​กองทุนประกันภัยพิบัติ: มาตรการฟื้นความเชื่อมั่น

นายนิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์

หากใครติดตามข่าวในแวดวงเศรษฐกิจการเงิน คงจะทราบข่าวการเปิดจำหน่าย “กรมธรรม์ภัยพิบัติ” ของ กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ในวันพุธที่ 28 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก โดยนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานเปิดงานด้วยตนเอง หลายคนอาจจะสงสัยว่ากองทุนนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เหตุใดจึงมีความสำคัญมากต่อธุรกิจประกันภัยไปจนถึงเศรษฐกิจโดยรวม ในฐานะที่ผมได้มีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการหลายราย ทั้งฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ซื้อประกันภัย และฝ่ายบริษัทประกันซึ่งเป็นผู้ขายประกันภัย จึงอยากนาเรื่องราวที่ได้รับรู้มาเล่าสู่กันฟังครับ

มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 ได้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ผู้ที่มีประกันอุทกภัยคงเบาใจได้บ้างเนื่องจากมีบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายตามสัญญาที่ตกลงกัน จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่ามีผู้ยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนทุกประเภทรวมกันสูงถึง 4.8 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องมีการประเมินความเสียหายที่แท้จริงโดยผู้เชี่ยวชาญก่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทน นอกจากนี้ การจ่ายเงินจะจ่ายเป็นงวดตามข้อตกลงกับผู้ซ่อมแซมหรือการนำเข้าเครื่องจักร เช่น จ่ายงวดแรกเมื่อทำหนังสือ L/C งวดถัดไปจ่ายเมื่อเครื่องจักรลงเรือ งวดสุดท้ายจ่ายเมื่อเครื่องจักรมาถึงท่าเรือของไทย เป็นต้น

โดยปกติ บริษัทประกันภัยของไทยไม่ได้รับความเสี่ยงไว้เองทั้งหมด แต่ส่งต่อความเสี่ยงประมาณ 90% ไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อ (Reinsurer) ในต่างประเทศ โดยยอมจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยต่อให้แก่ Reinsurer ดังนั้น หากบริษัทเก็บเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าได้มากกว่าเบี้ยประกันภัยต่อที่จ่ายให้ Reinsurer บริษัทประกันภัยจะมีกำไรและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สำหรับอุทกภัยในปี 2554 นั้น Reinsurer ได้ตกลงรับประกันภัยต่อไว้ก่อนแล้ว จึงเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าสินไหมทดแทน 90% ตามที่รับความเสี่ยงไว้ ซึ่งทาง ธปท. เริ่มเห็นเม็ดเงินส่วนนี้ไหลเข้ามาในไทยบางส่วนแล้ว โดยเฉพาะจาก Reinsurer สัญชาติญี่ปุ่น

แต่หลังจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย ซึ่งเป็นช่วงปลายปีที่บริษัทประกันภัยจะต้องต่อสัญญาสำหรับปี 2555 กับ Reinsurer ทาง Reinsurer ไม่ยอมรับประกันภัยต่อ หรือ ยอมรับแต่เพิ่มค่าเบี้ยประกันภัยต่อในอัตราที่สูงขึ้นมาก จากเดิมไม่ถึง 1% เป็น 10-15% ของมูลค่าความเสี่ยงสูงสุด (PML: Probable Maximum Loss) บริษัทประกันภัยของไทยจึงไม่สามารถขายประกันภัยให้ลูกค้าได้เพราะต้นทุนสูงขึ้นมาก หรือต้องเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าสูงมากเพื่อชดเชย ขณะที่ความต้องการซื้อประกันภัยทั้งจากภาคครัวเรือนและภาค ธุรกิจพุ่งสูงขึ้น ธุรกิจประกันภัยจึงอยู่ในภาวะที่ผู้ขายประกันมีอำนาจต่อรองมากกว่า หรือที่ศัพท์เฉพาะใน วงการประกันเรียกกันว่า Hard market

เมื่อกลไกตลาดไม่สามารถช่วยให้ธุรกิจประกันภัยดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ รัฐบาลจึงต้องเข้ามามี บทบาทโดยการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” เพื่อทำหน้าที่แทน Reinsurer ต่างประเทศ ซึ่ง เป็นวิธีเดียวกับที่หลายประเทศใช้เมื่อมีเหตุการณ์ภัยพิบัติขนาดใหญ่เกิดขึ้น อาทิ ในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน บราซิล

กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติจัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 โดยใช้งบประมาณจากเงินกู้ 50,000 ล้านบาท กลไกการทำงานของกองทุนฯ คือ บริษัทประกันภัยของไทยทุกแห่ง จะเป็นผู้ขายกรมธรรม์ภัยพิบัติซึ่งครอบคลุมภัยพิบัติน้ำท่วม พายุ และแผ่นดินไหว และส่งต่อความเสี่ยง 99% ให้แก่กองทุนฯ ธุรกิจประกันภัยจึงสามารถดำเนินต่อไปได้ กลไกนี้ช่วยให้ Reinsurer ต่างประเทศเห็นว่า บริษัทประกันภัยของไทยมีทางเลือกส่งต่อความเสี่ยงไปยังที่อื่น ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยต่อปรับลดลงมาจาก 10-15% เหลือ 5-6% นอกจากนี้ ยังมี Reinsurer รายใหม่เข้ามาในตลาดของไทยอีกด้วย เช่น Berkshire Hathaway

สำหรับเงื่อนไขของกรมธรรม์ภัยพิบัติที่เริ่มขายเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) บ้านเรือนที่อยู่อาศัย เบี้ยประกันภัย 0.50% ของวงเงินคุ้มครอง 2) กลุ่ม SME (มูลค่าทรัพย์สินน้อยกว่า 50 ล้านบาท) เบี้ยประกันภัย 1.00% ของวงเงินคุ้มครอง และ 3) ภาคอุตสาหกรรม เบี้ยประกันภัย 1.25% ของ วงเงินคุ้มครอง โดยบ้านเรือนที่อยู่อาศัยคุ้มครองไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนกลุ่ม SME และภาคอุตสาหกรรมจะคุ้มครองแบบจำกัดความรับผิด (Sublimit) อยู่ที่ 30% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ทาประกันภัยพิบัติ

บางคนอาจกังวลว่ากองทุนฯ จะสามารถจ่ายค่าสินไหมได้หมดหรือไม่หากเกิดภัยพิบัติขึ้นจริง ขณะนี้กองทุนมีทางเลือกสามารถไปซื้อประกันภัยต่อกับ Reinsurer ได้ หากเบี้ยประกันภัยต่ออยู่ที่ 5% และ ต้องการส่งต่อมูลค่าความเสี่ยงสูงสุด (PML) ขนาดเท่ากับค่าสินไหมที่มีการเรียกร้องในปีนี้ที่เท่ากับ 480,000 ล้านบาท จะต้องจ่ายเบี้ย 24,000 ล้านบาท ซึ่งเงินกองทุนที่มีอยู่ก็สามารถจ่ายได้ และเมื่อมองทางด้านรายรับ โรงงานอุตสาหกรรมที่ซื้อประกันภัยในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 8 ล้านล้านบาท หากทุกโรงงานซื้อประกันภัยพิบัติและจ่ายเบี้ยประกัน 1.25% ของวงเงินคุ้มครอง 30% กองทุนฯ จะได้รับเบี้ยประกันปีละ 30,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่ากองทุนนี้มีโอกาสอยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว ซึ่งผมก็เห็นด้วยที่เราจะมีกองทุนนี้เช่นเดียวกับต่างประเทศเพื่อดูแลระบบประกัยภัยพิบัติ เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นกลไกตลาดจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

โดยสรุป กองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติเป็นมาตรการที่ช่วยให้ 1) เศรษฐกิจได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ 2) ประชาชนและธุรกิจ โดยเฉพาะ SME สามารถเข้าถึงประกันภัยพิบัติได้ในราคาที่เหมาะสม ถึงแม้อัตราเบี้ยประกันภัยจะสูงกว่าในอดีต แต่ยังต่ำกว่าราคาตลาดที่ไม่มีการแทรกแซง 3) การจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีอุทกภัยทำได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากใช้ระดับความสูงของน้ำท่วมจากพื้นบ้านเป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงิน และระบบคุ้มครองแบบจำกัดความรับผิด (Sublimit) 4) เบี้ยประกันภัยต่อลดลงเข้าสู่อัตราที่สมดุลมากขึ้น และ 5) ผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเข้ามาช่วยให้กระบวนการประกันภัยสามารถดำเนินการต่อไปได้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย