ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจคงทราบว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวมาที่ระดับก่อนโควิดแล้วในต้นปี 2566 นี้ จากสื่อต่าง ๆ ที่อ้างถึงข้อมูลแบงก์ชาติ อย่างไรก็ดี หากเราอยากทราบข้อมูลเศรษฐกิจจากแบงก์ชาติโดยตรงจะติดตามได้อย่างไร วันนี้ผมจึงขอชวนทุกท่านมาติดตามข้อมูลเศรษฐกิจไทยไปกับแบงก์ชาติและหน่วยงานอื่น ๆ กันครับ
ตามปกติแล้วข้อมูลเศรษฐกิจจะล่าช้า 1 เดือนเพราะต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลก่อนแถลงข่าวในเดือนถัดมา เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมจะแถลงข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเดือน ม.ค. 66 ในเดือน ก.พ. 66 เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละด้านจะทยอยแถลงข้อมูลออกมา และแบงก์ชาติจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อประมวลให้เห็นภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ก่อนแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจในวันทำการสุดท้ายของทุกเดือน ผ่านทาง Facebook Live และเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดทาง www.bot.or.th
ข้อมูลในการแถลงข่าวเศรษฐกิจรายเดือนมีทั้งที่จัดทำโดยหน่วยงานอื่นและที่แบงก์ชาติจัดทำเอง ข้อมูลสำคัญที่แบงก์ชาติจัดทำ อาทิ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนภาวะการบริโภคภาพรวมของประเทศ เช่น สินค้าคงทน สินค้าอุปโภคบริโภค ปริมาณการใช้น้ำมันและไฟฟ้า รวมถึงการใช้จ่ายในหมวดบริการ หรือข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัด (current account) ซึ่งเป็นมูลค่าสุทธิของการส่งออกนำเข้าทั้งในด้านสินค้าและบริการ โดยแบงก์ชาตินำข้อมูลส่งออกนำเข้าสินค้าจากกรมศุลกากรมาปรับปรุงตามหลักดุลการชำระเงินเพื่อจัดทำเป็นดุลการค้า และนำข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่าย รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ มาจัดทำเป็นดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะรวมกันเป็นดุลบัญชีเดินสะพัดนั่นเอง
จากข้อมูลล่าสุดเดือน ธ.ค. 65 พบว่าดัชนีการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง (ทั้ง Q4/65 ขยายตัว 5.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน) และดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ธ.ค. 65 กลับมาเป็นบวกแล้วที่ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น และรายได้ภาคการท่องเที่ยวในดุลบริการฯ ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ตามการเปิดประเทศของจีน โดยล่าสุดแบงก์ชาติคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 25.5 และ 34 ล้านคน ในปี 66 และ 67 ตามลำดับ
เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนเป็นข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อให้มองภาพเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้ชัดเจนขึ้น แบงก์ชาติจึงได้จัดทำข้อมูลการสำรวจแนวโน้มจากภาคธุรกิจเอกชน ที่สำคัญคือดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Index: BSI) ซึ่งเป็นการสำรวจภาวะเดือนล่าสุดและแนวโน้มใน 3 เดือนข้างหน้าจากธุรกิจประมาณ 500 รายต่อเดือน โดยมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับดัชนี Purchasing Managers' Index (PMI) ในต่างประเทศ เช่น คำสั่งซื้อ การผลิต การจ้างงาน ทั้งนี้ ข้อดีของ BSI คือความเร็ว โดยข้อมูล BSI จะเผยแพร่ในวันทำการแรกของเดือนถัดไปทันที เช่น ข้อมูล BSI เดือน ม.ค. 66 เผยแพร่ในวันที่ 1 ก.พ. 66 ซึ่งดัชนี BSI ใน 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 56.5 เพิ่มขึ้นติดต่อกันมาสามเดือนแล้ว สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นชัดเจนในมุมมองของภาคธุรกิจ
ข้อมูลเงินเฟ้อของไทยเผยแพร่เร็วเช่นกัน โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้จัดทำและเผยแพร่ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนถัดไป เช่น เงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. 66 เผยแพร่เมื่อ 6 ก.พ. 66 โดยอยู่ที่ 5.02% ซึ่งเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องหลังจากผ่านจุดสูงสุดที่ 7.86% ในเดือน ส.ค. 65 และคาดว่าจะกลับสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1–3 % ได้ในปลายปี 66
สำหรับข้อมูลรายไตรมาสที่สำคัญมาก คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ซึ่งมีสภาพัฒน์เป็นผู้จัดทำอย่างเป็นทางการ โดย GDP คือมูลค่าเพิ่มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งใช้เวลาจัดทำนานประมาณหนึ่งเดือนครึ่งหลังจากสิ้นไตรมาส โดยปกติสภาพัฒน์จะเผยแพร่ข้อมูล GDP ของไตรมาสที่ผ่านมาประมาณช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือน (GDP ไตรมาส 4/65 จะเผยแพร่ 17 ก.พ. 66) พร้อมกันนี้ สภาพัฒน์จะเผยแพร่ข้อมูลประมาณการอัตราขยายตัวของ GDP ในปีนี้และปีหน้าด้วย
ประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP นี่เองจะถูกเรียกแบบย่อ ๆ ในข่าวเศรษฐกิจว่า "GDP" ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจแต่ละแห่งจะจัดทำประมาณการ GDP ของตนเองและปรับปรุงตัวเลขเป็นระยะตามข้อมูลใหม่ที่เข้ามา ตัวเลขประมาณการ GDP จึงแตกต่างกันได้ แต่ข้อมูลจริงของ GDP ทางสภาพัฒน์เป็นผู้จัดทำ สำหรับแบงก์ชาติจะเผยแพร่ประมาณการ GDP ใหม่พร้อมกับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งสุดท้ายของแต่ละไตรมาส (ครั้งถัดไปคือ 29 มี.ค. 66) โดย GDP ปี 66 น่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 3.7% ซึ่งคาดไว้เมื่อ พ.ย. 65 ก่อนจีนเปิดประเทศ
แบงก์ชาติได้ติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างรอบด้านและพยายามประมาณการเศรษฐกิจไปข้างหน้าให้ใกล้เคียงมากที่สุด รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลประมาณการ GDP และเงินเฟ้อให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้ปรับตัวและวางแผนในอนาคตได้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทุกท่านจึงควรติดตามข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปครับ
Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้อง และอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง
ผู้เขียน : นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ "ร่วมด้วยช่วยคิด" นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2566