ดร.ดอน นาครทรรพ
ดร.นุวัติ หนูขวัญ
ดร.นครินทร์ อมเรศ
สายนโยบายการเงิน

บทบาทหนึ่งที่สาธารณชนมีความคาดหวังต่อนักเศรษฐศาสตร์ คือ การประเมินภาวะเศรษฐกิจซึ่งโดยทั่วไปแล้วถือเป็นเรื่องปกติที่กูรูต่างสำนักจะมีมุมมองต่อทิศทาง ผลกระทบ และระยะเวลาของสถานการณ์เศรษฐกิจต่าง ๆ กันไป แต่อุบัติการณ์ในวงกว้างของไวรัสโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดความท้าทายต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างชัดแจ้ง แทบทุกสำนักเห็นตรงกันถึงการที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญภาวะชะลอตัวลง สอดคล้องกับมุมมองของผู้ดูแลเศรษฐกิจทั่วโลกที่เร่งดำเนินมาตรการป้องปรามโดยฉับพลัน อันสะท้อนถึงภาวะของเศรษฐกิจที่กำลังฟุบตัวลงอย่างค่อนข้างแน่นอนแล้ว คำถามสำคัญที่ยังมีความคลุมเครือจึงเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไหร่

ขอเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนมุมมองกับทุกท่านด้วยการทบทวนภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยหากยังจำกันได้ ในช่วงไตรมาสแรกของปีก่อน เรากำลังคาดหวังถึงการขยายตัวแตะระดับร้อยละ 4 เป็นปีที่สามติดต่อกันจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนั้นที่ยังเข้มแข็งแม้จะเริ่มชะลอตัวลงบ้าง นอกจากนี้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนยังมีความแข็งแกร่งเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี สถานการณ์ด้านบวกเหล่านี้ได้สนับสนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงสิ้นปี 2561


สถานการณ์กลับพลิกผันเป็นภาพยนตร์คนละเรื่อง เมื่อความตึงเครียดระหว่างความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนทวีความรุนแรงขึ้นตลอดทั้งปี 2562 จนกระทั่งสร้างความอึมครึมให้กับเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง การตอบโต้ด้านภาษีหลายรอบส่งผลกระทบด้านลบต่อสถานการณ์การค้า การผลิต และการลงทุนโลก เศรษฐกิจไทยจึงได้รับผลกระทบเช่นกัน และชะลอตัวลงมาสู่การขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 โดยมีตัวเลขการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบสี่ปี การบริโภคเองก็ได้รับผลกระทบผ่านการจ้างงานและรายได้ครัวเรือนที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก


กระแสการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสาเหตุสำคัญให้หลายธนาคารกลางทั่วโลกกลับทิศนโยบายการเงินจากแนวทางการดำเนินนโยบายแบบตึงตัวมาเป็นการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลาย ประเทศพัฒนาแล้วบางแห่งตัดสินใจกลับมาดำเนินมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร ขณะที่บางแห่งได้ทดสอบขอบล่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังรักษาประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน (Effective Lower Bound) ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ติดลบอยู่แล้วให้ติดลบลงไปอีก สำหรับประเทศไทย กรรมการนโยบายการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสองครั้งในเดือนสิงหาคมและพฤศจิกายนปี 2562

เมื่อปี 2563 มาถึง เราเริ่มต้นปีด้วยความหวังว่าปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกประเทศจะสดใสขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสหรัฐอเมริกาและจีนบรรลุข้อตกลงการเจรจาการค้าระยะแรก แต่สามปัจจัยที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ได้ทำให้เศรษฐกิจที่ควรจะฟื้นกลับฟุบลงอย่างน่าเสียดาย ปัจจัยดังกล่าว คือ


1. การอุบัติของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทบกับเศรษฐกิจไทยในหลายช่องทาง โดยช่องทางที่เด่นชัด ได้รับผลกระทบสูงสุด และจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นคัญ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว การหยุดการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในประเทศจีน ทั้งในภาคอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ จะก่อให้เกิดหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาครวมถึงประเทศไทยด้วย

2. ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ส่งผลกระทบต่อแผนการกระตุ้นภาคการคลัง โดยเฉพาะในด้านการลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากภาวะซบเซาในปัจจุบัน

3. สถานการณ์ภัยแล้ง ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงปีก่อนและมีผลกระทบรุนแรงมากกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้า ภัยแล้งทำให้ผลผลิตในภาคเกษตรลดลง ทำให้การบริหารจัดการน้ำมีความยากลำบากหลังปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยลง จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อของครัวเรือนในภาคเกษตร

ทั้งสามปัจจัยส่งผลกระทบครอบคลุมครัวเรือนและธุรกิจในหลากหลายสาขาเศรษฐกิจ จึงเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางอยู่แล้วจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าโลก ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่ทุกสำนักเศรษฐศาสตร์จะมีความเห็นลงรอยกันเป็นเสียงเดียวว่าเศรษฐกิจปีนี้จะชะลอตัวลงมากจากปีก่อนซึ่งก็ขยายตัวต่ำอยู่แล้ว และสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการผสานมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ สำหรับด้านนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงินได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาสู่ระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ร้อยละ 1 ต่อปี โดยดำเนินการเป็นธนาคารกลางประเทศแรกในโลกที่ปรับลดดอกเบี้ยทันควันเพื่อรับมือกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ก่อนที่ธนาคารกลางในอีกหลายประเทศจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินเล็งเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวมีความจำเป็นในการป้องปรามไม่ให้ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มีผลกระทบด้านลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากเกินไป


อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินเพียงด้านเดียวคงไม่เพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์อยู่แล้วด้วย มาตรการอื่น ๆ ที่ให้การช่วยเหลือทางการเงินและการคลังที่ตรงจุดจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการยกระดับภาวะเศรษฐกิจที่คนหมู่มากทั้งครัวเรือนและธุรกิจรายย่อยได้รับผลกระทบทั้งด้านสภาพคล่องและหนี้สิน ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้มีแผนความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งจากการแพร่ระบาดของไวรัสและภัยแล้ง มาตรการเหล่านี้ครอบคลุมทั้งการขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ การพักการชำระหนี้เงินต้น และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาการขาดสภาพคล่องให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจที่ประสบปัญหาได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการ SMEจะได้รับมาตรการเยียวยาจากภาครัฐทั้งในด้านการเพิ่มวงเงินสินเชื่อค้ำประกันและวงเงินสินเชื่อต่าง ๆ นอกจากนี้ แบงก์ชาติเองก็ได้ปรับกฎเกณฑ์ให้เอื้อต่อการที่สถาบันการเงินจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ SME ให้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน ซึ่งเป็นการริเริ่มให้ภาคธุรกิจมีศักยภาพในการชำระหนี้และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยรวมแล้วการเชื่อมโยงและส่งเสริมซึ่งกันและกันระหว่างมาตรการที่หลากหลายเป็นเกราะคุ้มกันสำคัญท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจจะเลวร้ายลงได้

เมื่อถกมาถึงจุดนี้ ปัจจัยด้านลบทางเศรษฐกิจอาจก่อให้เกิดความวิตกกังวลได้มาก หลายท่านอาจจะอยากทราบประเด็นที่สำคัญกว่า เศรษฐกิจไทยกำลังมุ่งหน้าไปสู่ภาวะชะลอตัวเรื้อรังหรือไม่ กล่าวคือ เศรษฐกิจที่ฟุบตัวนี้จะต้องใช้เวลายาวนานเพียงใดในการฟื้นตัว น่าสังเกตว่าทั้งสามปัจจัยด้านลบที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงนี้ เป็นปัจจัยชั่วคราว ทั้งโรคระบาด การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า และภัยแล้ง ซึ่งได้รับการเยียวยาดูแลโดยหลากหลายมาตรการทั้งด้านการเงินและการคลังอย่างทันท่วงที เราจึงยังอาจคาดได้ว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะเผชิญกับการชะลอตัวเรื้อรัง แต่ความไม่แน่นอนที่จะฟื้นตัวได้เร็วยังมีอยู่มากผ่านทั้งผลกระทบทางตรงในหลายภาคเศรษฐกิจที่อาจชะงักงัน หรือ ผ่านทางอ้อมที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดการเงินอาจลดลง

โดยสรุปแล้ว ปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นจากอาการฟุบเมื่อใด คือ การผสานความร่วมมือระหว่างนโยบายเศรษฐกิจที่หลากหลาย แต่ที่ต้องเป็นการดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงความยั่งยืน ทั้งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ในระดับมหภาคแต่ก็ไม่ก่อให้เกิดความเปราะบางต่อเสถียรภาพการเงินในระยะยาว และมาตรการเยียวยาด้านการเงินการคลังแก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงที่ต้องเอื้อให้เกิดการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>​English Version