​Upskill & Reskill: สร้างทักษะ สร้างอาชีพให้ “แรงงานเข้มแข็ง” ในยุคดิจิทัล

ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ - ธนาคารแห่งประเทศไทย นางสาวชนาภา ตันติปุระ - London School of Economics, U.K. นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ และนายอนันต์ วิชิตานันท์ - กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา



ตลาดแรงงานทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายอย่างมากทั้งจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่นและโควิด 19 ทำให้ในอนาคตหลายคนต้องทำงานในอาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อนตอนเรียนหนังสือ และหลายคนต้องเปลี่ยนงานและอาชีพหลายครั้งในตลอดช่วงชีวิตการทำงาน ดูเหมือนเทรนด์การเปลี่ยนแปลงนี้จะยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อโลกมุ่งไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล ดังนั้น การสร้างโอกาสเข้าถึงการยกระดับและการพัฒนาทักษะใหม่ๆ แก่แรงงานทุกกลุ่มทุกช่วงวัยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จึงมีความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน[1] บทความฉบับนี้จะนำเสนอถึงแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อแรงงานและสาธารณชนทั่วไป


ดิจิทัลแพลตฟอร์มของภาครัฐเป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้แรงงานได้ไปต่อ

รายงานภาวะการทำงานล่าสุด เดือน ธ.ค. 2563[2] ระบุว่ามีผู้ว่างงานลดลงอยู่ที่ 5.9 แสนคน หรืออัตราการว่างงาน 1.5% ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง และมีประเด็นที่สะท้อนความเปราะบางคือ มีผู้เสมือนว่างงาน (ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) สูงถึง 2.47 ล้านคน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้แม้ไม่ตกงานแต่มีรายได้น้อยลงมากย่อมไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารและการค้าที่ได้รับผลกระทบมาก หากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าก็จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานตอนต้น (อายุ 15-29 ปี) ที่เพิ่งจบการศึกษาที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานจะหางานทำยากขึ้น ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนผลกระทบของโควิด-19 ต่อพี่น้องแรงงานมากถึงกว่า 3 ล้านคน และยังต้องเผชิญกับภาวะหนี้ครัวเรือนสูงซ้ำเติมรายได้ครัวเรือนที่ลดลง

ภาครัฐได้มีนโยบายด้านแรงงานสู้ภัยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง[3] ทั้งมาตรการรักษาการจ้างงาน ช่วยสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และการจ้างงานผ่านระบบออนไลน์ เช่น Smart Job Center ของกระทรวงแรงงาน และ M-Powered Thailand ซึ่งเป็นพอร์ทัลที่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ไมโครซอฟท์ จำกัด กับหน่วยงานภาครัฐ และมาตรการ Upskill Reskill และ New Skill แก่แรงงานเพื่อให้มีทักษะตรงตามความต้องการของนายจ้าง และส่งเสริมการเรียนรู้ทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มของภาครัฐ เช่น “ไทยมีงานทำ” และ Futureskill-newcareer.in.th ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น


แพลตฟอร์มพัฒนาทักษะ: สร้างโอกาสและอาชีพอย่างเสมอภาค

ผู้เขียนได้รวบรวมกลไกสถาบันและหลักสูตรการพัฒนาทักษะแรงงานของไทยในปัจจุบัน (รูป 1) ทั้งของภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาที่ให้บริการวิชาการแก่สังคมเพื่อเป็นประโยชน์แก่แรงงานและประชาชนทั่วไปที่สนใจยกระดับหรือสร้างทักษะใหม่ จากบทความฉบับที่แล้วชี้ว่าแรงงานไทยทั้งหมดต้อง Reskill โดย 50% ต้องพัฒนาทักษะอย่างน้อย 3 เดือน และอีก 50% ต้องพัฒนาทักษะนาน 3 เดือนขึ้นไป นั่นหมายถึง ด้าน Demand side จะมีความต้องการพัฒนาทักษะมากขึ้น คือให้แก่คนทำงานถึง 38.7 ล้านคน โดยกลุ่มแรงงานทักษะสูงไม่น่าเป็นกังวลนัก ส่วนสองกลุ่มตรงกลางคือ แรงงานฝีมือและไม่ใช้ทักษะทำซ้ำและกลุ่มแรงงานฝีมือและใช้ทักษะทำซ้ำมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติ

ส่วนด้าน Supply side ถ้าประเมินจากข้อมูลข้างต้นพบว่า การพัฒนาทักษะของแรงงานในระบบทั้งที่จัดโดยภาคเอกชน หรือจัดโดยศูนย์ฝึกอบรมของภาครัฐน่าจะเพียงพอในระดับหนึ่งและควรปรับให้ทันกับเทรนด์อนาคตอยู่เสมอ โดยมีสถาบันแกนหลักของรัฐ คือ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดทั่วประเทศของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่งของ กทม. หน่วยงานฝึกอาชีพของกระทรวงมหาดไทย การศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ ของ กศน.[4] สถาบันยานยนต์ และสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น



ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้มุ่งสู่โลกออนไลน์

วิกฤติโควิด-19 เร่งให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทั้งการดำเนินชีวิตและการทำงานแบบ Work from Home ของผู้คนทั่วโลก รวมถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการเรียนรู้แบบ e-Learning และเป็นจุดเปลี่ยนการเติบโตของดิจิทัลแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะแรงงานทั้งในประเทศ เช่น Skilllane, Skooldio, CMU MOOC และ สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DISDA) หน่วยงานตั้งใหม่เพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานผ่าน DSA app ของกระทรวงแรงงาน และดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ได้รับความนิยมสูง เช่น Skillshare, Coursera, Udemy, และ LinkedinLearning ก็สร้างโอกาสการเรียนรู้ให้เปิดกว้างขึ้น (รูป 2)


ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล[5] กรรมการผู้จัดการ “Skooldio” กล่าวว่าธุรกิจ Skooldio คือ “การเอาคนสร้างเทคโนโลยี และการเอาเทคโนโลยีสร้างคน” โควิด-19 เป็นตัวเร่งทำให้ตลาดนี้มีความพร้อมส่งผลให้คอร์สสอนออนไลน์เติบโตมาก เพราะสถาบันและโรงเรียนถูกปิดทำให้ผู้คนต้องหันมาเรียนออนไลน์ และคาดว่าจะยังเติบโตต่อไปแม้ว่าจะคลายล็อกดาวน์แล้ว เป้าหมายสูงสุดของ Skooldio คือ ส่งเสริมให้ Life-Long Learning เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คน มีเนื้อหาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ ทำให้คนทำงานได้เก่งขึ้น และต้องมีแพลตฟอร์มที่ดี ง่าย และสะดวก

ผอ. เฉลิมพงษ์ บุญรอด[6] กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระบุว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงานปรับตัวสู้ภัย โควิด-19 โดยเปิดหลักสูตรพัฒนาอาชีพแบบออนไลน์ผ่าน DSD mLearning กว่า 30 หลักสูตรให้แก่ประชาชนทั่วไปทั้งเพื่อ Upskill และ Reskill สามารถวัดผลได้และมีวุฒิบัตรรับรอง แต่ต้องมีภาคปฏิบัติ ณ ศูนย์อบรม และได้เผยแพร่ผ่านช่อง Youtube ด้วย แต่จะไม่สามารถวัดและประเมินผลได้ หลักสูตรที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์ รองลงมาคือ การใช้ Microsoft Excel Advance และภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และยังจัดฝึกอบรมให้แก่สถานประกอบการที่หยุดชั่วคราวช่วงโควิด เช่น ธุรกิจสปาและธุรกิจโรงแรม นอกจากนี้ ยังเร่งพัฒนาการฝึกอบรมผ่านออนไลน์โดยร่วมมือกับบริษัทหัวเว่ย (ประเทศไทย) นำสัญญาณ 5G เข้ามาใช้ในการฝึกอบรม รวมถึงร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทางเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายจัดฝึกอบรมมากขึ้น

ในระยะข้างหน้า ไทยยังมีความท้าทายในการพัฒนา/ปรับทักษะอาชีพใหม่ๆ ให้แก่พี่น้องแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ถึง 20 ล้านคน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปและเป็นเกษตรกร ที่ได้สะท้อนความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือพัฒนาทักษะฝีมือเฉพาะสาขาอาชีพ รวมถึงด้านเทคโนโลยี พัฒนาอาชีพเสริม รวมทั้งการรวมกลุ่มอาชีพ[7] และการนำแพลตฟอร์มการพัฒนาทักษะที่มีอยู่ปัจจุบันมาอยู่บนแพลตฟอร์มหลักคล้ายกับของ skillsfuture ของสิงคโปร์ หรือ skills-and-training ของออสเตรเลีย เพื่อสะดวกต่อการค้นหาของแรงงาน และต่อการวางนโยบายของรัฐในอนาคต และที่สำคัญคือ แรงงานเองก็จะต้องมีทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 คือ ความสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ (the skill of learning new skills) ด้วยเช่นกัน


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา


Endnotes:[1] Commissioner Nicolas Schmit reiterates the importance of up & reskilling opportunities for all, in High-Level Forum on Individual Learning Accounts (online conference), 4-5 March 2021[2] สรุปผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร เดือนันวาคม 2563 สำนักงานสถิติแห่งชาติ [3] รายงานภาวะสังคม (Social Situation and Outlook) ไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2563 ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 เดือน ก.พ. 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ[4] รายงานผลการดำเนินงานสำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ 2562: การจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำที่สอดคล้องกับศักยภาพของชุมชนและความต้องการของตลาดเน้นหลักสูตรการศึกษาอาชีพ ช่างพื้นฐาน โดยใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน เช่น เรียนผ่าน Youtube ผ่าน Facebook Live ระบบการเรียนรู้ในระบบเปิด (Massive Open Online Courses : MOOCs) และ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction : CAI) เป็นต้น[5] บทสัมภาษณ์ “Skooldio โฟกัส Life-Long Learning เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คน”, The Story Thailand, 19 ตุลาคม 2020[6] การสัมภาษณ์นายเฉลิมพงษ์ บุญรอด ผู้อำนวยการสำนักสำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)[7] รายงานฉบับสุดท้ายฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการสำรวจข้อมูลแรงงานนอกระบบ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เสนอสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ต.ค.

>>