​เงินรูเบิลรัสเซียแข็งค่า...เรื่องจริงหรือภาพลวงตา?

ช่วงปีนี้สกุลเงินประเทศต่าง ๆ อ่อนค่าไปตามกัน ถ้าเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งขึ้นมากหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยแรงสกัดเงินเฟ้อ แต่เงิน “รูเบิลรัสเซีย” กลับแข็งค่ามากทั้งที่โดนคว่ำบาตรหนักจากนานาชาติตะวันตก สร้างความประหลาดใจให้ผู้ติดตามสถานการณ์ว่า เหตุใดเงินรูเบิลฆ่าไม่ตาย? เนื้อแท้เบื้องหลังคืออะไรกันแน่?

Background, blur, out of focus, bokeh, pasteurization. Coins of the Russian ruble. The rise of the ruble exchange rate. Payment for gas in Russian currency

ช่วงแรกที่รัสเซียบุกยูเครน เงินรูเบิลอ่อนค่าหนักนานนับเดือน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขอความร่วมมือชาติพันธมิตรช่วยกันคว่ำบาตรลงโทษรัสเซียรุนแรงอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อลดความเชื่อมั่นของโลกที่มีต่อเศรษฐกิจรัสเซียและต้องการลดความแข็งกร้าวของรัสเซียลง ทำให้นักลงทุนเทขายเงินรูเบิลจนอ่อนค่าเกือบครึ่งหนึ่งจากราว 80 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐก่อนโดนคว่ำบาตร เป็นกว่า 150 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นเดือน มี.ค. 65 นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของรัสเซียยังถูกตัดออกจากระบบสื่อสารโอนเงินระหว่างธนาคารในโลก (SWIFT) เงินสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารกลางรัสเซียฝากหรือลงทุนในสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปก็ถูกอายัดไม่ให้เข้าถึงสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของเงินสำรองฯ รัสเซียทั้งหมดที่มีมูลค่ากว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รัสเซียยังโดนตัดออกจากระบบขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศและเรือทำให้ค้าขายกับโลกได้ลำบากขึ้น

เจอเช่นนี้รัสเซียจึงสู้กลับทุกทางให้เงินรูเบิลยังเป็นที่ต้องการ เงินตราต่างประเทศไม่ไหลออก เช่น ธนาคารกลางรัสเซียขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 10.5% เพิ่มจาก 9.5% เป็น 20% ทันทีในวันที่ 28 ก.พ. 65 หลังโดนคว่ำบาตรเพื่อดึงดูดเงินฝากไม่ให้โยกออกจากประเทศ และออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้มงวด เช่น ไม่ให้นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์รัสเซียถอนเงินตราต่างประเทศออก ไม่ให้ธนาคารขายเงินตราต่างประเทศให้ลูกค้ารายย่อยและกำหนดให้ลูกค้ารายย่อยสามารถถอนเงินจากบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศที่เปิดไว้ได้ไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และกำหนดให้บริษัทส่งออกต้องแลกรายได้เงินตราต่างประเทศ 80% กลับมาเป็นเงินรูเบิล รวมถึงใช้ไม้ตายกำหนดให้ประเทศผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียต้องจ่ายเป็นเงินรูเบิลเท่านั้น

กลยุทธ์แก้เกมของรัสเซียช่วยให้เงินรูเบิลกลับมาแข็งค่าจนแข็งเกินช่วงก่อนโควิดไปอีก ในเดือน เม.ย. ค่าเงินรูเบิลเริ่มกลับมาแข็งค่าได้อย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางรัสเซียจึงทยอยลดดอกเบี้ยลงหลายครั้ง ๆ ละ 3% ในวันที่ 8 เม.ย. 29 เม.ย. 26 พ.ค. และต่อมาลดต่ออีก 1.5% ในวันที่ 10 มิ.ย. มาอยู่ที่ 9.5% และเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดของบางมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายลง เช่น กำหนดให้บริษัทส่งออกต้องแลกรายได้เงินตราต่างประเทศ 50% กลับมาเป็นเงินรูเบิล หากดูภาพรวมตั้งแต่ต้นปีถึงกลางเดือน ก.ค. จะพบว่าเงินรูเบิลแข็งค่ากว่าเงินดอลลาร์สหรัฐราว 28% อยู่ที่ 57 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ (ในวันที่เขียนบทความนี้) สาเหตุจากดุลการค้าเกินดุลสูง ขณะที่ธนาคารกลางรัสเซียยังถูกคว่ำบาตรไม่สามารถเข้าแทรกแซงค่าเงินด้วยการเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินรูเบิลได้เช่นเดิม ทำให้รัสเซียเผชิญปัญหาค่าเงินรูเบิลแข็งมากจนทำให้ราคาสินค้าส่งออกแพง รายได้ส่งออกคิดกลับมาเป็นเงินรูเบิลมีมูลค่าน้อยลง ขณะที่ผู้นำเข้าแทบไม่ได้ประโยชน์จากเงินรูเบิลแข็ง เพราะถูกโลกแบนไม่ขายสินค้าให้ ดุลการค้าจึงเกินดุลสูงจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันแพง แต่การนำเข้ากลับหดตัวลงมาก



น่าสังเกตว่าเงินรูเบิลแข็งค่าไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจรัสเซีย แต่กลับสะท้อนผลจากกลไกฝืนธรรมชาติใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกเข้มข้น การโดนคว่ำบาตรทำให้การลงทุนระหว่างประเทศและการนำเข้าลดฮวบ ไม่เป็นผลดีในระยะยาวเพราะเศรษฐกิจรัสเซียจะปิดและมีขนาดเล็กลง ไม่สามารถนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในโลกได้เท่าทัน รัสเซียจึงจับมือพันธมิตรกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) ที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 3 พันล้านคน และหลายฝ่ายคาดกันว่ากลุ่ม BRICS จะมีบทบาทในการค้าโลกสูงเกือบครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 เพื่อเตรียมปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออก หาตลาดใหม่ แก้ปัญหาโลจิสติกส์ โดยกลุ่ม BRICS ประชุมเมื่อเดือน มิ.ย. ได้ข้อสรุปว่า ไม่เห็นด้วยที่ชาติตะวันตกใช้การคว่ำบาตรเป็นอาวุธ และมีแผนตั้งเครือข่ายระบบการชำระเงินใหม่ เน้นใช้สกุลเงินตนเองค้าขายระหว่างกัน เพื่อไม่ให้ระบบการค้า ระบบการเงิน ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมของชาติตะวันตกและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมากเกินไป

เงินรูเบิลรัสเซียแข็งเกินพื้นฐานเศรษฐกิจยามนี้เป็นโจทย์ที่น่าคิด หากธนาคารกลางรัสเซียยกเลิกมาตรการคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือชาติอื่นปรับตัวหาตัวเลือกอื่นไม่ทนซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแพงจากรัสเซียต่อแล้ว เช่น สหภาพยุโรปที่ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอีกรอบในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 65 โดยประกาศให้ประเทศสมาชิกยุติการพึ่งพาพลังงานรัสเซียให้ได้ภายในสิ้นปี 2565 ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียอาจถดถอยจากผลกระทบของการคว่ำบาตรที่น่าจะรุนแรงขึ้นในช่วงข้างหน้า เงินเฟ้ออาจกลับมาเร่งตัวสูงหากเงินรูเบิลกลับมาอ่อนค่ามากอีกครั้ง (ล่าสุดธนาคารกลางรัสเซียคาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจรัสเซียปีนี้อาจหดตัวถึง 8 - 10% เงินเฟ้อสูง 14 - 17% แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก) น่าสังเกตว่ายิ่งนานวันเข้า รัสเซียอาจยิ่งหาสินค้านำเข้าได้ลำบากขึ้น โดยเฉพาะสินค้านำเข้าเพื่อสนับสนุนการเติบโตและเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจ

จึงน่าจับตาพลังของกลุ่ม BRICS ว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญช่วยให้รัสเซียปรับทิศโครงสร้างเศรษฐกิจได้ผลแค่ไหน ซึ่งจะมีนัยต่อการเดินเกมของรัสซียในการเข้ารุกรานยูเครนแบบยอมหักไม่ยอมงอต่อไป และส่งผลให้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์แบ่งขั้วอำนาจในโลกนับวันจะยิ่งขยายวงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดค่ะ


ผู้เขียน :
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2565


อ้างอิง

- Institute of International Finance, “Russia Sanctions: Adapting to a Moving Target,” 8 June 2022
- Statement by Bank of Russia Governor Elvira Nabiullina in follow-up to Board of Directors meeting on 10 June 2022 http://www.cbr.ru/eng/press/event/?id=12934