​ความสามารถแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยใน Intra-Asia Trade อยู่ที่ไหน? (2)

​ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
นางพรนิภา สินโพธิ์

ในตอนที่ 1 เรานำเสนอถึงพัฒนาการและบทบาทของการค้าของไทยใน Intra-Asia Trade ที่ เติบโตขึ้นมากในปัจจุบันมีขนาดถึงเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดของไทย มีตลาดหลักสำคัญ คือ จีน ญี่ปุ่น ASEAN-5 และ CLMV และเรายังพบว่าสินค้าที่ ไทยส่งไปขายในตลาดนี้มีความหลากหลายและกระจายไปในแต่ละตลาดค่อนข้างดี ในตอนที่ 2 นี้เราจะมาดูว่าจากข้อมูล Trade Map ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสถิติทางการค้าที่ใช้ในการวิเคราะห์การผลิต การตลาด และ การส่งออก เพื่อวิเคราะห์ถึงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยจากมุมมองของตลาดผู้ซื้อใน 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งวัดจากส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในแต่ละตลาดสินค้า ของแต่ละประเทศ เรานำเสนอในตารางเฉพาะ 10 กลุ่ม สินค้าส่งออกหลัก ผลการศึกษานี้มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ 4 ข้อหลัก คือ

1. ไทยมีจุดแข็งคือสามารถผลิตและส่งออก สินค้าที่หลากหลายมากสมกับที่ได้รับการกล่าวขานว่า เป็น “โรงงานผลิตแห่งเอเชีย” โดยในสินค้าทั้งหมดตามระบบพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System) ซึ่งมี 21 หมวด (Section) แบ่งย่อยเป็น 97 ตอน (Chapter) สินค้าไทยส่งออกไปยังตลาดหลักนี้กระจายเกือบครบทั้ง 97 ตอน (Chapter) สะท้อนถึงความสามารถในการผลิตสินค้าได้หลากหลายของภาคอุตสาหกรรมของไทยซึ่งถือเป็นจุดเด่นของผู้ประกอบการไทย


2. ไทยมีศักยภาพสูงในตลาดการค้าเพื่อนบ้าน CLMV หากเทียบกับตลาด ASEAN-5 จีน และญี่ปุ่น เป็นผลจากปัจจัยความพร้อมทางด้านภูมิศาสตร์จาก การที่ไทยตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย ความพร้อมด้านคมนาคม ด้านวัตถุดิบ ด้านแรงงาน และด้านการสื่อสาร สะท้อนภาพที่ไทยเป็น ”ประตู สู่อาเซียน”

3. ไทยมีศักยภาพการแข่งขันสูงในตลาดเอเชียในสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภท ถ้าใช้เกณฑ์จากมุมมองของตลาดผู้นาเข้าสินค้าไทย พบว่าสินค้ากลุ่มรถยนต์และอุปกรณ์ (คิดเป็นร้อยละ 8 ของการส่งออกไปยังตลาดหลักนี้) มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในลาดับต้นๆ ที่ลำดับ 1-4 ในเกือบทุกตลาด ย้ำชัดถึงการเป็น “Detroit of Asia” สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ TDRI ภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 2 ที่ชี้ให้เห็นว่าไทยมีบทบาทมากขึ้นในเครือข่ายการผลิตในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งเพื่อตลาดในประเทศและส่งออก รวมถึงเพื่อส่งชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังโรงงานผลิตรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในระยะหลังอินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งอยู่ในตลาดกลุ่ม ASEAN-5 ก็ก้าวเข้ามาเป็นแหล่งผลิตรถยนต์สำคัญด้วย โดยในกลุ่มสามประเทศนี้มีการสร้างการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมแบบ Cluster ของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เนื่องจากมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Localization) ในระดับสูงประมาณร้อยละ 80

รองลงมาคือ สินค้ากลุ่มเครื่องจักรคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ซึ่งมีสัดส่วนส่งออกไปตลาดหลักนี้มากสุดร้อยละ 17 แต่มีความสามารถในการแข่งขันด้อยกว่าสินค้ากลุ่มรถยนต์และอุปกรณ์เล็กน้อยในตลาดจีน และ ASEAN-5 แต่ทำได้ดีในลาดับ 1-4 ในตลาด CLMV เนื่องจากตลาด CLMV เริ่มมีบทบาทในกระบวนการผลิตสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของโลก (Global Supply Chain) มากขึ้น มีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม ทำให้เวียดนามนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้น และในระยะหลังเราจึงเห็นเวียดนามส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และไทยยังมีส่วนแบ่งการตลาดในระดับรองลงมาในตลาด ASEAN-5 ญี่ปุ่นและจีน โดยสรุปอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของไทยสามารถอยู่ในห่วงโซ่การผลิตในเอเชีย แต่ยังมีสัดส่วนน้อยประมาณร้อยละ 5-7 นอกจากนี้ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าในหมวดนี้ได้น้อยลงโดยเฉพาะ HDD โดยหากเราดูเฉพาะตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ของกลุ่มสินค้านี้ จะเห็นว่าจีนนำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีระดับเทคโนโลยีสูงในสัดส่วนสูงกว่า เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี ฮ่องกง สหรัฐฯ และเกาหลี ซึ่งอาจสะท้อนว่าไทยเราอาจเสียโอกาสเติบโตในสินค้ากลุ่มนี้ได้ในระยะข้างหน้า

สำหรับสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้าและอุปกรณ์ ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงในลาวและเมียนมาร์ เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดนี้นิยมซื้อสินค้าไทยซึ่งถือว่ามีคุณภาพสูงราคาปานกลางและสูง แต่ได้อันดับแย่กว่าในตลาดอื่นๆ จะเห็นได้ว่ามาเลเซียและสิงคโปร์มีส่วนแบ่งตลาดในสินค้านี้สูงกว่าไทย และจะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย

4. ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ใน Intra-Asia Trade มีสินค้าเกษตรอยู่ 3 กลุ่มคือ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล และอาหารสดแช่แข็ง ติดกลุ่ม 10 อันดับแรกของสินค้าส่งออกไทยไปยังตลาดนี้คิดเป็น 12% และทั้งสามสินค้าไทยครองความเป็นอันดับ 1 และ 2 ในเกือบทุกประเทศ ในปัจจุบันในกรณีของยางพาราไทยซึ่งไทยส่งออกได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก และมีจำนวนของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นทุกปีๆ แต่ปัจจุบันราคายางตกต่ำลงขณะเดียวกันการนำเข้าจากจีนก็ลดลงด้วย ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรผู้ผลิตยางมาก

นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีทิศทางการเติบโตดีและมีตลาดผู้ซื้อค่อนข้างกระจายตัว และจีนเป็นตลาดรายใหญ่ สิ่งที่น่าสังเกต คือ ไทยครองตลาดกลุ่มสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ในลาว และกัมพูชาด้วย เนื่องจากไทยผลิตได้มากกว่าความต้องการใช้ในประเทศ และประเทศในกลุ่ม CLMV ยังไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน ยกเว้นประเทศเวียดนามแต่ยังไม่ทันสมัยนักจึงนำเข้าจากไทย

จากผลการศึกษาข้างต้นนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสร้างรายได้ให้กับประเทศมาหลายทศวรรษ โดยไทยสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลาย มีคุณภาพดีและเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย และยังมีจุดแข็งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญในหลายสินค้า แต่อนาคตข้างหน้าที่กระแสโลกาภิวัตน์มีการเปลี่ยนแปลงทั้งภูมิประชากรศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ความท้าทายข้างหน้าคือไทยจะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไร ที่จะพัฒนาสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันอยู่ได้ งานชิ้นนี้มีนัยทางนโยบายสำคัญ 2 ประเด็นดังนี้ คือ

1) ในด้านสินค้าอุตสาหกรรม ไทยทำได้ดีในแง่ของความสามารถในการผลิตมีความหลากหลายของสินค้า และการสร้างมูลค่าเพิ่มในกระบวนการผลิต แต่ในระยะข้างหน้ายังต้องพัฒนาและยกระดับ ให้สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมในมิติใหม่ (New Industry Characteristics) ที่ซับซ้อนขึ้น เช่น ผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญา (Knowledge based) ความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลกได้ และสร้างความสามารถหลักเฉพาะด้านที่มีขีดความสามารถที่มาจากความเชี่ยวชาญเฉพาะของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ในส่วนนี้คงต้องใช้เวลาเหมือนที่เราได้พัฒนาตนเองมาหลายสิบปีกว่าจะยืนอยู่ได้ในจุดนี้ และการพัฒนาฐานและกระจายความรู้และ ภูมิปัญญาแก่ผู้ประกอบการให้กว้างขวางโดยเฉพาะ SMEs เพื่อให้ประโยชน์จากการส่งออกกระจายไปสู่ผู้ผลิตรายย่อย

2) ในด้านของสินค้าเกษตร ไทยผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่เป็น Raw Materials ซึ่งมีราคาถูก ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถส่งออกผลผลิตเกษตรที่เป็นสินค้ากลางและปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า ซึ่งต้องอาศัยการวางนโยบายด้านการเกษตรอย่างครบวงจร จริงจัง ต่อเนื่อง ทั้งการใช้ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เร่งผลักดันงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ที่ปัจจุบันยังมีอยู่น้อย ให้มากขึ้น การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเกษตรผ่านการจัดโซนนิ่งการเพาะปลูก การประกันภัยด้านการเกษตร รวมทั้งโครงการสินเชื่อชนบท เหมือนเช่นกรณีของประเทศบราซิลที่ได้ทำสำเร็จมาแล้ว

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย