ดร. จิตเกษม พรประพันธ์
นางสาวฐิตา เภกานนท์
นายปวีร์ ศิริมัย
นางกชพรรณ สัลเลขนันท์
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
ภายใต้ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอิทธิพลของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจเละพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้หลายๆ คนเริ่มตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจไทยจะก้าวต่อไปอย่างไรเมื่อแรงส่งจากภาคการส่งออกนั้นแผ่วลง ภาคบริการของไทยเข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ เราจึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจโครงสร้างภาคบริการไทย และร่วมกันหาคำตอบว่าในโลกยุคใหม่ เราควรเดินหน้าอย่างไรให้ภาคบริการสามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพและเป็นแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย
ในบริบทโลกที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เติบโตและร่ำรวยขึ้น ภาคบริการก็มีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศรายได้สูง เช่น อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ภาคบริการมีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 75% ของ GDP และแรงขับเคลื่อนหลักมาจากธุรกิจบริการสมัยใหม่ (Modern Service) อาทิ บริการด้าน IT Software การเงิน รวมถึงการค้นคว้าและวิจัย (R&D) ที่ส่วนใหญ่มีการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ภาคบริการมีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 57% ของ GDP และแรงขับเคลื่อนหลักมาจาก Traditional Services โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
หากหันกลับมามองภาคบริการไทยผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง เช่น ข้อมูล GDP ดุลการชำระเงิน และข้อมูลการจ้างงาน จะพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงสร้างภาคบริการไทยใน 3 ประการ
(1) Traditional Services ยังคงครองความสำคัญในลำดับต้น ๆ
ในประเทศไทย ภาคบริการมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากสัดส่วนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นจาก 59% ในปี 2000 เป็น 64% ในปี 2018 อย่างไรก็ดี ในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างภาคบริการไทยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะผลักดันให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดย Traditional Services ยังคงครองความสำคัญในลำดับต้นๆ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น ภาคการค้า โรงแรมเละภัตตาคาร อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นฮีโร่ของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณความเปราะบางชัดเจนขึ้น เช่น การกระจุกตัวในเชิงสัญชาตินักท่องเที่ยวและเชิงพื้นที่ อีกทั้งธุรกิจยังเน้นแข่งขันด้วยราคาเป็นหลัก สะท้อนจากค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวในระดับต่ำแม้จำนวนจะขยายตัวต่อเนื่อง
(2) Modern Services มีแนวโน้มเติบโตช้าและมีขนาดเล็ก
แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ Modern Services เป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพเละสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ แต่สำหรับประเทศไทย Modern Services ยังคงมีขนาดเล็ก โดยมีสัดส่วนใน GDP เพียง 14% และเพิ่งขยายตัวชัดเจนในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเติบโตกระจุกตัวในธุรกิจการเงินและโทรคมนาคมซึ่งผู้เล่นหลักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่ Modern Services อื่นๆ เช่น กิจกรรมให้คำปรึกษา และ R&D กลับขยายตัวต่ำ นอกจากนี้ ธุรกิจไทยยังต้องพึ่งพาเละนำเข้าบริการเหล่านี้จากต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก (1) ปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะและประสบการณ์เฉพาะด้าน และ (2) กฎหมายที่ซับซ้อนและไม่ชัดเจน เช่น ความคลุมเครือในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP Law)
(3) จ้างแรงงานจำนวนมาก แต่...ผลิตภาพขยายตัวต่ำ
จำนวนแรงงานในภาคบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดรับไปกับความสำคัญที่มากขึ้น โดยในปี 2018 ไทยมีแรงงานในภาคบริการถึง 20 ล้านคนหรือประมาณ 52% ของผู้มีงานทำทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาด้านผลิตภาพกลับพบว่า ภาคบริการมีผลิตภาพแรงงานต่ำกว่าภาคการผลิต ทั้งในแง่มูลค่าและอัตราการเติบโต และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ไทยมีผลิตภาพแรงงานภาคบริการอยู่ที่ 1.1 พันดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 2.4 เท่า และถือว่าต่ำกว่าสิงค์โปรซึ่งเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วย Modern Services อย่างมาก โดยผลิตภาพแรงงานภาคบริการมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 7 พันดอลลาร์สหรัฐ/เดือน
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานไทยอยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งมาจากการที่แรงงานกว่า 70% กระจุกตัวใน Traditional Services ซึ่งพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำเป็นหลักและมีการใช้เทคโนโลยีไม่มากนัก อาทิ ภาคการค้าที่แรงงานส่วนใหญ่ทำธุรกิจร้านค้าแบบดั้งเดิม (โชห่วย) และนำ Technology มาใช้ทำธุรกิจค่อนข้างน้อย ขณะที่ภาคท่องเที่ยวซึ่งแม้ว่าจะได้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ ทั้งการจองโรงแรมและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่ธุรกิจยังคงพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำ เช่น แม่บ้านและพนักงานเสิร์ฟ ส่งผลให้ผลิตภาพและรายได้ของแรงงานเติบโตไม่สอดคล้องกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง
เศรษฐกิจไทยที่ยังคงขับเคลื่อนด้วย Traditional Services นับวันจะยิ่งมีความเสี่ยง โดยเฉพาะจากอิทธิพลของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ภาคบริการไทยจะต้องปรับ โดยเฉพาะการอัพเดตกลไกเดิมให้สามารถหมุนได้เท่าทันกับกระแสโลก และการเสริมกำลังให้ Modern Services มีความพร้อมและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการสนับสนุนภาคบริการไทยให้ชัดเจนและสอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตที่หลากหลาย เราจึงได้จำแนกธุรกิจบริการในประเทศไทยเป็น 4 กลุ่ม โดยประยุกต์ใช้กรอบแนวคิด Thailand Competitiveness Matrix (TCM)[1] และข้อมูลการจ้างงาน[2]
(1) กลุ่มศักยภาพ ประกอบด้วยธุรกิจแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีทางการเงิน และบริการด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีความพร้อมในการเติบโต ทั้งในด้านตลาดและแรงงาน อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนมาจาก Global Trends เช่น Aging Society และ Digital Transformation
(2) กลุ่มเสริมแกร่ง เป็นกลุ่มที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจขนส่งและการท่องเที่ยว แต่ต้องการการยกระดับและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเติบโต เพราะปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ข้อจำกัดจากประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบคมนาคม ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีปัญหาด้านผลิตภาพแรงงานที่ทรงตัวในระดับต่ำ
(3) กลุ่มสวนกระแสโลก ประกอบด้วยธุรกิจที่ควรจะได้รับอานิงสงส์จากการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์
(Creative Economy) แต่ในประเทศไทยกลับมีอัตราการเติบโตต่ำ อีกทั้งยังคงต้องนำเข้าบริการเหล่านี้จากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น กิจกรรมให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและบัญชี R&D การโฆษณาและการตลาด
(4) กลุ่มต้องปรับตัวให้อยู่รอด เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจและจ้างงาน เช่น ภาคการค้าและก่อสร้าง แต่ที่ผ่านมาความสามารถทางการแข่งขันลดลง ธุรกิจมีความเปราะบาง เพราะเผชิญการเข่งขันที่รุนแรงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น กระแส E-Commerce
จากการวิเคราะห์จะเห็นว่า เราควรออกแบบแนวทางการสนับสนุนภาคบริการให้ตรงจุดและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย เพราะธุรกิจบริการของไทยมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน บางกลุ่มอยู่ในช่วงตั้งไข่ บ้างกำลังเติบโตสอดรับไปกับกระเสโลก บ้างก็มีความเปราะบางจำเป็นต้องผลักดันให้สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่ไม่ว่าจะกลุ่มไหน เศรษฐกิจไทยควรก้าวไปสู่การขับเคลื่อนด้วย ‘ภาคบริการเชิงสร้างสรรค์’ ซึ่งแนวทางการพัฒนาควรเริ่มต้นจาก ‘คน’ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของภาคบริการ เราควรเตรียมความพร้อมให้แรงงานมีจำนวนเพียงพอและมีทักษะที่สอดรับกับความต้องการของตลาด เช่น กลุ่ม STEM และทักษะทางภาษา นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจบริการต้องปรับตัวให้เท่าทัน ซึ่งภาครัฐถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านดิจิทัล เช่น การจัดทำหรือสนับสนุน Free Software รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจบน Online Platform เป็นต้น