นายบุญฤทธิ์ ผ่องรัศมีโรจน์
ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น การดำเนินนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และการเงินโลกในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ ล่าสุดชัยชนะอันเหนือความคาดหมายของว่าที่ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และนโยบาย ‘Make America Great Again’ ถือเป็นความท้าทายใหม่ สำหรับผู้ดำเนินนโยบายทั่วโลกที่จะต้องเตรียมรับมือเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินโลกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ IMF ทั้งในด้านทิศทางการทำงานของ IMF เองที่อาจได้รับอิทธิพลโดยตรงจากสหรัฐฯ และในด้านมาตรฐานการสอดส่องดูแลและให้คาแนะนำต่อนโยบายของประเทศสมาชิก
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีสัดส่วนสิทธิการออกเสียงสูงที่สุดใน IMF ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ IMF อีกด้วย จึงคงไม่ผิดนักที่จะบอกว่าสหรัฐฯ เป็น ประเทศที่ “เสียงดัง” ที่สุดใน IMF และในการตัดสินใจนโยบายสำคัญของ IMF เช่น การเพิ่มเงินทุนผ่านโควต้าที่เป็นทรัพยากรหลักในการให้กู้ยืมแก่ประเทศสมาชิก จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 85 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด ซึ่งมีสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวที่สามารถที่จะคัดค้านได้ (Veto) เนื่องจากสหรัฐฯ มีสิทธิการออกเสียงสูงกว่าร้อยละ 15
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือเมื่อปี 2553 สภาผู้ว่าการของ IMF ได้เห็นชอบให้แก้ไข Articles of Agreement เพื่อเพิ่มขนาดทรัพยากรทางการเงินที่ใช้ช่วยเหลือประเทศสมาชิกด้วยการเพิ่มจำนวนโควต้า โดยตั้งเป้าให้มีผลภายในปี 2555 อย่างไรก็ตาม สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ไม่สามารถให้สัตยาบันรับรองการดำเนินการดังกล่าวได้จนกระทั่งต้นปี 2559 ส่งผลทำให้กระบวนการล่าช้าไปถึง 4 ปี แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะอ้างถึงความล่าช้าในกระบวนการภายในประเทศ แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าความล่าช้าอาจเป็นเพราะการแก้ไข Articles of Agreement และ เพิ่มโควตาในครั้งนั้น ทำให้สหรัฐฯ เสียประโยชน์ เพราะสิทธิการออกเสียงของสหรัฐฯ ถูกปรับลดลง โดยถูกนำไปเพิ่มให้กับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Economies) จึงเป็นที่น่าสนใจว่า การทบทวนโควตารอบต่อไปของ IMF ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และมีแนวโน้มว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้ เพิ่มสัดส่วนโควต้าและสิทธิออกเสียงจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ให้สะท้อนขนาดเศรษฐกิจของตนที่เติบโตขึ้น ก็อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เท่าที่ควร
ในด้านการทำหน้าที่สอดส่องดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก (Surveillance) IMF จะทำการประเมินภาวะเศรษฐกิจ และให้คำแนะนาด้านนโยบายเศรษฐกิจแก่ประเทศสมาชิกของ IMF ผ่านทางรายงานประจาปี Article IV Consultation ก็มีประเด็นที่จับตา เนื่องจากในปีที่ผ่านมา IMF แนะนำให้สหรัฐฯ ปฏิรูปนโยบายแรงงานต่างด้าว (Immigration Reform) โดยแนะนาให้ มุ่งเน้นการดึงดูดแรงงานต่างด้าวตามทักษะความชำนาญซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด จากการที่สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Population) ทั้งยังแนะนำให้สหรัฐฯ สนับสนุนการทำ Trade Integration โดยมองว่าปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลอดมา คือ การเปิดเสรีทางการค้าและบริการ และ IMF มองว่าข้อตกลง Trans Pacific Partnership (TPP) จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่สหรัฐฯ จากมูลค่าการส่งออกบริการที่จะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า (Protectionism) ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม
อย่างไรก็ดี นโยบายหาเสียงหลักของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูจะสวนทางกับคำแนะนำของ IMF ข้างต้น โดยในประเด็น Immigration นั้น โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงจุดยืนว่าจะปราบปรามและส่งกลับแรงงานผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งจะเพิ่มความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตทำงานแก่แรงงานต่างด้าวยิ่งขึ้น และเพียงไม่นานหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เขาประกาศว่าสิ่งแรกที่จะทำคือหยุดการเจรจา TPP และเจรจาแก้ไข North America Free Trade Agreement (NAFTA) กับแคนาดาและเม็กซิโกให้เอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้ว่าการแก้ไข NAFTA อาจทำได้ยากในทางปฏิบัติ แต่หากมีการเจรจาเกิดขึ้นจริง ก็อาจส่งผลเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่เป็นมิตรต่อประเทศคู่ค้าและเพิ่มความชัดเจนในนโยบาย “America First” รวมไปถึงสิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดประการหนึ่ง คือการหันมาใช้นโยบาย Protectionism มากขึ้น เช่น การประกาศว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสาหรับสินค้าจากจีนและเม็กซิโก เป็นร้อยละ 45 และ 35 ตามลำดับ ซึ่งทรัมป์ได้ส่งสัญญาณผ่าน Twitter ส่วนตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าบริษัท Toyota ควรมาเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ มากกว่าเม็กซิโก หากไม่ต้องการเสียภาษีนำเข้า (Border Tax) ในอัตราสูง
ดังนั้น ในระยะต่อไป IMF น่าจะต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการให้คำแนะนำและโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่จะช่วยรักษาสมดุลและเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม จากความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันกับผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่อาทิ การที่ IMF เคยประเมินไว้เมื่อปี 2558 ว่า ประเทศจีนไม่ได้มีการแทรกแซงเพื่อบิดเบือนค่าเงินหยวน และรับสกุลเงินหยวนเข้าไว้ในตะกร้า SDR ของ IMF แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับเคยประกาศไว้ในช่วงการหาเสียงว่าจะให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (US Treasury) เพิ่มความเข้มงวดในการจับตาการแทรกแซงค่าเงินเพื่อชิงความได้เปรียบทางการค้า (Currency Manipulation) ของประเทศจีน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจมีท่าทีไม่ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มเติมแก่ IMF สาหรับช่วยเหลือประเทศที่ประสบวิกฤต เพื่อรักษางบประมาณไว้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง
แม้ว่าประเทศสมาชิกจะไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายบังคับให้ต้องปฏิบัติตามคาแนะนำของ IMF อย่างเคร่งครัด แต่การที่สหรัฐฯ มีนโยบายขัดแย้งกับคำแนะนาของ IMF อย่างชัดเจนจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ IMF ดังนั้น จึงต้องจับตาดูให้ดีว่าหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และเริ่มดำเนินนโยบายต่าง ๆ ตามที่เคยหาเสียงไว้นั้น IMF จะมีท่าทีต่อสหรัฐฯ อย่างไร กล้าวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจในยุคใหม่ของสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ และจะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจนโยบายของสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด ในท้ายที่สุด ทั้งหมดนี้จะมีผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของ IMF ในสายตาประเทศสมาชิกอื่น และ IMF จะต้องวางตัวเป็นกลางในการให้คำแนะนาและปฏิบัติต่อประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อรักษาความชอบธรรมในการเป็นเสาหลักแห่งระบบการเงินโลก