นายอธิพงษ์ สายแก้ว

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมติอนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสที่ร้อยละ 0.5 – 3.0 ต่อปี เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินของปี 2557 ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมที่ใช้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 แม้การอนุมัติเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าวจะล่าช้ากว่าปกติเนื่องจากมีการ ยุบสภาไปก่อนทำให้ไม่มี ครม. ที่สามารถอนุมัติเป้าหมายได้ แต่ก็ไม่ได้กระทบต่อแนวทางการดาเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่อย่างใด โดย ธปท. ได้ยึดถือเป้าหมายเดิม ไปพลางในช่วงที่ยังไม่มีการอนุมัติเป้าหมายเงินเฟ้อ เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา หรือการดูแล ให้อัตราเงินเฟ้อต่ำและไม่ผันผวนเกินไปจนคาดการณ์ไม่ได้

ปีนี้นับเป็นปีที่ 15 ที่ ธปท. ได้ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (คือการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงิน) ซึ่งที่ผ่านมาก็มีส่วนช่วยดูแลเสถียรภาพด้านราคาให้อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องและเหมาะสมกับระดับศักยภาพของประเทศ อีกทั้งยังช่วยรักษาเสถียรภาพการเงินได้ในระดับหนึ่ง

ไทยเราไม่ใช่ประเทศเดียวที่ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินโดยยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ มีอีกหลายประเทศที่ธนาคารกลางประกาศใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วหรือกลุ่มที่กำลังพัฒนา อาทิ นิวซีแลนด์ อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย เป็นต้นไม่เว้นแต่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ในระยะหลังหันมาประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจนให้สาธารณชนทราบว่าเป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินในระยะยาว สะท้อนให้เห็นถึงหนึ่งในพันธกิจหลักของธนาคารกลางทั่วโลก คือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคา

การกำหนดและประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อให้ประชาชนรับรู้ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดูแล เงินเฟ้อของธนาคารกลางด้วยการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนในอนาคต โดยเฉพาะในระยะปานกลางถึงระยะยาว การมีเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจนให้ประชาชนได้ยึดถือและอ้างอิงนั้น หากประชาชนเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะดูแลให้อัตราเงินเฟ้อในอนาคตอยู่ ณ ระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้มีปัจจัยใดมากระทบทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นหรือต่ำลงจากเป้าหมาย ประชาชนจะไม่เปลี่ยนการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต เพราะเชื่อว่าธนาคารกลางจะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในที่สุด ส่งผลให้ประชาชนไม่เปลี่ยนพฤติกรรมในด้านต่างๆ ทั้งการบริโภค การลงทุน หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนค่าจ้างและราคาสินค้า ซึ่งท้ายสุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะทำให้เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงกลับเข้าสู่เป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ ทั้งนี้ งานศึกษาเชิงประจักษ์ในต่างประเทศต่างแสดงให้เห็นว่า การกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมีส่วนช่วยลดระดับและความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อ และช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตของสาธารณชน รวมทั้งช่วยลดผลกระทบต่อเงินเฟ้อจากปัจจัยที่ไม่คาดคิด อาทิเช่น ราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้น เป็นต้น

การที่ประเทศมีอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ผันผวนและอยู่ในระดับต่ำตามที่ธนาคารกลางกำหนด รวมทั้งยังอยู่ในวิสัยที่ประชาชนสามารถคาดการณ์ได้นั้นจะช่วยลดความไม่แน่นอนเรื่องต้นทุนการกู้ยืมระยะยาว และเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในการตัดสินใจบริโภค ออม และลงทุนแก่ภาคเอกชน รวมทั้งยังช่วยรักษาขีดความสามารถในแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน

ดังนั้น กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจน กับการดำเนินนโยบายการเงินที่โปร่งใสและยึดมั่นในหลักการของธนาคารกลางจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจนและเหมาะสมจะเป็นตัวชี้นำการตัดสินใจวางแผนใช้จ่ายและลงทุน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่พฤติกรรมของประชาชนในทุกภาคส่วน อันจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อธนาคารกลางว่าจะรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายตามที่ได้สัญญาไว้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย