​ทางออกลูกหนี้ กับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ถึงสถานะทางการเงิน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกหนี้ เริ่มจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในลักษณะปูพรม (broad-based) เพื่อลดผลกระทบทั้งจากการแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐอย่างเร่งด่วน และได้มีการปรับมาตรการให้มีลักษณะเฉพาะเจาะจง (targeted) มากขึ้น โดยสนับสนุนให้ลูกหนี้ที่ยังคงได้รับผลกระทบ จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ควรติดต่อสถาบันการเงิน และบริษัทที่ให้กู้ยืมเงิน เพื่อขอสมัครเข้ารับความช่วยเหลือ (opt-in) แทนการให้ความช่วยเหลือเป็นวงกว้างแก่ลูกหนี้ทุกราย

Asian woman is clear, manage for expenses, it's important of account and finance of company. By collect receipt document or slip to record on deadline for correct payment report with Dollars of USA; Shutterstock ID 1641437560; purchase_order: ฺBOT; job: ;


นับจากนี้ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ ควรเร่งหารือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว ให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละราย

สถานการณ์ปี 2565 ยังคงมีการแพร่ระบาดจากเชื้อโควิด 19 สายพันธ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้รุนแรงไม่มากเท่าการระบาดในปี 63-64 แต่ยังส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รายได้ประชาชน รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและ SMEs อย่างยาวนาน เป็นวงกว้างและไม่แน่นอน ธปท. จึงส่งเสริมให้มีการแก้ไขหนี้เดิม อย่างยั่งยืน โดยเน้นให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาวแบบยืดหยุ่น โดยปรับลดค่างวดให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และประมาณการกระแสเงินสดของลูกหนี้แต่ละราย เพื่อให้ลูกหนี้มองเห็นภาระหนี้ของตัวเองและวางแผนทางการเงินได้ชัดเจนขึ้น ตลอดจนหากเกิดสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจทำให้รายได้ของลูกหนี้ในอนาคตไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ยังสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นได้

นอกจากนี้ ธปท. ยังจัดให้มีช่องทางในการดูแลลูกหนี้ที่เดือดร้อนให้ได้รับการช่วยเหลือ และได้รับข้อแนะนำในการแก้ไขหนี้อย่างเหมาะสม มีมาตรการเสริมเพื่อให้เข้าถึงการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืนอย่างครบวงจร ลูกหนี้เลือกลงทะเบียนเข้ารับบริการได้ตามความต้องการ อาทิ

"โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน" ช่องทางติดอาวุธ ให้คำปรึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร เพิ่มโอกาสลูกหนี้บรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ดีขึ้น

หมอหนี้เพื่อประชาชน ให้คำปรึกษา แนวทางการปรับตัวและปรับธุรกิจ ให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ แก่ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่ประสบปัญหา วิเคราะห์สถานะหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ การเตรียมตัวเจรจาแก้ไขหนี้ หรือขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง การแบ่งปันประสบการณ์การปรับตัวและปรับธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้สามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ดีขึ้น ตลอดจนปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

ประชาชน และ SMEs ผู้สนใจสามารถเริ่มต้นศึกษาความรู้ และขอรับคำปรึกษาการแก้ปัญหาหนี้ ได้หลากหลายช่องทาง อาทิ เว็บไซต์หมอหนี้เพื่อประชาชน (www.bot.or.th/app/doctordebt) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลการแก้ไขหนี้เบื้องต้นด้วยตนเอง จากบทความ สื่อวีดีโอ E-book ต่างๆ หรือ ผ่านช่องทางแชทบอท (Chatbot) เพื่อสอบถาม พูดคุย ค้นหาคำตอบเรื่องการแก้ไขหนี้ ทั้งทางหน้าเว็บไซต์และทางไลน์ "หมอหนี้เพื่อประชาชน @doctordebt" โดยสามารถสอบถามข้อมูลมาตรการช่วยเหลือ ช่องทางติดต่อผู้ให้บริการทางการเงิน ตรวจสุขภาพทางการเงิน และรับข้อแนะนำการแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ความพิเศษของโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนอีกประการหนึ่ง คือ ลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบการ SMEs สามารถติดต่อขอคำแนะนำเชิงลึกเพิ่มเติมเป็นรายบุคคล จากทีมหมอหนี้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจาก ธปท. ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs บสย. (บสย. FA Center) และสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาผ่านเว็บไซต์โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน หรือติดต่อสอบถามได้ที่ ธปท. สำนักงานใหญ่ และสำนักงานภาค (ทั้ง 3 แห่งที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา) หรือที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร. 1213


"ทางด่วนแก้หนี้" ช่องทางเสริม สำหรับประชาชนหรือธุรกิจ แจ้งขอความช่วยเหลือด้านการผ่อนชำระหนี้

“ทางด่วนแก้หนี้” ช่องทางเสริมออนไลน์ สำหรับลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ ในช่วงที่มีมาตรการเว้นระยะทางสังคมเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 อาจทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้ หรือกรณีที่ลูกหนี้ติดต่อผู้ให้บริการแล้วแต่ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกัน โดย ธปท. จะเป็นตัวกลางประสานงานส่งข้อมูลลูกหนี้ไปยังผู้ให้บริการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการหาข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้ และลูกหนี้ในเรื่องการผ่อนชำระหนี้ที่สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้ที่ถูกปฏิเสธการช่วยแก้ไขหนี้ ให้สามารถได้รับการพิจารณาความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้อีกครั้ง ผู้สนใจลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ (www.1213.or.th/app/debtcase)

นอกจากนี้ สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditors) ที่ตั้งใจแก้ไขปัญหาหนี้ สามารถลงทะเบียนเข้ารับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้หลายสถาบันการเงินได้ในคราวเดียวกัน ผ่านทางช่องทางเว็บไซต์ดังกล่าว โดยมีแนวทางและวิธีการให้เจ้าหนี้ร่วมเข้าเจรจา ตกลงแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ด้วยกัน เพื่อลดระยะเวลา ขั้นตอน และอุปสรรคในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ และเพิ่มโอกาสการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน


การปรับโครงสร้างหนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้ประสบผลสำเร็จ

ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ขึ้นอยู่กับความตั้งใจในการแก้ไขหนี้ของลูกหนี้ การให้ข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน ตลอดจนความร่วมมือของเจ้าหนี้ที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง โดยไม่กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ ธปท.จึงสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายสื่อสารและให้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด หากลูกหนี้เริ่มมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ ควรรีบติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เพื่อร่วมกำหนดเงื่อนไขในการชำระหนี้ใหม่ที่เป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ ให้สอดคล้องกับปัญหา และความสามารถในการชำระหนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตระยะยาว อย่างไรก็ดี การเตรียมความพร้อมของลูกหนี้ในการศึกษามาตรการความช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ข้อมูลความเป็นไปได้ของธุรกิจ รวมทั้งการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ต่างๆ ก่อนเจรจาเจ้าหนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้สามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ธปท. มีทีมงานที่พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ และติดตามความคืบหน้ากับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบได้จริงและรวดเร็วทันสถานการณ์ และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้จะสามารถก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน


ผู้เขียน :
กานต์สินี เจริญกิจวัชรชัย
ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

คอลัมน์ "Young Economist" นสพ. ฐานเศรษฐกิจ
ฉบับวันที่ 17 เม.ย. 2565



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย