​Hardline: ดัชนีความเชื่อมั่น รู้เท่าทัน ปรับตัวสู่เศรษฐกิจใหม่


นางสาวณัฐอร เบญจปฐมรงค์ นายชนา กีรติยุตวงศ์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
close up businessman accountant calculate on calculator to planning strategy and profit at desktop home office workplace with dashboard tools monitor for data management of business financial concept


ในตอนที่แล้วได้เล่าถึงโครงการ Business Liaison Program หรือ BLP ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีข้อมูลเชิงคุณภาพซึ่งเป็น Insight จากการต่อสายตรงไปยังผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน ตอนนี้เราจะพูดถึงดัชนีความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นเครื่องชี้เชิงปริมาณที่สำคัญในการช่วยติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง


ดัชนีความเชื่อมั่นสะท้อนภาพเศรษฐกิจอย่างไร?

ทุกเดือน ธปท. จะสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือน ทั้งความเชื่อมั่นในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Index: BSI) ที่สำรวจผู้ประกอบการในทุกภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ช่วยให้การประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แนวโน้มการลงทุนและการจ้างงานมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retail Sentiment Index: RSI) ที่จัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จะสำรวจผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ไปจนถึงร้านค้าปลีกในหัวเมืองใหญ่ ซึ่งสามารถสะท้อนภาวะกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ เพื่อให้การประเมินภาวะเศรษฐกิจครอบคลุมครบถ้วนทุกภาคส่วน ธปท. ได้ติดตามภาวะความเป็นอยู่ของ “ครัวเรือนฐานราก” ที่เป็นหน่วยเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เช่น เกษตรกร กลุ่มอาชีพอิสระ และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผ่านดัชนีความเชื่อมั่นครัวเรือนฐานราก (Relationship Manager Sentiment Index: RMSI) ที่จัดทำร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากการประเมินของผู้จัดการสาขาธนาคารทั่วประเทศ ทำให้ทราบถึงความเชื่อมั่นต่อรายได้และภาระหนี้สินของครัวเรือนฐานรากทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร

ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกแรก ข้อมูลจากดัชนีความเชื่อมั่นทั้ง 3 ดัชนีข้างต้นแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยความเชื่อมั่นลดลงมากที่สุดในเดือนเมษายน 2563 หลังการประกาศมาตรการ Lockdown ก่อนที่จะเริ่มเห็นทิศทางการฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการ แต่เป็นการฟื้นตัวที่เร็ว ช้าแตกต่างกัน (Uneven recovery)

สำหรับภาคธุรกิจ ดัชนี BSI ลดลงไปอยู่ที่จุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำดัชนีครั้งแรกในปี 2547 และเริ่มปรับดีขึ้นเป็นลำดับ โดยความเชื่อมั่นของภาคการผลิตส่วนใหญ่กลับสู่ระดับใกล้เคียงภาวะปกติแล้ว และในบางหมวดสินค้าปรับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด จากอานิสงส์ของการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก (Global supply chain) ขณะที่ความเชื่อมั่นของธุรกิจที่มิใช่การผลิตแม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนการแพร่ระบาด โดยเฉพาะหมวดที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่งผู้โดยสาร ที่ยังได้รับผลกระทบจากการไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและกำลังซื้อที่เปราะบางของคนไทย

ขณะที่ดัชนี RSI ที่สะท้อนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนปรับลดลงต่ำในช่วงแรกของการระบาด และเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ภาคครัวเรือนยังมีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจในระยะถัดไป เห็นได้จากยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sale) และยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per Bill) ที่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด ด้านดัชนี RMSI ที่สะท้อนความเชื่อมั่นครัวเรือนฐานรากปรับลงไปสู่ระดับต่ำสุดหลังการประกาศมาตรการ Lockdown เช่นกัน และปรับดีขึ้นตามมาตรการเยียวยาที่ทยอยออกมา สะท้อนความอ่อนไหวของครัวเรือนฐานรากที่ยังต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือของภาครัฐในการ ดำรงชีพจากการมีภาระหนี้สิน การไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม และการกระจายรายได้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ



ภาคธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบแตกต่างกัน

หลังจากเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้งในช่วงสิ้นปี 2563 ข้อมูล BSI ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวลดลงมากที่สุด จากการยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย ตามมาด้วยธุรกิจในภาคการค้าที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น และคาดว่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าภาคที่มิใช่การผลิต สำหรับภาคครัวเรือน ความเชื่อมั่นปรับลดไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก เนื่องจากความเข้มงวดของมาตรการ Lockdown ที่น้อยลง ทำให้ครัวเรือนฐานรากยังพอมีรายได้อยู่บ้าง และการมีมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการประกันรายได้ของเกษตรกร โครงการคนละครึ่ง มาตรการเราชนะ การลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน และการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกนี้ได้ซ้ำเติมครัวเรือนให้มีความเปราะบางเพิ่มขึ้น


เร่งปรับตัว รับเศรษฐกิจใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม

การอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติโควิด 19 จากที่เรารับฟังเสียงสะท้อนของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ผ่านข้อมูลและเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจของ ธปท. นั้น ทำให้ทราบว่า มีธุรกิจจำนวนหนึ่งต้องปิดกิจการถาวร ธุรกิจที่เคยมีศักยภาพก็อาจจำเป็นต้องขายกิจการหรือควบรวมกับกลุ่มทุนรายใหญ่ทั้งจากในและต่างประเทศ แรงงานมีทักษะจำนวนมากที่ในอดีตเชื่อว่ามีความมั่นคงในอาชีพกลับตกงาน ในขณะที่ธุรกิจและแรงงานที่สามารถฝ่าวิกฤตไปได้ เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมและสามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ ดังนั้น ในระยะต่อไป หากธุรกิจต้องการอยู่รอดได้ จะต้องปรับตัว และไม่ใช่เป็นการปรับตัวแบบเดิมที่เคยทำมา แต่ต้องเป็นการปรับตัวแบบที่ตรงจุดและยืดหยุ่นเพียงพอ เช่น การผสมผสานช่องทางการขายทางออนไลน์และออฟไลน์ การหารายได้เสริมจากธุรกิจอื่น เป็นต้น เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก

ด้านแรงงานก็ต้องมีการยกระดับและปรับทักษะตนเองให้ยืดหยุ่นพอเพื่อไปทำงานในสายอาชีพอื่นหรือมีทักษะเฉพาะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้ นอกจากนี้ แรงงานในภาคเกษตรจะต้องมีการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในการเกษตรใหม่ ๆ เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของครัวเรือนเกษตรให้ดีขึ้น และสามารถรองรับการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากที่ไหลกลับเข้าภาคเกษตรได้

สำหรับภาครัฐก็จำเป็นต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน โดยปรับกระบวนการทำงานให้คล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น การดำเนินนโยบายต้องรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และตรงจุด เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไม่เพียงแต่จะสามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ แต่จะต้องเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่มี “รากฐานแข็งแรง” และพร้อมปรับตัวรับเศรษฐกิจใหม่ที่มีความท้าทายมากกว่าเดิม


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>