​ภาวะเช่นไรจูงใจให้ธุรกิจลงทุน : จากมุมมองผู้ประกอบการ (2)

นายณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล

ในตอนที่แล้ว ผมได้นำเสนอภาวะการลงทุนภาคเอกชนของไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า การลงทุนยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอดีตและประเทศอื่นในภูมิภาค เนื้อหาฉบับนี้จึงต้องการเล่าถึงรายละเอียดของสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจชะลอการลงทุนในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาจากมุมมองของผู้ประกอบการ รวมถึงนัยทางนโยบายของการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป ดังนี้

(1) สาเหตุที่มีน้ำหนักมากที่สุดมาจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่กำลังการผลิตส่วนเกินยังเหลืออยู่มาก สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่ระบุว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นข้อจำกัด อันดับแรกของการดำเนินธุรกิจ (รูปที่ 1) โดยปัจจัยเหล่านี้จัดเป็นปัจจัยเชิงวัฏจักร (Cyclical Factor) ซึ่งหมายความว่าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นและมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนเพื่อขยายกาลังการผลิต

(2) สาเหตุรองลงมาคือปัญหาเชิงโครงสร้าง (Structural Factor) ซึ่งเริ่มส่งผลชัดเจนขึ้นในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาและจะกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากปัญหาดังกล่าวดู เหมือนจะขยายตัวมากขึ้นจนอาจเป็นเหตุให้กลุ่มธุรกิจลดการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อจำกัดเชิงโครงสร้างดังกล่าวสามารถแบ่งเป็น 3 ข้อหลัก คือ
(2.1) ธุรกิจไม่สามารถยกระดับเทคโนโลยีการผลิตได้ เห็นได้ชัดเจนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้า อาทิ Hard Disk Drive ที่แม้ความต้องการตลาดโลกมีทิศทางหดตัวจากความล้าสมัยของสินค้า แต่ไทยยังพึ่งพิงการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ในสัดส่วนสูง และ Integrated Circuit (IC) ที่ไทยไม่สามารถผลิตและ พัฒนาชิ้นส่วนต้นน้ำได้เอง ได้แก่ Semiconductor และ Wafer Fabrication รวมถึงกำรออกแบบ IC เป็นต้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้การลงทุนใหม่ต้องการห่วงโซ่การผลิตที่ครบวงจร และมีความพร้อมในการรองรับเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งประเทศไทยยังไม่มี ทำให้การลงทุนในกลุ่มธุรกิจนี้ยังกระจุกตัวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย
(2.2) การขาดแคลนแรงงานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แรงงานไทยที่มีทักษะและมี ความรู้เฉพาะทางมีแนวโน้มหายากมากขึ้น ประกอบกับค่าจ้างที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทำให้กลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น และยังไม่มีการเพิ่มมูลค่าสินค้า หรือผลิตภัณฑ์จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตไปตั้งโรงงานผลิตในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมีความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและช่างเทคนิค โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้แม้ผู้ประกอบการจะมีการลงทุนในเครื่องจักร เพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องความรู้และทักษะของแรงงานที่ไม่ตรงกับงาน นอกจากนี้ แรงงานไทยยังขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ต่อยอดเพื่อให้สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง
(2.3) นโยบายภาครัฐที่ไม่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่อง ถือเป็นข้อจำกัดสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจ ลงทุนของผู้ประกอบการหลายราย ตัวอย่างปัญหาที่สำคัญในช่วงนี้ คือนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ เช่น นโยบายคลัสเตอร์ที่ภาคเอกชนบางส่วนมองว่าขาดความชัดเจนเกี่ยวกับเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้นการลงทุนในไทยยังลดลงจากผู้ประกอบการรายเก่าบางรายที่เคยได้รับสิทธิ ประโยชน์แบบเดิม เกรงว่าจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายใหม่ จึงชะลอการลงทุนออกไปหรือตัดสินใจย้ายฐานการผลิต เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากประเทศเพื่อนบ้านแทน เช่น กรณีผู้ประกอบการในกลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนได้รับการอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานภาครัฐของต่างประเทศ ในการยื่นเอกสารเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รวดเร็วกว่าของไทย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มยานยนต์ ที่เห็นว่าเกณฑ์การคิดอัตราภาษีศุลกากรในการนำเข้ารถยนต์ไม่ชัดเจน โดยไม่ได้ระบุ สัดส่วนการนำเข้าที่จะได้รับการยกเว้นภาษี จึงตัดสินใจระงับแผนการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์บางรุ่น เนื่องจากเกรงว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง นอกจากนี้ ความต่อเนื่องของนโยบายเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลยังคงเป็นความกังวลของผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่อาจส่งผลต่อการชะลอการลงทุนในระยะนี้

(3) สาเหตุสุดท้ายคือ กฎเกณฑ์บางประการของภาครัฐ โดยกฎที่มีผลต่อการชะลอการลงทุน ของภาคเอกชนอย่างเด่นชัดคือ กฎหมายผังเมืองใหม่ ที่ทยอยบังคับใช้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และปิดโอกาสการลงทุนในบางพื้นที่ที่ธุรกิจสนใจ และ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่จำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนาน ขณะที่กฎเกณฑ์ภาครัฐอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการเคยกล่าวถึงเป็นเพียงอุปสรรคบั่นทอนบรรยากาศการลงทุนแต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก (รูปที่ 2) อย่างไรก็ดี ภาครัฐตระหนักในเรื่องกฎเกณฑ์เหล่านี้และอยู่ระหว่างการปรับปรุง เพื่อลดอุปสรรคและเร่งการลงทุน


แม้ปัญหาด้าน Cyclical Factor จะสามารถคลี่คลายได้ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในและต่างประเทศแต่ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก ในปัจจุบันทำให้ยากที่จะคาดการณ์ว่าปัญหาดังกล่าวจะหมดลงเมื่อใด ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหา StructuralFactor เป็นอุปสรรคสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่หน่วงรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากไม่รีบแก้ไขอย่างเร่งด่วนจะบั่นทอนความสามารถในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนไปเรื่อย ๆ จนอุตสาหรรมไทยไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไป ภาวะเช่นนี้ จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญให้นักธุรกิจต้องลงทุนเพื่อความอยู่รอด กล่าวคือเอกชนต้องปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและยกระดับนวัตกรรมการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใหม่ ๆ ของตลาด ซึ่งหมายถึงการลงทุนทั้งในเครื่องจักรและ R&D ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาแรงงานที่มีแนวโน้มขาดแคลน ในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการลงทุนในการสร้าง Human Capital ให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตการทำงานเพื่อรับมือกับพลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ภาครัฐก็ต้องช่วยแก้ไขปัญหาโครงสร้างของประเทศทั้งเรื่องนวัตกรรมและแรงงานที่สะสมมานาน โดยภาครัฐสามารถสร้างองค์กรที่ช่วยลดต้นทุนการทำ R&D และสะสมองค์ความรู้ให้เอกชนนำไปต่อยอดได้โดยง่าย และในส่วนของการสร้าง Human Capital ภาครัฐสามารถช่วยปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้มุ่งเน้นไปในการสร้างแรงงานที่มีทักษะสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศแต่สิ่งที่สำคัญคือ การที่ภาครัฐและเอกชนร่วมกันกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และร่วมมือกันแบบ hand in hand เพื่อก้าวข้ามความท้าทายดังกล่าวข้างต้นไปด้วยกัน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย