ในวันที่พวกเราพลโลกกำลังเดินหน้าสลัดให้พ้นบ่วงโควิด-19 ด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามพัฒนาการด้านการเข้าถึงวัคซีนและความคืบหน้าของการผลิตยารักษานั้น บาดแผลทางเศรษฐกิจและสังคมของโควิด-19 อาจยังต้องใช้เวลาเยียวยากันอีกระยะหนึ่งโดยเฉพาะในมิติตลาดแรงงานที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่เดิม จึงขอเชิญทุกท่านร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองของการทำงานระหว่างทุกภาคส่วนในช่วงวิกฤตเพื่อเป็นบทเรียนล้ำค่าในการเดินหน้าต่อไป
ขอเริ่มจากการประกาศผลรางวัลเพื่อระลึกถึง Alfred Nobel ในสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2021 ซึ่งครึ่งแรกเป็นของอาจารย์ David Card “สำหรับผลงานวิจัยเชิงประจักษ์ด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน” และอีกครึ่งเป็นรางวัลร่วมกันระหว่างอาจารย์ Joshua D. Angrist และอาจารย์ Guido W. Imbens “สำหรับผลงานด้านเครื่องมือในการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ” โดยบทสัมภาษณ์อาจารย์ทั้งสามท่านแสดงถึงความสำคัญของการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการพิสูจน์ความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งที่เกิดขึ้นและนโยบายต่าง ๆ โดยอาจารย์ Angrist กล่าวถึงอคติจากการเลือกตัวอย่างว่าการที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชั้นนำมีเงินเดือนสูงและประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่าสาเหตุคือการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเหล่านั้น แต่ที่จริงแล้วมหาวิทยาลัยอาจเป็นฝ่ายคัดเลือกนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงอยู่ก่อนและมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตอยู่แล้ว นอกจากนี้ อาจารย์ Imbens ได้กล่าวถึงการออกแบบการวิจัยเชิงประจักษ์โดยอาศัยการทดลองตามธรรมชาติ ทำให้ทราบว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุใดขณะที่ตัวแปรอื่นคงที่
การประเมินผลของนโยบายที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จึงนับเป็นจังหวะอันดีที่จะสามารถจำแนกเหตุจากมาตรการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้สอดคล้องกับหลักการทดลองตามธรรมชาติ และเมื่อประเมินเหตุของความสำเร็จได้แล้วจะนำมาประยุกต์ใช้เป็นตัวอย่างเพื่อต่อยอดการออกแบบนโยบายสาธารณะในระยะต่อไปด้วย ทั้งนี้ รายงาน White Paper “แนวทางการปรับโครงสร้างตลาดแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และธนาคารแห่งประเทศไทย ประมวลพัฒนาการในตลาดแรงงานหลังโควิด-19 ไว้ว่าเกิดกลไก 3 I ในการปรับโครงสร้างตลาดแรงงานไทย คือ ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Infrastructure) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐเป็นฐานสำคัญให้เกิดความร่วมมือเชิงสถาบัน (Institution) ที่ผู้ดำเนินนโยบายมองเห็นภาพรวมในการทำงานตลอดช่วงกระบวนการไม่ติดขัดการทำงานแบบแยกส่วนเช่นในอดีต จึงเกิดการออกแบบมาตรการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) เพื่อเอื้อให้ผู้เล่นในตลาดแรงงานไทยสามารถปรับตัวทั้งในการด้านสวัสดิการและการเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งกลไก 3 I สอดประสานส่งผ่านกันและกันเพราะเมื่อผู้เล่นในตลาดได้รับแรงจูงใจแล้วก็จะช่วยให้ฐานข้อมูลมีความครอบคลุม และผู้ดำเนินนโยบายได้กระชับความสัมพันธ์ในการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เหนียวแน่น ในขั้นต่อไปจึงควรใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ประเมินผลของนโยบายการปรับโครงสร้างตลาดแรงงานเพื่อทบทวนการออกแบบมาตรการให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้นต่อไป
บทเรียนจากผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์สะท้อนถึงโอกาสในการทดลองตามธรรมชาติผ่านการวิจัยเชิงประจักษ์บนฐานของกลไก 3 I ทั้ง โครงสร้างข้อมูล ความร่วมมือ และมาตรการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้สามารถคัดเลือกตัวแปรเชิงนโยบายซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา สำหรับการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง
ผู้เขียน :
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 16 ตุลาคม 2564