Climate Change ติดไซเรน: แล้งฉุดใจ ท่วมฉุกเฉิน

​ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ


“พวกคุณกล้าดียังไง” (How dare you!) คำพูดของเด็กหญิงวัย 16 ปี เกรียตา ทุนแบร์ก นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน ที่ทั้งตรึงใจและเตือนสติผู้คนมากมายให้หันกลับมาสนใจการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ซึ่งเธอได้ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อผู้นำจากหลากหลายประเทศทั่วโลกที่ร่วมประชุมว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ค.ศ. 2019 (UN Climate Action Summit 2019) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หากแต่เรื่องสภาวะโลกร้อนก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบว่า สภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นจริง หรือเป็นเพียงแค่แนวคิดของคนบางกลุ่มเท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อลองมองการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศจะเห็นถึงความรุนแรงที่มีมากขึ้นในช่วงระยะหลัง อาทิ ยุโรปที่เผชิญการเกิดคลื่นความร้อน (Heat Wave) ถึงสองครั้งในช่วงเวลาห่างกันไม่ถึงหนึ่งเดือนในปีนี้ ทำให้หลายเมืองมีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตด้วยสภาพอากาศที่ร้อนผิดปกตินี้หลายร้อยราย พายุเฮอริเคนโดเรียนที่พัดถล่มพื้นที่ตอนเหนือของบาฮามาสเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นับเป็นเฮอริเคนที่มีความรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เข้าถล่มบาฮามาส และยังเคลื่อนเข้าไปสร้างความเสียหายต่อยังรัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาอีกด้วย ถือได้ว่าเป็นมหาวาตภัยที่มีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้


ไม่เพียงแต่ประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน ประเทศไทยของเราเองก็เช่นกัน หากยังจำกันได้เมื่อช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา ในเดือน พ.ค. - มิ.ย. 62 ฝนมาช้ากว่าปกติอีกทั้งปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาก็น้อยกว่าค่าปกติ ซึ่งเกิดจากโลกที่กำลังเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อนทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติและมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ฝนตกน้อยกว่าภาคอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรโดยเฉพาะข้าวซึ่งต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก นอกจากนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญหลายแห่งที่อยู่ในระดับต่ำสร้างความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรหรือไม่ ในช่วงดังกล่าวปัญหาภัยแล้งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงไม่เว้นแต่ละวัน แต่เพียงไม่กี่เดือนถัดมาภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ประเทศไทยกลับกลายเป็นอุทกภัยที่เกิดจากการเผชิญกับพายุโซนร้อนโพดุล และตามมาด้วยพายุโซนร้อนคาจิกิ ที่เกิดขึ้นอย่างหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าพื้นที่เกษตรบางส่วนอาจได้รับผลดีจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นจากพายุที่เข้ามา แต่ในบางพื้นที่ เช่น อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด ได้รับความเสียหายอย่างมากจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้น และสถานการณ์ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง จนเมื่อ 20 ก.ย. 62 รัฐบาลต้องออกประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยในพื้นที่สี่จังหวัดดังกล่าวให้เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ระดับสาม ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเมื่อครั้งเกิดอุทกภัยรุนแรงทางภาคใต้ในช่วง ธ.ค. 59 - ม.ค. 60

ผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและภัยธรรมชาติเหล่านี้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะต่อภาคเกษตรประเทศไทยที่มีกำลังแรงงานในระบบถึงหนึ่งในสาม เกษตรกรส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาฟ้าฝนเป็นหลักเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงระบบชลประทานได้จึงมีความเสี่ยงสูงที่รายได้จะแปรเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรงมากขึ้นในยุคปัจจุบัน ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมที่ทำให้ผลผลิตเสียหาย โดยผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่เพียงที่เกษตรกรซึ่งได้รับรายได้ลดลง แต่ยังส่งผลต่อไปถึงประชาชนทั่วไปที่บริโภคผลผลิตทางการเกษตร ผ่านราคาผลผลิตที่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้มากตามปริมาณผลผลิตที่ขาดแคลนจากภัยธรรมชาติ ดังเช่นกรณีของราคาข้าวเหนียวที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ตามปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวที่เหลือน้อยจากปีก่อนซึ่งเกิดจากการที่ผลผลิตปีก่อนบางส่วนเสียหายจากพายุโซนร้อนเซินติญ จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ รวมทั้งความกังวลต่อผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ในปีนี้ที่คาดว่าจะลดลงจากผลของภัยแล้งและน้ำท่วมทำให้ราคาข้าวเหนียวปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตามกลไกของตลาด นี่เป็นเพียงตัวอย่างของผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและภัยธรรมชาติที่กระทบต่อเนื่องทั้งในมุมของเกษตรกรผู้ผลิตสินค้า และในมุมของประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้บริโภค ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ผู้ดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจการเงินจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตามภาวะสภาพอากาศทั้งของโลกและในประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องประเมินผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกรจากสถานการณ์สภาพอากาศทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมในกรณีต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า เพื่อนำไปสู่การใช้นโยบายเศรษฐกิจการเงินที่เหมาะสมได้อย่างทันกาล

อย่างไรก็ดี แม้ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินจะตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตภาคเกษตรและความเป็นอยู่ของเกษตรกร รวมถึงภาพเศรษฐกิจในองค์รวมแล้วก็ตาม หากแต่ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินเพียงภาคส่วนเดียวคงไม่สามารถบรรเทาหรือป้องกันมิให้เกิดสภาพอากาศที่แปรปรวนหรือภัยธรรมชาติรุนแรงที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นได้ แม้ภาครัฐจะออกมาช่วยเหลือเกษตรกรหรือผู้ประสบภัยในรูปแบบของการให้เงินช่วยเหลือ แต่การช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบและยั่งยืนนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงการจัดสรรให้เหมาะสมเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูกในภาคเกษตร โดยต้องมีการวางแผนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเตือนภัยพิบัติที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างทันกาลซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับภัยต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีและสามารถลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเชื่อมโยงประชาชนกับภาครัฐในการดำเนินการต่าง ๆ รวมถึงเป็นศูนย์รวมความรู้ของเกษตรกรด้วยกันเอง โดยอาจใช้เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดกลยุทธ์ในการทำการเกษตรที่ปรับตัวให้เหมาะสมสภาพอากาศที่แปรปรวน อาทิ การทำฟาร์มลอยน้ำ (ปลูกผักลอยน้ำโดยใช้ผักตบชวา) ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน บริหารจัดการการเพาะปลูกด้วยการปลูกพืชผสมผสาน หรือการเพิ่มอาชีพทางเลือกนอกเหนือจากการทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว ในที่สุดแล้วเมื่อสภาพอากาศและภัยธรรมชาติอาจรุนแรงและเลวร้ายลงมากจนถึงจุดที่เราไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ได้ หากทุกคนไม่ร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้แล้วใครเล่าจะช่วยเรา


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>​Download​​ PDF