นายสุพริศร์ สุวรรณิก
ฝ่ายนโยบายการเงิน
แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะปรับลดลง อย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ยังคงมีความน่ากังวล ทั้งในแง่ของหนี้ที่ยังอยู่ ในระดับสูง และความสามารถในการชาระหนี้ ที่ยังไม่ปรับดีขึ้น
นับตั้งแต่ปี 2554 หนี้ครัวเรือนของไทย เร่งตัวขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูง (บทความนี้ใช้ GDP เป็นตัวแทนของรายได้) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค นำมาซึ่งความกังวลต่อเสถียรภาพของภาคครัวเรือนและเป็นประเด็นที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นระยะ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของหนี้ได้ชะลอลงและต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ทยอยปรับลดลงอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ต้นปี 2559 เข้าสู่ช่วง “debt deleveraging” ทำให้ความกังวลในประเด็นหนี้ครัวเรือนคลี่คลายลงบ้าง แต่คำถามที่สำคัญก็คือ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยดีขึ้นจริง ๆ แล้วหรือยัง?
โดยปกติแล้ว ระดับหนี้สินจะขยายตัวตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ ขึ้น รวมถึงแนวโน้มการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้น ( financial access) ซึ่งในกรณีของไทยก็เช่นเดียวกัน นับตั้งแต่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศอย่างเป็นระบบในปี 2546 จนถึงปี 2553 พบว่า หนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวควบคู่ไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย โดยทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้น (leverage) แต่เป็นไปอย่างช้า ๆ จนกระทั่งปี 2554 หนี้ครัวเรือนเริ่มเร่งตัวขึ้นมาก โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ มาตรการรถคันแรกที่ทำให้เกิดการเร่งกู้เพื่อซื้อรถยนต์ สถานการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่ทำให้ต้องกู้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นทั้งจากวัฏจักรราคาในตลาดโลกและนโยบายอุดหนุนของรัฐที่ทำให้เกษตรกรคาดการณ์ว่ารายได้จะดีอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน อันเป็นแรงกระตุ้นให้ก่อหนี้เพิ่ม ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พุ่งสูงขึ้นจากร้อยละ 60.3 ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 มาแตะจุดสูงสุดที่ร้อยละ 81.2 ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2558 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 ต่อ GDP
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา หนี้ภาคครัวเรือนเริ่มชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเริ่มขยายตัวช้ากว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยปรับลดลง อย่างช้า ๆ (deleverage) มาอยู่ที่ร้อยละ 78.3 ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2560 หากวิเคราะห์ตามประเภทเงินกู้พบว่า เงินกู้ยืมในหมวดรถยนต์มีการ deleverage ที่ชัดเจนที่สุดตามการทยอยสิ้นสุดลงของหนี้จากมาตรการรถคันแรก ส่วนเงินกู้ยืมประเภทอื่นๆ ก็มีสัญญาณการ deleverage เช่นกัน โดยสินเชื่อหมวดที่อยู่อาศัยเห็นการ deleverage ช้าที่สุด เพราะสินเชื่อหมวดที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีมูลค่ามาก ทำให้เงินต้นลดลงช้ากว่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น ๆ นอกจากนั้น สินเชื่อดังกล่าวยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การ deleverage ดำเนินไปได้อย่างช้า ๆ
แม้ว่าภาพรวมในระดับประเทศ จะพบการ deleverage แต่เมื่อพิจารณาลงมาในระดับครัวเรือน โดยอาศัยข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) จาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า การ deleverage ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มครัวเรือนรายได้สูงเพียงบางกลุ่มและกลุ่มครัวเรือนในเขต กทม. และภาคกลาง โดยเกิดจากการลดลงของหนี้เป็นสำคัญ ในทางกลับกัน กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยถึงปานกลาง และ ในเขตภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ กลับทรงตัว หรือมีการ leverage เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งเกิดจากหนี้ที่เร่งตัวขึ้น ขณะที่รายได้ใกล้เคียงเดิม นอกจากนี้ การ deleverage ยังมีแนวโน้มที่ช้าลงมาก โดยข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2560 หนี้ขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี และพบว่าการขยายตัวของหนี้แบบไตรมาสต่อ ไตรมาสเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปี 2560 ทั้งนี้ เป็นการขยายตัวของสินเชื่อในเกือบทุกหมวดอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหมวดบัตรเครดิตและหมวดรถยนต์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาก สอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ในระยะต่อไป ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2560 อาจเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปัจจัยฤดูกาลที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุดที่มีมาก และหนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการบริโภคที่ขยายตัว อย่างไรก็ดี การออกมาตรการควบคุมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของ ธปท. โดยเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นมาตรการที่จะช่วยลดความเปราะบางของฐานะทางการเงินในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย และอาจจะช่วยชะลอการ leverage ในภาพรวมได้
ทั้งนี้ การวิเคราะห์เสถียรภาพของภาคครัวเรือนไทย นอกจากการพิจารณาระดับหนี้เทียบกับรายได้แล้ว ยังต้องวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ด้วย ซึ่งพบว่าสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPL) ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส 3 ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.74 จากร้อยละ 2.66 ในไตรมาสก่อน โดยเฉพาะหมวดเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นแหล่งที่มาสำคัญของ NPL ภาคครัวเรือน นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนภาระหนี้ต่อเดือนเทียบกับรายได้ต่อเดือน (debt service ratio) ที่ได้จากข้อมูล SES พบว่า ภาระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย และกลุ่มครัวเรือนในภาคเกษตร ความสามารถในการชาระหนี้ของภาคครัวเรือนจึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ดังนั้นแล้ว สรุปได้ว่า แม้จะพบการ deleverage อย่างช้าๆ ติดต่อกัน 7 ไตรมาส แต่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยยังคงมีความน่ากังวลและจำเป็นต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่ของระดับหนี้และความสามารถในการชาระหนี้ ทั้งนี้ ภาครัฐควรมุ่งให้ความรู้ทางการเงินและมุ่งสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ครัวเรือนไทย ขณะที่ ภาคครัวเรือนควรมีวินัยทางการเงิน คือรู้จักบริหารรายรับรายจ่ายให้มีความสมดุล ไม่ก่อหนี้เกินตัว ซึ่งจะทำให้ฐานะการเงินของครัวเรือนแข็งแกร่ง และจะเพิ่มความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้