​นางสาวพนิดา มูลพฤกษ์
ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

เคยเกิดคำถามในใจคุณก่อนจะจ่ายเงินเพื่อซื้อของสักชิ้นบ้างไหมคะ ว่าจริง ๆ แล้วของสิ่งนั้นเหมาะกับเราไหม จะซื้อไหวไหม ยี่ห้อไหนดี ถ้าใช้แล้วแพ้ ไม่พอดี ใส่ไม่ได้ จะทำอย่างไร โดยเฉพาะการเลือกของที่มี “เรื่องต้องรู้”มากมายที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจซื้อ เช่น สินค้าหรือบริการทางการเงิน

ถ้าคุณรู้สึกว่าการเลือกสินค้าหรือบริการทางการเงินเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน และทำให้คุณประหม่าหรือไม่กล้าถามคนที่ชวนคุณซื้อหรือสมัคร ขอให้ลองจินตนาการว่าการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินก็ไม่ต่างจาก เวลาคุณเลือกใครสักคนมาเป็นคนรู้ใจนั่นแหละคะ

การเลือกคนมาเป็นคนรู้ใจส่วนใหญ่แล้วทุกคนคงมีเทคนิคพื้นฐานคล้าย ๆ กัน เช่น ถ้าเป็นผู้หญิง ต้องบอกกับตัวเองไว้ก่อนว่าแม้เราไม่สวย แต่เราก็ "เลือกได้" ก่อนเลือกก็ต้องเข้าใจตัวเอง และ "กำหนดสเปกที่ต้องการ" ให้ได้เสียก่อน ค่อยไป "ส่องดูตัวเลือก" ที่มีอยู่และสืบข้อมูลเพื่อ "เปรียบเทียบคุณสมบัติ" ว่าตรงกับสเปกเราหรือไม่ หากมองรอบกายแล้วเลือกไม่ถูก อาจต้องหาผู้เชี่ยวชาญ (ที่ได้ใบอนุญาต) เป็นผู้แนะนำ เมื่อได้ตัวเลือกแล้วก่อนตกล่องปล่องชิ้น ต้องถามใจตัวเองและสำรวจความพร้อมของตนว่า พร้อมที่จะทำตามเงื่อนไข และ "ไปกันได้รอดหรือไม่" นอกจากนี้เราต้องตระหนักว่าถึงแม้ใครจะแนะนำว่า คน ๆ นี้ดีอย่างไร หากไม่ตรงกับสเปกที่คุณวางไว้แล้ว "ก่อน say Yes คุณมีสิทธิปฏิเสธ" ไม่เลือกได้เช่นกัน

ในแง่ของการลงทุน มีตัวเลือกที่ Hot และโดดเด่นในตลาดขณะนี้คือการเอาเงินฝากและประกันชีวิตมาขายคู่กัน พร้อมเสนอสิทธิประโยชน์แบบพิเศษ เช่น การฝากเงินที่ได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ หากซื้อประกันชีวิตด้วย หากเราต้องการซื้อประกันชีวิตอยู่แล้ว Promotion นี้จะดี เพราะนอกจากจะได้ลดภาษี ได้ความคุ้มครอง และมีโปรแกรมออมเงินระยะยาวแล้ว ยังได้ดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มอีกด้วย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ผสมผสานกันเหมือนเลือกแฟนใจดี แถมชอบดูแลเราอีกด้วย

ทั้งนี้ หากคุณไม่คุ้นเคยกับประกันชีวิต ขอสรุปคุณลักษณะของประกันชีวิตแบบง่าย ๆ ดังนี้ (1) ผลตอบแทน ถ้าคุณเสียชีวิต (ตามเงื่อนไขสัญญา) บริษัทประกันจะจ่ายเงินตามวงเงินคุ้มครอง หรือถ้าคุณอยู่จนครบกำหนดสัญญา ก็จะได้เงินคืนพร้อมผลตอบแทน (2) เงื่อนไขการฝาก ต้องคงเงินไว้จนกว่าจะครบกำหนดสัญญา และต้องชาระเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่อง (3) เบี้ยประกันที่จ่ายสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ (ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี) และ (4) การขอรับเงินคืนก่อนระยะเวลาตามสัญญา สามารถทำได้ด้วยการยกเลิกประกัน แต่จะได้เงินคืนเฉพาะส่วนที่เป็นมูลค่ากรมธรรม์ ซึ่งจะน้อยกว่าค่าเบี้ยประกันที่คุณจ่ายไปเพราะช่วงแรกทางบริษัทประกัน มีค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองความเสี่ยงค่อนข้างสูง เช่น ค่าออกกรมธรรม์ ค่าตรวจสุขภาพ ค่าบำเหน็จตัวแทนประกันชีวิต ดังนั้นหากยกเลิกในปีแรก ๆ ก็จะได้รับเงินคืนน้อยกว่าปีหลัง

ทั้งนี้ หากคุณพบว่ายังไม่เข้าใจผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ควรปรึกษาพนักงานธนาคารที่มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต จากคณะกรรมการกากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งโดยปกติจะมีบัตรประจำตัวหรือป้ายแสดงให้เห็นชัดเจน โดยตอนรับฟังคำอธิบายจากพนักงานดังกล่าว ให้คุณคิดถึงคาถา 4 คำจำง่าย ๆ ว่าเขาจะต้อง "ไม่บังคับ ไม่หลอก ไม่รบกวน เปิดเผยโปร่งใส" ขอยกตัวอย่าง คือ 1) ไม่บังคับ หากคุณคิดแล้ว ต้องการแค่เงินฝาก ก็ห้ามให้เขาบังคับให้คุณทำประกันด้วย 2) ไม่หลอก ให้ เข้าใจผิด เช่น หลอกว่าประกันชีวิตคือเงินฝาก (ประกันคือสิ่งที่ดี ถ้าคนซื้อเข้าใจและต้องการ) 3) ไม่รบกวน สิทธิส่วนบุคคลของลูกค้า เช่น หากมีการขายทางโทรศัพท์แล้วคุณแจ้งว่าไม่ต้องการซื้อ บริษัทควรนำชื่อและ เบอร์โทรของคุณออกจากข้อมูลการเสนอขายทางโทรศัพท์ทันที และ 4) พนักงานต้องให้ข้อมูลแบบเปิดเผย โปร่งใส เช่น บอกทั้งข้อมูลส่วนที่เป็นประโยชน์และข้อควรระวังที่อาจจากัดสิทธิคุณในอนาคต

ทั้งนี้ หากเกิดปัญหา เช่น การขายของพนักงานไม่เป็นไปตามคาถาข้างต้น ขอแนะนำให้คุณติดต่อ call center ของสถาบันการเงินนั้น ๆ เพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหา

แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม หรือภายในระยะเวลามาตรฐานการให้บริการที่สถาบันการเงินประกาศไว้ (https://www.1213.or.th àสื่อและโปรแกรมคำนวณàตารางแสดงระยะเวลาการให้บริการ ทางการเงิน (SLA) ) ให้คุณติดต่อ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร 1213 หรือ www.1213.or.th เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้การบริการเป็นไปตามคาถา 4 คำจำง่ายๆ “ไม่บังคับ ไม่หลอก ไม่รบกวน เปิดเผยโปร่งใส” นะคะ อย่าลืมนะคะแม้เราไม่สวย (ไม่หล่อ) แต่เราก็ "มีสิทธิ เลือก" และ "มีสิทธิปฏิเสธ" ค่ะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย