เริ่มต้นปีใหม่ด้วยการตั้งเป้าหมายให้กับชีวิต วลีเด็ดที่มักได้ยินเมื่อเทศกาลปีใหม่มาถึง ในช่วงเดือนแรกของปี เพื่อเตรียมรับสิ่งดีๆ ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอเทรนด์สำคัญของโลกที่จะเป็นโอกาสในการเริ่มต้นเป้าหมายใหม่ที่ทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด และจะส่งผลดีต่อทั้งตัวคุณและโลกของเราไปพร้อมกัน ในยุคนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหลากหลายเทรนด์สำคัญของโลกที่กล่าวถึงบ่อยครั้ง ยังคงมีเรื่อง digital transformation หรือ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และ sustainability หรือความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้แม้จะไม่ใช่เทรนด์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่นับวันกลับยิ่งมีบทบาทเพิ่มขึ้นและผู้เขียนเชื่อว่าแก่นสำคัญของสองเรื่องนี้จะเป็นเทรนด์ที่อยู่กับเราไปอีกนาน

digital transformation หากพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ การปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ขั้นตอน และกระบวนการต่างๆ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สร้างคุณค่าได้อย่างเต็มที่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการหรือแก้ไขปัญหาของมนุษย์ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายพื้นฐานจากแนวคิดของคำว่าเทคโนโลยีที่เราคุ้นเคย หากแต่เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่มาในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม digital transformation นั้นไม่ได้จะเกิดขึ้นจากการรับเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่เข้ามาใช้เพียงเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญของ digital transformation นั่นคือ data-driven หรือการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเป็นหลัก ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ การดำเนินงาน มากกว่าการใช้สัญชาตญาณและความรู้สึก ซึ่งหากจะทำให้สำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ระดับรายบุคคลที่เป็นผู้ใช้งานหรือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลและความรู้ในระดับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน

sustainability แนวคิดความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและตระหนักถึงเพิ่มขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากภาวะโลกรวน (climate change) ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยความถี่ที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกมุมโลก ตัวอย่างภัยพิบัติในปี 2565 เช่น อุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ในปากีสถาน ภัยแล้งรุนแรงในจีน ไฟป่าในยุโรป พายุฤดูหนาวถล่มแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ทำให้ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ผู้ประสบภัยต้องเผชิญความยากลำบากในการดำรงชีวิต จึงนำมาซึ่งความร่วมมือที่หนักแน่นมากขึ้นของประเทศมหาอำนาจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้นวัตกรรมในการดูดกลับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก เพื่อไปสู่เป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิในอดีตช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตภาวะโลกรวนที่รุนแรงและผลกระทบอันเลวร้ายต่อทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยตัวอย่างผลกระทบนั้นมีให้เห็นอย่างชัดเจนจากภัยพิบัติที่รุนแรงในปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ระดับ 1.15 องศาเซลเซียส เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกคนล้วนมีส่วนทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกคน และต้องลงมือทำอย่างจริงจัง

จากที่กล่าวมาบางท่านอาจมองว่าการจะพาธุรกิจของตัวเองไปสู่เป้าหมายใหม่ที่ต้องทำทั้ง digital transformation พร้อมกับ sustainability นั้นดูเป็นเรื่องยากทั้งในเรื่องทักษะ ความเข้าใจ และต้องใช้ต้นทุนสูง ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่าง การเริ่มต้นปรับเปลี่ยนของธุรกิจของคุณส้มซึ่งมีอาชีพเป็นแม่ค้าคนกลางขายข้าวสาร คุณส้มมีทีมขนส่งข้าวที่รับซื้อจากเกษตรกรไปขายยังตลาดหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ โดยปกติเวลาเก็บเงินค่าข้าว คุณส้มจะตระเวนขับรถไปรับเงินสดจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาดต่าง ๆ ที่รับข้าวของคุณส้มไปขาย แล้วหลังจากนั้นคุณส้มจะกลับมาทำบัญชีที่ออฟฟิศ และสุดท้ายจะนำเงินทั้งหมดที่ได้ไปฝากเข้าธนาคารเพื่อปิดบัญชีในแต่ละวัน การทำ digital transformation ในธุรกิจของคุณส้มอาจเริ่มต้นง่ายๆ เพียง เรียนรู้การใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล โดยใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) เช่น พร้อมเพย์ (PromptPay) และ Standard Thai QR Code ซึ่งเป็นช่องทางที่ปลอดภัยและมีความสะดวกเนื่องจากสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดชำระค่าข้าวผ่านระบบ ทำให้คุณส้มสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังตลาดและธนาคาร ซึ่งการลดการเดินทางยังตอบโจทย์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันด้วย

ขณะเดียวกัน คุณส้มก็มีเวลาเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสให้สามารถนำเวลาและเงินทุนที่ไม่ต้องเสียไปกับการเดินทางไปใช้กับการคิดค้น สร้างมูลค่าเพิ่ม ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ นอกจากนี้ ข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ยังช่วยให้การทำสรุปบัญชีมีความถูกต้องและรวดเร็ว ส่งผลให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหากนำมาวิเคราะห์จะช่วยให้รู้จักลูกค้า เข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาธุรกิจการค้า เช่น ลูกค้าสั่งซื้อข้าวเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสั่งซื้อข้าวแนวอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลดังกล่าวจึงคาดว่าลูกค้าอาจเน้นขายข้าวให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพและพอมีกำลังทรัพย์ในการซื้อสินค้ามากขึ้น การเพิ่มยอดขายอาจะทำได้โดยการนำเสนอกลุ่มข้าวอินทรีย์ให้มีทางเลือกมากขึ้น ทั้งเรื่องสายพันธุ์ หรือคุณภาพของข้าวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

ตัวอย่างที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ ที่อยากชี้ให้เห็นว่าการปรับตัวด้วยการทำ digital transformation ควบคู่ไปกับการตระหนักถึง sustainability อาจจะไม่ยากอย่างที่คิด อย่างไรก็ดีในบางธุรกิจที่มีการปรับเปลี่ยนไปบ้างแล้วนั้นอาจมีความท้ายทายมากขึ้น ก่อนหน้านี้อาจเคยได้ยินแนวคิด Go Lean, Get Green กระบวนการทำงานโดยจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเปล่า ซึ่งนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมให้เกิดความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยุคนี้อาจพูดได้ว่า Go Digital, Get Green การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสู่ชีวิตและกระบวนการทำงาน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น สร้างโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และนำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด

ผู้เขียน :
ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์
คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 16-18 มกราคม 2566