​ส่งออกไทย...แข่งอย่างไรจึงก้าวข้ามเรื่องค่าเงิน ? (ตอนที่ 1)

นางสาวพิมพ์อร วัชรประภาพงศ์

ปัจจุบันมีเสียงบ่นจากผู้ส่งออกมากขึ้นว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าเกินไปเมื่อเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่งซึ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกไทยท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทยได้แก่ กลุ่มประเทศยูโร และญี่ปุ่นดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศดังกล่าวอ่อนค่าลง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นคู่แข่งของไทย ได้แก่ มาเลเซีย และอินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันดิบตกต่ำเนื่องจากเป็นผู้ส่งออกพลังงานสุทธิทำให้สูญเสียรายได้จากการส่งออกเป็นจำนวนมาก ตรงข้ามกับไทยที่เป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิสูงสุดในภูมิภาคจึงได้ประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบ สะท้อนผ่านดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนธันวาคม 2557 หรือกล่าวได้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งในปัจจุบันสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานของไทยที่ได้รับผลดีจากรายจ่ายด้านพลังงานที่ลดลงนั่นเอง


ปัญหาค่าเงินบาทแข็งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าตามวัฏจักรของสภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก การทำให้เงินบาทอ่อนค่าคงไม่ใช่ยาวิเศษที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกได้โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของไทยที่ถูกประเทศเพื่อนบ้านทิ้งห่างในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงเนื่องด้วยขาดการลงทุนมาเป็นเวลานานเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยปัจจัยด้านค่าเงิน และที่สำคัญที่สุดคือการแทรกแซงค่าเงินนั้นมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงจึงสามารถทำได้เพียงชะลอการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่อาจฝืนแรงกดดันจากภายนอกได้ในระยะยาว ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นชัดเจนคือกรณีธนาคารกลางสวิสที่พยายามทำให้เงินฟรังก์อ่อนค่าลงแต่สามารถทำได้เพียงไม่นานนัก

มองกลับมาที่ประเทศไทย โจทย์สำคัญที่เราจำเป็นต้องแก้ให้ได้นั่นคือ จะทำอย่างไรให้ภาคการส่งออกของไทยแข่งขันได้โดยก้าวข้ามเรื่องค่าเงิน กล่าวคือผู้ส่งออกสามารถอยู่รอดได้แม้เงินบาทแข็งค่าและมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้ส่งออกที่สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข็งค่าของเงินบาทมีคุณสมบัติสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
1. เป็นกิจการในเครือของบริษัทข้ามชาติ ส่วนใหญ่มักพบในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งปริมาณและราคาส่งออกถูกกำหนดจากบริษัทแม่ ค่าเงินจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการกำหนดคำสั่งซื้อ
2. มีการบริหารรายรับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ส่วนใหญ่พบในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องจักรและชิ้นส่วน และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมีการจับคู่รายรับ รายจ่าย รวมถึงหนี้ต่างประเทศให้อยู่ในสกุลเงินเดียวกัน (Natural Hedge) นอกจากนี้ ผู้ส่งออกบางรายยังปรับตัวด้วยการเร่งหรือชะลอการนำเข้าวัตถุดิบ หรือยืดระยะเวลาการชำระค่าสินค้าออกไปตามทิศทางค่าเงินในขณะนั้น
3. มีการใช้เครื่องมือการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจาก Natural Hedge แล้วผู้ส่งออกยังสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อลดทอนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ ฟอร์เวิร์ดออปชั่นส์ หรือ สวอป ที่แม้จะมีต้นทุนแต่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ จึงสามารถตั้งราคาได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องพะวงกับค่าเงิน ซึ่งพบว่าบริษัทที่มีการบริหารความเสี่ยงด้วยการใช้เครื่องมือดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ของคนไทย อย่างไรก็ตาม บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กยังคงมีการใช้เครื่องมือข้างต้นค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการยังขาดความเข้าใจในการทำธุรกรรม บางรายเผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยง และมีบางส่วนยังคงต้องการแสวงหากำไรจากค่าเงิน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. และธนาคารพาณิชย์ได้ร่วมมือกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจและมีราคาเหมาะสมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ส่งออกหันมาป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น
4. มีการพัฒนาศักยภาพการผลิตให้สินค้ามีคุณภาพ มีความแตกต่าง และมีมูลค่าเพิ่มสูง นอกจากคุณสมบัติข้อ 2 และข้อ 3 ซึ่งผู้ส่งออกไทยสามารถทำได้แล้ว คุณสมบัติสุดท้ายที่เป็นกุญแจสำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้ส่งออกมีความทนทานต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่ยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพการผลิตไปสู่สินค้าที่มีคุณภาพ มีความแตกต่าง และมีมูลค่าเพิ่มสูง เพราะจะช่วยให้ผู้ส่งออกมีความสามารถในการแข่งขันและมีอำนาจต่อรองในตลาดโลก สำหรับแนวทางนี้เราคงต้องยอมรับความจริงว่ามีผู้ส่งออกไทยเพียงไม่กี่รายที่ทำได้สำเร็จ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงนั้นไม่อาจทำได้ง่ายๆ โดยภาคเอกชนเพียงลำพังแต่จำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยการปรับตัวในแนวทางนี้ ซึ่งจะมีประเทศใดบ้าง และมีแนวทางการปรับตัวอย่างไรนั้นท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ในแจงสี่เบี้ยตอนต่อไปค่ะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย