​จุดกำเนิดธนาคารแห่งประเทศไทย


สวัสดีปีใหม่ 2566 แด่ผู้อ่านทุกท่านครับ สำหรับปีนี้นับเป็นก้าวย่างปีที่ 81 ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "แบงก์ชาติ" ผู้ดูแลเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และดูแลระบบการเงินของประเทศให้มีเสถียรภาพ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เขียนจะขอพาท่านผู้อ่านย้อนเวลากลับไปกว่า 8 ทศวรรษ สำรวจจุดกำเนิดธนาคารกลางของไทย ซึ่งผู้เขียนได้เคยรวบรวมไว้จากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะจดหมายเหตุที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ร่วมกับ ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย ดร.สรา ชื่นโชคสันต์ และคุณนิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์ กันครับ

จุดเริ่มต้นของแบงก์ชาติเกิดขึ้นในปี 2485 ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกเข้าสู่ประเทศไทย บังคับให้ไทยต้องยอมเป็นพันธมิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ญี่ปุ่นต้องการจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นมาในประเทศไทย เพื่อเป็นผู้ควบคุมทางการเงิน โดยมีหัวหน้าและที่ปรึกษาเป็นชาวญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งไทยยอมรับไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถให้คนต่างชาติมาควบคุมระบบการเงินในประเทศได้ตามใจชอบ

ในขณะนั้น รัฐบาลไทยจึงได้ร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นอย่างรวดเร็วและรอบคอบ โดยใช้เวลาเพียง 2 เดือน ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นมาอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ธันวาคม 2485 โดยต่อยอดจากสำนักงานธนาคารชาติไทยที่ได้จัดตั้งและเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อยืนยันกับญี่ปุ่นว่าไทยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการเงินอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ญี่ปุ่นเข้ามาทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางให้

แบงก์ชาติจึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อปกป้อง "อธิปไตยทางการเงิน" ของประเทศ และต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤติการเงินตั้งแต่วันแรก เนื่องจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยประสบปัญหาเงินเฟ้อสูง เพราะเมื่อประเทศอยู่ในภาวะสงคราม มีความต้องการใช้เงินบาทจำนวนมาก ทั้งจากทหารญี่ปุ่นและรัฐบาล จึงมีการขอ "พิมพ์เงินเพิ่ม" เพื่อเอามาใช้จ่ายในระบบ

ก่อนญี่ปุ่นยกทัพเข้าประเทศ ไทยมีธนบัตรใช้งานอยู่ประมาณ 275 ล้านบาท แต่เมื่อสงครามยุติ ไทยพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้งานเกือบ 2,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7 เท่า ในเวลาไม่ถึง 4 ปี จึงเป็นความท้าทายของแบงก์ชาติ ที่จะต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อสูง จนธนบัตรไม่มีมูลค่ากลายเป็นแค่แผ่นกระดาษ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรก ได้บันทึกหลักการป้องกันเงินเฟ้อในสมัยนั้นไว้ว่า

"1. ต้องดึงเงินออกจากมือประชาชนมาเข้าคลัง 2. ควบคุมการให้เครดิต มิให้เกินกว่าความจำเป็นจริงๆ โดยปฏิบัติตามหลัก 2 ประการนี้ อำนาจการซื้อที่อยู่ในมือประชาชนจะลดน้อยลง ระดับราคาสินค้าก็จะพุ่งขึ้นรวดเร็วมิได้ ... อาการแห่งโรคเงินเฟ้อก็จะไม่รุนแรง"

ในท้ายที่สุด เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง แม้ไทยจะยังเจอปัญหาเงินเฟ้ออยู่บ้าง แต่ก็รอดพ้นจากวิกฤติเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) ได้สำเร็จ

มีจุดที่น่าสนใจในปี 2489 คือ เมื่อรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องวิธีการลดปริมาณเงินในระบบเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ เมื่อความเห็นไม่ตรงกันและไม่มีวิธีการอื่นใดในการทัดทานแล้ว พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงจุดยืนรักษาหลักการที่ถูกต้องและมีผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นเป้าหมายสูงสุด

นับได้ว่า ตั้งแต่แรกก่อตั้งแบงก์ชาติได้มีสิ่งหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา นั่นคือ จิตวิญญาณที่ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ และได้พยายามยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจวบจนปัจจุบันครับ


บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด


ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 14 มกราคม 2566