงินเฟ้อจึงเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางสามารถดูแลได้ โดยข้อมูลการคาดการณ์เงินเฟ้อจากความรู้สึกนึกคิดของประชาชนจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง เพราะจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะใช้ประเมินแรงกดดันเงินเฟ้อ และช่วยในการดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อที่เศรษฐกิจจะได้เติบโตไปพร้อมกับเสถียรภาพในระยะยาว

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย