​การท่องเที่ยวยุคดิจิทัลและนัยต่อรายรับภาคการท่องเที่ยวไทย

​นางสาวนจรี นิมิตกมลชัย
นางสาวชลิสา กัลยาณมิตร
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

ภาคการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้และการจ้างงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 รายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาท สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกระจายไปสู่หลากหลายธุรกิจ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง ร้านขายสินค้าและของที่ระลึก ตัวแทนจำหน่าย สายการบิน และนำไปสู่การจ้างงานมากถึง 4.4 ล้านคน การเติบโตของการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถสืบหาข้อมูล จองตั๋วเครื่องบินและห้องพัก และชำระเงินได้อย่างสะดวกมากขึ้น ด้านภาคธุรกิจได้ใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะ Platform การจองที่พักและการชำระเงินที่ส่วนใหญ่เป็นตัวกลางของต่างชาติให้เกิดประโยชน์และตอบสนองให้ทันกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงรายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นรายรับของธุรกิจไทยเพราะจะมีเม็ดเงินบางส่วนที่เป็นค่าบริการนายหน้าจากตัวกลางชาวต่างชาติเช่นกัน

ประการแรกคือ การเปลี่ยนรูปแบบของการท่องเที่ยวจาก Offline มาสู่ Online ผ่านการให้บริการโดยธุรกิจตัวกลางของต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้การวางแผนเดินทางด้วยตนเองง่ายขึ้น เมื่อเทคโนโลยีพร้อมรองรับ และผู้บริโภคพร้อมใช้และเชื่อมั่นในการใช้ ธุรกิจบริษัททัวร์ หรือ Travel Agent ซึ่งเป็นตัวกลางประสานกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในประเทศปลายทาง จึงปรับตัวจาก Offline มาสู่ Online มากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดธุรกิจในรูปแบบ Online Travel Agencies (OTAs) เช่น Expedia Booking.com Agoda หรือ Traveloka ซึ่งให้บริการที่พัก และ Hi5 หรือ Klook ซึ่งให้บริการอื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงการคมนาคมภายในเมือง บริการเหล่านี้นอกจากจะช่วยเรื่องการวางแผนการเดินทางด้วยตนเองแล้ว ยังช่วยในการเปรียบเทียบราคาและคุณภาพการให้บริการและจัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับตนเองได้ดีที่สุด

ด้านผู้ประกอบการไทยทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวและหันมาใช้บริการ OTAs มากขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้บริการคนกลางซึ่งเป็น Platform ของต่างชาติ เพื่อแลกกับยอดขายและการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นย่อมมีค่าใช้จ่าย จากการหารือกับผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว พบว่า การเปิดจองห้องพักออนไลน์ผ่าน OTAs มีสัดส่วนของผู้ใช้บริการประมาณ 35% ของช่องทางการจองโรมแรมทั้งหมด โดยผู้ประกอบการจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 3-30% ของราคาห้องพัก ซึ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 18% ทั้งนี้ การโฆษณาจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกจากนี้มี OTAs บางรายที่เป็นพ่อค้าคนกลางเหมาห้องพักจากธุรกิจไทยแล้วไปขายต่อในราคาที่ OTAs กำหนดเอง รายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจตัวกลางต่างชาติเหล่านี้ประมาณร้อยละ 1.6 ของค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวทั้งหมด

ประการที่สอง นวัตกรรมการชำระเงินผ่านระบบ e-payment ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการให้บริการของธุรกิจต่างชาติเช่นกัน เดิมทีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินสดและบัตรเครดิต โดยมีผู้ให้บริการหลัก ๆ เช่น Visa และ Master Card และในระยะต่อมามีนวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า e-wallet ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น Alipay หรือ WeChat Pay เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการผ่านสมาร์ทโฟนได้โดยไม่ต้องพกเงินสดและไม่ต้องแลกเงิน เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวทำคำสั่งจ่ายเงินโดยสแกน QR code ที่ร้านค้าติดตั้งแล้ว เงินจะถูกตัดออกจากบัญชีที่ประเทศต้นทางในรูปเงินสกุลท้องถิ่นแล้วเข้าบัญชีของผู้ค้า

ด้วยประโยชน์ที่นักท่องเที่ยวได้รับจากนวัตกรรมการชำระเงินส่งผลให้มีความนิยมใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณธุรกรรมการชำระเงินด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศสูงถึง 6.7 เท่า ในปี 2560 และ 1.5 เท่า ในปี 2561 ซึ่งเติบโตในอัตราที่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการชำระเงินที่ 6.9 เท่า และ 1.4 เท่า ตามลำดับ และการใช้ e-moneyมีส่วนแบ่งในการรับชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์และเงินอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ในปี 2561 (รายละเอียดตามตาราง) การปรับตัวของธุรกิจไทยที่นำนวัตกรรมการชำระเงินด้วย e-wallet มาใช้ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยลดภาระต้นทุนในการบริหารเงินสดในแต่ละวันด้วย ทั้งนี้ ร้านค้าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการรับชำระให้กับผู้ให้บริการชำระเงินในไทย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 1.6 - 2% ค่าธรรมเนียมนี้ส่วนหนึ่งจะต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการ e-wallet ต่างชาติ เช่นเดียวกับการรับชำระผ่านบัตรเครดิต ดังนั้น เมื่อมีการใช้บริการการชำระเงินผ่านระบบ e-paymentเพิ่มขึ้น รายรับจากการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะอยู่กับธุรกิจไทย แต่ก็จะมีอีกส่วนที่จะไปตกอยู่กับธุรกิจให้บริการชำระเงินต่างชาติบ้างเพื่อแลกมากับยอดรายรับรวมที่จะเพิ่มขึ้นจากการอำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายให้กับนักท่องเที่ยว

โดยสรุป ภายใต้บริบทของภาคการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล จะเห็นได้ว่าบทบาทของ Platformต่างชาตินั้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคที่ได้รับความสะดวก และผู้ประกอบการก็สามารถขยายตลาด พร้อมทั้งสร้างโอกาสเพิ่มยอดขายจากช่องทางการชำระเงินผ่านระบบ e-payment แม้การใช้บริการ Platform ต่างๆ เหล่านี้ ผู้ประกอบการจะมีค่าใช้จ่ายด้านการตลาดหรือค่านายหน้าให้กับธุรกิจตัวกลางชาวต่างชาติเป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าร้านและรายรับรวมที่จะได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย