นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์
ฝ่ายนโยบายการเงิน
ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ สำหรับท่านที่สนใจเรื่องเศรษฐกิจคงไม่พลาดที่จะติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งได้จัดการประชุมด้านเศรษฐกิจระดับโลกหรือเวิลด์ อีคอโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum; WEF) โดยปีนี้ตรงกับโอกาสครบรอบ 50 ปีตั้งแต่มีการจัดประชุมนี้ บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอเล่าประเด็นที่น่าสนใจที่มีการกล่าวถึงในการประชุมนี้ให้กับท่านผู้อ่านค่ะ
การประชุม WEF เป็นเวทีระดับโลกที่ผู้นำทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมหารือกันเพื่อกำหนดทิศทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประเด็นอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบกับประชาคมโลก โดยการประชุมในปี 2563 จัดในชื่อ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน” (Stakeholders for Cohesive and Sustainable World)โดยมุ่งเน้นการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน และครอบคลุมทุกมิติของสังคม ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่ WEF ผลักดันคือ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น สำหรับหัวข้อต่าง ๆ ในการประชุมนั้นนอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนแล้ว ยังมีการอภิปรายถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลาง สงครามการค้า ความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยขอสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจดังนี้ค่ะ
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นแรก ๆ ที่มีการกล่าวถึงและเป็นหัวข้อหลักของการประชุม โดยทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาสภาพแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นสอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับโลกในปี 2563 และในอีก 10 ปีข้างหน้าของ WEF ที่ชี้ว่า ความเสี่ยง 5 อันดับแรกของโลกล้วนแต่เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมทั้งหมด อาทิ สภาพอากาศรุนแรง ภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อรักษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยนักลงทุน ภาคธุรกิจรวมถึงภาครัฐต้องปรับตัวและหันมาคำนึงถึงสภาพแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งในการประชุม WEF ได้มีการประกาศแผนการปลูกและฟื้นฟูต้นไม้ 1 ล้านล้านต้นในช่วงปี 2564 ถึง 2573 เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
ประเด็นถัดมา เศรษฐกิจและการเมืองโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางการค้าและการเมือง รวมถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมอย่างระบบทุนนิยมที่มุ่งผลกำไรสูงสุดให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน (Shareholder Capitalism) อาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป โดยแนวทางการดำเนินธุรกิจกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงและหันมาคำนึงถึงทุกภาคส่วนมากขึ้น (Stakeholder Capitalism) ซึ่งในที่นี้ครอบคลุมทั้งตัวธุรกิจ ลูกค้า ผู้รับจ้างผลิตในห่วงโซ่อุปทาน ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับธุรกิจดังกล่าว รวมถึงผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการของธุรกิจนั้น ๆ (Disruption) ในอนาคตภาคธุรกิจและภาครัฐต้องปรับมุมมองให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตระหนักถึงผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และหาทางวัดผลลัพธ์ของการลงทุนในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ
ท้ายสุดเป็นประเด็นความท้าทายที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เครื่องจักรที่สามารถคิดเองได้ (AI) หุ่นยนต์ที่มาแทนที่แรงงานคน และเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นและเข้าถึงคนจำนวนมาก แม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะมีข้อดีมากมาย แต่หากใช้ในทางที่ผิดก็มีผลลบเช่นกัน ดังนั้น ภาคธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เทคโนโลยีโดยคำนึงถึงจริยธรรม ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องมีมาตรการควบคุมหรือกำกับดูแลเทคโนโลยีเหล่านี้ที่เท่าทันและเหมาะสม เพราะความมั่นคงทางไซเบอร์และจริยธรรมจะเป็นเรื่องสำคัญที่มีการถกเถียงในอนาคตอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ในโลกของการทำงานที่เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น คนจำเป็นต้องปรับตัวและฝึกทักษะใหม่ ๆ (Re-skill และ Up-skill) ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนไปของภาคธุรกิจและพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่ง WEF ได้แสดงความตั้งใจในการพัฒนาการศึกษา รวมถึงพัฒนาทักษะทางอาชีพของคน 1 พันล้านคนภายใน 10 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในระยะข้างหน้าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชีวิตของเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นทุกคนต้องพร้อมที่จะปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และควรมองการเปลี่ยนแปลงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในขณะเดียวกันค่ะ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย