​ความท้าทายด้านแรงงานของไทยในเศรษฐกิจยุคใหม่

​​นางสาวพัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์

คนทำงานส่วนใหญ่ของประเทศมีทักษะไม่สูงคือร้อยละ 80 มีระดับการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษา และร้อยละ 60 ของแรงงานทั้งหมดเป็นแรงงานนอกระบบซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและเป็นแรงงานสูงอายุ แรงงานนอกระบบมักขาดปัจจัยทุนทั้งเครื่องจักรและเทคโนโลยี ส่งผลให้มีผลิตภาพที่ต่ำกว่าแรงงานในระบบ จากโครงสร้างตลาดแรงงานนี้ หากไทยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น คาดว่าน่าจะส่งผลให้เกิดความแตกต่างแบบทวิลักษณ์อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และอาจนำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมทั้งในด้านรายได้ และการเข้าถึงปัจจัยทุนมากขึ้น


ประสบการณ์ต่างประเทศ: การเกิดปรากฎการณ์ตลาดแรงงานสองขั้ว (Job Polarization)

ประสบการณ์จากกรณีศึกษาของตลาดแรงงานของสหรัฐอเมริกาที่มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตนำ เสนอในงานวิจัยของ National Bureau of Economic Research (NBER) โดย Jaimovich และ Siu (2012) ซึ่งแบ่งคนทำงานที่ไม่รวมผู้ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้กลุ่ม A คือ กลุ่มงานลักษณะประจำ (Routine) และใช้แรงงานเป็นหลัก เช่น งานด้านการขนส่ง ขนย้ายของ ก่อสร้าง ติดตั้ง ซ่อมแซม เครื่องจักร รวมถึงการผลิต กลุ่ม B คือ กลุ่มงานลักษณะประจำ (Routine) และใช้ความคิดเป็นหลัก เช่น งานด้านการขาย และงานบริษัท กลุ่ม C คือ กลุ่มงานลักษณะไม่ประจำ (Non-routine) และใช้แรงงานเป็นหลัก เช่น งานด้านบริการ และ กลุ่ม D คืองานลักษณะไม่ประจำ ( Non-routine) และใช้ความคิดเป็นหลัก เช่น ผู้บริหาร อาชีพที่เกี่ยวกับการเงิน และอาชีพเฉพาะทาง

ผลการศึกษาเชิงประจักษ์พบว่า เมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น จะทำให้ตลาดแรงงานเกิดปรากฎการณ์ตลาดแรงงานสองขั้ว (Job Polarization) คือ จำนวนแรงงานที่มีทักษะต่ำกลุ่ม C และแรงงานทักษะสูง กลุ่ม D จะมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่แรงงานที่มีทักษะต่ำกว่าคือ กลุ่ม A และกลุ่ม B จะมีจำนวนลดลง เนื่องจากมีการ Outsource งานในกลุ่มที่มีลักษณะประจำออกไปต่างประเทศ รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนที่ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือมีแนวโน้มที่จะตกงานมากขึ้น


กรณีของไทย: เทคโนโลยีทำให้ตำแหน่งงานบางประเภทหายไป

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ผู้ผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมหรือบริการต้องพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงและตอบสนองความต้องการของตลาดหรือลูกค้าได้ในยุคที่มีการแข่งขันสูง ในประเทศที่พัฒนาแล้วมักมีการใช้เทคโนโลยีเข้มข้นเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจให้รุดหน้าเพื่อผลิตสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งหากไทยจะก้าวไปสู่ระดับการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นในด้านหนึ่งมีผลดีต่อตลาดแรงงานคือ จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันเนื่องจากการผลิตจะใช้แรงงานในสัดส่วนที่น้อยลง ในอีกด้านหนึ่งก็สร้างผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



จากกรณีศึกษาของไทยที่ใช้กรอบการศึกษาแบ่งแรงงานตามลักษณะงาน (Job Characteristics) เช่นเดียวกับงานของ Jaimovich และ Siu (2012) (ดูรูป) พบว่าในตลาดแรงงานไทย ร้อยละ 40 (10.3 ล้านคน) ของจำนวนแรงงานทั้งหมดเป็นแรงงานในสาขาอาชีพที่อยู่ในกลุ่ม A คือกลุ่มงานลักษณะประจำและใช้แรงงาน ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานในสาขาการผลิต ก่อสร้าง และงานบริการสนับสนุนจำพวกติดตั้งซ่อมแซม ร้อยละ 20 (5.4 ล้านคน) อยู่ในกลุ่ม B คือกลุ่มงานลักษณะประจำและใช้ความคิดเช่น งานด้านการขาย และงานบริษัท ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการค้า และบันเทิงและนันทนาการร้อยละ 15 (3.4 ล้านคน) อยู่ในกลุ่ม C คือ กลุ่มงานลักษณะไม่ประจำและใช้แรงงาน กระจุกอยู่ในสาขาบริการที่พักและอาหารซึ่งเป็นงานด้านบริการ และร้อยละ 25 (6.5 ล้านคน) อยู่ในกลุ่ม D คืองานลักษณะไม่ประจำและใช้ความคิด ที่เป็นผู้บริหาร หรืออาชีพเฉพาะทางในสาขาการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคนิค และการเงิน

หากใช้กรอบการวิเคราะห์ของ Jaimovich และ Siu มาอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน
ของไทย ซึ่งการศึกษานี้ไม่รวมผู้ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมจำนวน 15 ล้านคน ผลการศึกษาสะท้อนว่า หากมีการนำ เทคโนโลยีมาใช้เพื่อทดแทนงานที่มีลักษณะประจำจะทำให้แรงงาน กลุ่ม A และ B เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งคนทำงานในกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 15 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมปลายจำนวน 12.5 ล้านคน ส่วนกลุ่ม C และกลุ่ม D ซึ่งทำงานในลักษณะไม่ประจำ และต้องใช้ทักษะเฉพาะตัว (Personal Skill) จะมีโอกาสในการหางานทำมากขึ้นซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน เช่น กลุ่มทักษะต่ำในงานบริการ และกลุ่มทักษะสูงที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่มีข้อสังเกตว่าปรากฏการณ์ตลาดแรงงานสองขั้วไม่ได้มาจากผลการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากผลของวัฏจักรเศรษฐกิจด้วย

อย่างไรก็ดี การจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางโดยใช้เทคโนโลยีก็ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย เนื่องจากไทยคงต้องเผชิญกับปัญหาตลาดแรงงานสองขั้วที่กลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำมีแนวโน้มที่จะสูญเสียตำแหน่งงานมากขึ้น ขณะที่ผู้ที่ทำงานด้านบริการ และกลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูงมีแนวโน้มที่จะมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มมากขึ้นระหว่างสองกลุ่มนี้ โดยแรงงานที่มีทักษะสูงซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าจะได้ประโยชน์ ในขณะที่แรงงานทักษะต่ำจำนวนมากที่ไม่สามารถพัฒนาความสามารถทันกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามาได้จะสูญเสียตำแหน่งงานไป

การที่ประเทศไทยจะสามารถเกาะขบวนรถไฟเศรษฐกิจดิจิตอลเพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางนั้นจึงจำ เป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทางด้านแรงงานอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงทุนและนวัตกรรมสำหรับแรงงานที่มีความเปราะบาง รวมถึงการมี “สถาบันฝึกอบรมทวิภาคีร่วมรัฐ-เอกชน” เพื่อเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงานในโลกอนาคต ที่จะทำให้แรงงานทุกกลุ่มได้รับผลดีจากเศรษฐกิจดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้น

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย