ภารกิจแก้หนี้ประชาชน: เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด 19 สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ (ตอน 2)

บทความตอน 2 นี้จะนำเสนอปัญหาเชิงโครงสร้างในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ ความคืบหน้าในการแก้ไขเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ และความท้าทายข้างหน้าของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย


ปัญหาเชิงโครงสร้างของธุรกิจเช่าซื้อ: ขาดกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้เช่าซื้อ และไม่มีหน่วยงานกำกับแบบเบ็ดเสร็จ

ในทางกฎหมาย ไทยยังไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเช่าซื้อไว้เป็นการเฉพาะ ในปัจจุบันการบังคับใช้สัญญาเช่าซื้อ ศาลจะใช้บทบัญญัติลักษณะเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับในฐานะที่เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงที่สุดและใช้หลักการตีความสัญญา ทำให้การตีความสัญญาเช่าซื้อมีข้อจำกัดและมีปัญหาในทางปฏิบัติ[1] ขณะเดียวกันในมิติด้านผู้บริโภค ทยก็ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้เช่าซื้อทำให้ต้องอาศัยกฎหมายหลายฉบับ ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรมปี 2540 และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีผลบังคับใช้กับสัญญาหลากหลายประเภทไม่ใช่เพียงสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น[2]

Car and coins with calculator on financial statement

ปัจจุบันธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อยังไม่มีผู้กำกับดูแลโดยเฉพาะทำให้ขาดแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานและเป็นธรรม และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นต้องใช้กฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับข้างต้นในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนซึ่งอาจทำให้แก้ไขไม่ตรงจุดและไม่มีประสิทธิภาพ ในทางปฏิบัติ สัญญาเช่าซื้อมีลักษณะคล้ายสินเชื่อจึงไม่ถูกกำกับดูแลการเรียกเก็บเพดานดอกเบี้ยสูงสุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และจากประกาศของแบงค์ชาติปี 2551 เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม โดยเน้นดูแลความโปร่งใส ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอและให้การกำหนดราคาโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บเป็นไปตามกลไกตลาด จึงอาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการกำกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากสัญญาเช่าซื้อ เช่น กรณีผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อบางรายคิดอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะรถมือสอง รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อาจสูงถึงร้อยละ 20-40 เป็นต้น

จากมุมมองด้านผลประกอบการ พบว่าธุรกิจเช่าซื้อและบริษัทลีสซิ่งขนาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกยังทำกำไรได้ดีในท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอยของประเทศ โดย ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีกำไรสุทธิรวมกันกว่า 6,744 ล้านบาท อาจสะท้อนถึงความไม่ปกติและปัญหาเชิงโครงสร้างของธุรกิจเช่าซื้อที่ขาดกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้เช่าซื้อรวมทั้งไม่มีผู้กำกับดูแลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ

งานวิจัยด้านกฎหมายหลายชิ้นเสนอให้กำหนดกฎหมายสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ไว้เป็นการเฉพาะเพื่อใช้ควบคุมการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าตอบแทนอื่น ๆ ในสัญญาเช่าซื้อให้มีความชัดเจนขึ้น[3] รวมถึงเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ปี 2540 เพื่อให้สอดคล้องกับการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างความเป็นธรรมในสังคม[4]


ทางออกเพื่อปลดล๊อกเพนพอยด์ (Pain points) ของลูกหนี้

จากข้อมูลศาลยุติธรรมพบว่า ในปี 2563 มีคดีเช่าซื้อที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลประมาณ 8 หมื่นคดี คิดเป็นร้อยละ 10 ของคดีผู้บริโภคที่ขึ้นสู่ศาลทั้งหมดกว่า 8 แสนคดี เป็นอันดับที่ 4 ของคดีผู้บริโภคทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติระบุว่า หนี้สินเชื่อประเภทต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีมีประมาณ 2 ล้านคดี และจากข้อมูลปี 2563 ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ฝคง.) ของแบงค์ชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีหนี้สัญญาเช่าซื้อถึง 12,171 ข้อร้องเรียน ตามสิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม (Right to be heard)[5] สรุปเพนพอยด์ (Pain Points) ของลูกหนี้เช่าซื้อที่ได้รับร้องเรียนอันดับต้นๆ (ภาพประกอบ) คือ

1) “หนี้เช่าซื้อส่วนขาด (ติ่งหนี้)” หลังจากที่มีการยึดรถและรถเข้าสู่การครอบครองของเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งได้เร่งนำรถออกขายทอดตลาดในราคาที่ไม่เป็นธรรม (ต่ำกว่าราคาจริงของรถมากทำให้เกิดหนี้เช่าซื้อส่วนขาดสูง) และ 2) “ค่าติดตามและทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม” (3,970 ข้อร้องเรียนหรือ 1/3 ของทั้งหมด) โดยมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะการคิดค่าติดตามในภาคสนาม และการเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่มีการกำหนดอัตราและจำนวนครั้งของการจัดเก็บ

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และแบงค์ชาติ โดยความสนับสนุนของสำนักงานศาลยุติธรรมได้ทำงานร่วมกันหาทางออกปัญหา “ติ่งหนี้”[6] โดยศึกษาแนวคำพิพากษาของศาล วิเคราะห์และจัดทำเป็นแอปพลิเคชันในรูปแบบที่ “โปร่งใส ใช้ง่าย ไม่ซับซ้อน” (https://www.ocpb.go.th/debt/) สำหรับคำนวณ “ภาระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ” (Self Check App) หากถูกฟ้องร้องเป็นคดีในศาล ให้ลูกหนี้เช่าซื้อได้ทดลองใช้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมขึ้นในการประกอบธุรกิจเช่าซื้อ

นอกจากนี้ สคบ. ได้ออกประกาศว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ปี 2561 กำหนดความชัดเจนในหลายประเด็น อาทิ ค่าธรรมเนียม “การทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ” ไม่รวมถึง “ค่าติดตามเอารถยนต์กลับคืน” เนื่องจากรถยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้ออยู่ เจ้าของรถตัวจริงตามกฎหมายคือผู้ให้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นต้น

วันนี้ที่รอคอยของผู้บริโภคก็มาถึง ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ “เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้” โดยรวมถึงหนี้ประเภทให้เช่าซื้อด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียกเก็บค่าติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรมมากขึ้น[7]


ความท้าทายของการแก้หนี้ประชาชน

ไทยควรเร่งปรับปรุงแก้ไขเพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นให้มีมาตรฐานคล้ายกับต่างประเทศ เช่น ในออสเตรเลียและมาเลเซีย หากลูกหนี้จ่ายเงินขั้นต้นไปแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ผู้ให้เช่าซื้อจะยึดรถได้เมื่อมีคำสั่งจากศาลเท่านั้น หรือในอังกฤษ หากลูกหนี้ชำระหนี้เช่าซื้อมากกว่า 1 ใน 3 แล้ว เจ้าหนี้จะยึดรถได้จะต้องมีคำสั่งจากศาลเท่านั้น

ในระยะยาว สอดคล้องกับงานวิจัยด้านกฎหมายหลายชิ้นข้างต้น ไทยควรผลักดันให้มี “กฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้เช่าซื้อ” และ “หน่วยงานกลางในการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ” เพื่อให้การกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อเป็นมาตรฐานเดียวกันและช่วยเสริมสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค และในท้ายนี้ การแก้ปัญหาโครงสร้างหนี้ประชาชนยังต้องการมาตรการในมิติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มาตรการสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชน และมาตรการด้านการให้ความรู้ทางการเงินทั้งการบริหารการใช้จ่าย การออม และหนี้ และหากจำเป็นต้องเป็นหนี้ ขอเป็นหนี้ที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หรือช่วยเพิ่มรายได้ของครัวเรือน


ผู้เขียน :
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
ประภัสสร เพ็งน้อย
พันธ์ทิพย์ จันทร์แจ่มแสง
ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

คอลัมน์แจงสี่เบี้ย นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 17 ส.ค. 2564




บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


อ้างอิง:

[1] ทวียศ ศรีเกตุอัคร (2557), สิทธิผู้บริโภคกับธุรกิจลีสซิ่ง, บทความใช้เพื่อการนำออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา รายการเจตนารมณ์กฎหมาย, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, วันออกอากาศ 20 ส.ค. 2557

[2] ขจร ธนะแพสย์ และนภนาง เอกอัคร (2564), ปัญหาติ่งหนี้เช่าซื้อรถ: คำถามที่ยังต้องการ “คำตอบ”, Thaipublica, 31 ก.ค. 2564

[3] ทิพยรัตน์ แก้วน้ำใส และไพฑูรย์ คงสมบูรณ์ (2563), มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภค:ศึกษากรณีสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ใหม่, คณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

[4] อวิการัตน์ นิยมไทย (2552), เหตุใดต้องทำการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม, วารสาร จุลนิติ (วุฒิสภา) ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 มี.ค.-เม.ย. 2552 (พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ของไทยได้รับการยกร่างขึ้นโดยมี Unfair Contract Terms Act 1977 (พ.ศ.2520) ของประเทศอังกฤษเป็นแม่แบบ และในกรณีของสหภาพยุโรปมี Directive on Unfair Terms in Consumer Contracts ในปี 1993 (พ.ศ. 2536) ใช้บังคับกับสัญญาทั่วไปที่ผู้จำหน่ายสินค้าและบริการทำกับผู้บริโภคซึ่งประเทศสมาชิกได้ตรากฎหมายเพื่ออนุวัตรการตาม ส่งผลให้กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปมีกฎหมายควบคุมข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

[5] สิทธิของผู้ใช้บริการทางการเงิน ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) https://www.1213.or.th/th/rightresponsibility/rights/Pages/rights.aspx

[6] ข่าว “ธปท.อุดช่องโหว่เอาเปรียบลูกหนี้ จับมือ สคบ.จ่อยกเครื่องดอกเบี้ยพักหนี้-ค่าทวงถาม”, ไทยรัฐออนไลน์, 4 มิ.ย. 2564

[7] ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 188 ง หน้า 28 ลงวันที่ 13 ส.ค. 2564